โต๊ะจีน ตอนที่ 11
ประการที่สอง
การนำเอาอิจมาอ์ครึ่งท่อนไปวางฮุ่ก่ม ซึ่งผมกล่าวตั้งแต่แรกแล้วว่า หลักฐานถูกแต่เอาไปครอบผิด ทำให้บรรดาผู้คนเข้าใจผิดในอิจมาอ์ไปด้วย
ก่อนหน้านี้มีผู้รู้บางท่านเข้ามาสอบถามผมที่หน้าเฟสว่า “นี่ อิจมาอ อาจารย์ไม่เอาหรือ.... อิบนุมุนซิรกล่าวว่า "นักวิชาการต่างมีมติเอกฉันท์ว่า ผู้ใดก็ตามซื้ออาหารมา เขาจะนำอาหารนั้นไปขายต่อไม่ได้ จนกว่าจะได้อาหารนั้นมาอย่างครบถ้วนก่อน และหากเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ซื้อแล้ว ถึงจะนำไปขายได้หรือจัดการใดๆ ได้ เฉกเช่นหลังการครอบครอง" (อัลมุฆนี ของอิบนุกุดามะห์ เล่ม 4 หน้า 83 และอัลมัตตะบะห์ อัซซามิละห์)”
ผมก็ตอบว่า “อาจารย์เป็นคนมีความรู้ อย่าเพิ่งรีบพูดเหมือนอย่างชาวบ้านเขาพูด หลักฐานนั้นไม่ใช่เราจะรู้เพียงคนเดียว คนอื่นเขาก็รู้ แต่ปัญหาว่า รู้แล้วเข้าใจไหม เอามาใช้ถูกกับเรื่องไหม หลักฐานถูกแต่ชี้ผิดหรือป่าว คนมีความรู้ต้องละเอียดรอบคอบในทางวิชาการ ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้มุสลิมกลายเป็นกาเฟรทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะคนปฏิเสธฮะดีษศอเฮียะห์ ปฏิเสธอิจมาอ์ นั้นตกมุรตัดแน่นอน อย่ารีบร้อนยัดเยียดความเป็นกาเฟรให้ผมหรือให้ใครเลย”
ข้อความเหล่านี้ยังปรากกฎอยู่ที่หน้าเฟสของผมในการแสดงความเห็นเรื่อง “โต๊ะจีน ตอนที่ 3” ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะเตือนสติ ย้ำกันไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่ก็เปล่าประโยชน์เลย เพราะนอกจากเขาจะไม่รับฟังกันแล้วยังเดินหน้าวางฮุก่มต่อไปว่า เป็นผู้ที่สวนอิจมาอ์
“อิหม่ามทั้งสี่ยังยอมรับอิจมาอ์ แล้วเอ็งเป็นใครถึงกล้าสวนอิจมาอ์”
นั่นนะซิ....เราอ่านแต่ละคำ เราฟังแต่ละครั้งก็สะดุ้งทุกที เรายิ่งใหญ่มาจากไหนหรือ เราอะเหล่มกว่าอิหม่ามทั้งสี่หรือถึงได้กล้าสวนอิจมาอ์
เปล่าเลย...ไม่ใช่อย่างที่พวกเขากล่าวเลย เราก็ยืนยันว่าใครปฏิเสธฮะดีษศอเฮียะห์ ปฏิเสธอิจมาอ์นั้นตกมุรตัดสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมอย่างแน่นอน
หรือว่าพวกเขาไม่เข้าใจจริงๆ
ไม่น่าเป็นไปได้…ไม่น่าเป็นไปได้....จบตรี จบโท จากเมืองนอกเมืองนา เรียนกันสูงๆ ทั้งนั้นไม่น่าเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจ ทั้งๆที่เราก็เตือนพวกเขาหลายครั้งหลายครา แต่เมื่อพวกเขาไม่ยอมที่จะทบทวนและไม่ยอมที่จะเข้าใจ เราจึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายข้อเท็จจริงทางวิชาการให้พี่น้องที่ติดเรื่อง นี้ได้รับทราบ และเพื่อพี่น้องจะได้รู้และเข้าใจในถ้อยคำของเราที่ว่า “หลักฐานถูกแต่เอาไปครอบผิด” ว่าเขาทำเช่นนั้นจริงๆ มิใช่เป็นการปรักปรำ กล่าวหา หรือใส่ร้ายพวกเขาดังนี้
ถ้อยคำอิจมาอ์ตามที่เขานำมาอ้างนี้ มิได้เป็นการลงมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ บรรดานักวิชาการเขาอิจมาอ์ในหลักการ ไม่ใช่อิจมาอ์ในวิธีการ
ขณะที่ท่านอ่านตำรับตำรานั้น ท่านไม่ได้สักเกตบ้างหรือว่า เกี่ยวกับเรื่องวิธีการนี้บรรดานักวิชาการยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายของคำว่า “อัลก๊อบฏ์” หรือคำว่า “ก๊อบลัลก๊อบฏ์” หรือ “บะอ์ดัลก๊อบฏ์”
หรือไม่ท่านก็ลองไปสำรวจในบทความเรื่อง “อธิบาย ปัญหาของโต๊ะจีน” ซึ่งท่านเขียนเองอีกครั้งว่าประเด็นใดบ้างที่นักวิชาการเขาขัดแย้งกัน แม้ว่าท่านจะพยายามเลี่ยงโดยใช้คำว่า “ขัดแย้งกันเล็กน้อย” ก็ตาม แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า บรรดานักวิชาการมีการขัดแย้งกันจริงๆ
และนี่เป็นที่มาของคำถามแบบงงๆของใครบางคนที่กล่าวว่า “เมื่ออิจมาอ์แล้วทำไมต้องมีข้อโต้แย้งอีก” ซึ่งความจริงคำถามนี้ไม่น่าถามกับเรา แต่น่าถามตัวท่านเองมากกว่าว่า ทำไมถึงไม่ฉุกคิดในเรื่องนี้บ้าง จะได้ไม่ต้องตั้งคำถามแบบงูๆปลาๆ ว่า “แล้วจะขัดแย้งกันทำไมในเมื่อเป็นอิจมาอ์แล้ว”
นั่นนะซิ....เพราะท่านไม่เข้าใจจึงแยกแยะไม่ออก
ถ้าเช่นนั้นเราพูดให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้คือ
“บรรดานักวิชาการเขาเห็นตรงกัน (อิจมาอ์) ในเรื่องหลักการ แต่เขาแย้งกันในเรื่องวิธีการ”
ดังนั้นจึงไม่ใช่เราหรือนักวิชาการคนไหนที่ปฏิเสธอิจมาอ์ แต่เพราะท่านไม่เข้าใจ จึงเอาการอิจมาอ์ในหลักการไปครอบวิธีการ แล้วก็ฟันธงลงฮุก่มอีกว่า “สวนอิจมาอ์” ช่างเป็นการวางฮุก่มที่รุ่มร่ามจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง “อัลค๊อมรุ” ที่คนบ้านเราแปลว่า “เหล้า” เรื่องนี้มีตัวบทหลักฐานชัดเจนว่าเป็นที่ต้องห้ามไม่มีใครขัดแย้ง แต่น้ำในแก้ววางอยู่ข้างหน้าท่านคือ “อัลค๊อมรุ” หรือไม่ อย่างนี้คือสิ่งที่ต้องวินิจฉัย บางคนอาจจะพิจารณาว่าใช่ และบางคนอาจจะพิจารณาว่าไม่ใช่
ถามว่าการที่พวกเขามีมุมมองในการพิจารณาต่างกันนี้ ถือเป็นการปฏิเสธตัวบทหลักฐานไหม ถือเป็นการปฏิเสธอิจมาอ์ไหม และเรากล่าวได้ไหมว่า พวกเขาปฏิเสธว่าเหล้าไม่ฮะรอม ตอบ...ไม่
ถ้าถามว่าเพราะอะไร ตอบ...เพราะนี่คือ ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ
เช่นเดียวกับการอิจมาอ์ในประเด็นที่ท่านนำมาอ้าง ซึ่งเป็นการอิจมาอ์ในหลักการที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับ เราย้ำว่าทุกฝ่ายต่างยอมรับ แต่การจัดโต๊ะจีนเข้าข่ายต้องห้ามตามอิจมาอ์หรือเปล่า นี่คือประเด็นวินิจฉัย อาจจะมีบางคนบอกว่าใช่ และอาจจะมีบางคนบอกว่าไม่ใช่
ถามว่าการที่พวกเขามีมุมมองในการพิจารณาปัญหาต่างกันนี้ถือปฏิเสธตัวบทหลักฐานไหม ถือเป็นการปฏิเสธอิจมาอ์ไหม ตอบ...ไม่
ถ้าถามว่าเพราะอะไร....ตอบ นี่คือ ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “ดอกเบี้ย” เราทุกคนยอมรับว่ามันฮะรอม เพราะมีตัวบทหลักฐานชัดเจนและ เป็นอิจมาอ์ แต่บัตรเครดิตของธนาคารที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นดอกเบี้ยด้วยไหม อย่างนี้คือสิ่งที่ต้องพิจารณา บางคนอาจจะบอกว่า ใช่ และบางคนอาจะตอบว่า ไม่ใช่ (บางคนอาจจะมองเป็นดอกเบี้ย บางคนอาจจะมองเป็นค่าบริการ)
ถามว่าการที่พวกเขามีมุมมองในการพิจารณาต่างกันนี้ถือเป็นการปฏิเสธตัวบท หลักฐานไหม ถือเป็นการปฏิเสธอิจมาอ์ไหม และเรากล่าวได้ไหมว่าพวกเขาปฏิเสธว่าดอกเบี้ยไม่ฮะรอม ตอบ...ไม่
ถ้าถามว่า เพราะอะไร....ตอบ นี่คือ ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ
แล้ว “ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ” คืออะไร
ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ ได้กล่าวว่า
“ซูเราะห์บะรออะห์ (ซูเราะห์อัตเตาบะห์) ถูกเรียกว่า เป็นซูเราะห์แห่งการแฉ เนื่องจากเนื้อหาของซูเราะห์ได้แฉเหล่ามุนาฟีกีน และยังถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซูเราะห์แห่งการชำแหละ และชื่ออื่นๆ แต่อัลกุรอานก็ไม่ได้กล่าวชื่อของมุนาฟีกีนว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่บรรดาผู้คนก็สามารถรู้ได้ว่าคนนั้นคนนี้เป็นมุนาฟีกีนที่ถูกระบุลักษณะ ไว้ ต่างจากบรรดาผู้ศรัทธาที่ได้รับข่าวดีว่าจะเป็นชาวสวรรค์ (มุบัชชะรูนะบิ้ลญันนะห์ ที่ระบุชื่อไว้) จากการแจ้งข่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า อบูบักร์, อุมัร และคนอื่นๆ อยู่ในสวรรค์................การพิจารณาในประเด็นดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่า “ตะกีกุ้ลมะนาฎ” คือการที่หลักฐานทางศาสนาได้ผูกโยงฮุก่มด้วยลักษณะใดๆไว้ แล้วเราก็ทราบความชัดเจนของลักษณะนั้นเป็นการเฉพาะ เช่นศาสนาใช้ให้ตั้งพยานที่มีความเที่ยงธรรมสองคน โดยมิได้เจาะจงว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่เมื่อเราทราบว่า คนนั้นคนนี้เป็นผู้มีความเที่ยงธรรมก็เท่ากับเรามั่นใจได้ว่า ผู้ที่ถูกระบุนั้นเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ถูกแจ้งลักษณะไว้ในอัล กุรอาน ในทำนองเดียวกัน เมื่ออัลลอฮ์ทรงห้ามเหล้าและการพนัน ดังนั้นเมื่อเราทราบว่า เครื่องดื่มที่ผลิตจากข้าวโพดและน้ำผึ้งเป็นเหล้าได้ เราก็มั่นใจได้ว่า เครื่องดื่มนั้นเข้าอยู่ในขอบข่ายของตัวบทที่ห้ามไว้
ฉะนั้นการที่เรามั่นใจผู้ศรัทธาเป็นรายบุคคล หรือมั่นใจต่อผู้ที่เป็นมุนาฟิกเป็นรายบุคคลก็ด้วยวิธีเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นการถอดความจากอัลกุรอาน
ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีผู้ใดล่วงรู้นอกจากอัลลอฮ์ เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้จักผู้ศรัทธาทุกคน และรู้ถึงปริมาณการศรัทธา และรู้ถึงการกลับกลอก และรู้ถึงจุดจบของพวกเขา” มัจมัวอุ้ลฟะวาตาวา หน้าที่ 7439 – 7440
ประเด็น “ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ” ที่น่าสนใจจากการชี้แนะของ ชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ คือ
1 – ข้อบัญญัติศาสนาไม่ได้ระบุถึงเรื่องนั้นไว้ตรงตัว แต่แจ้งถึงลักษณะของเรื่องนั้นไว้
2 – การที่เราจะรู้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดก็ด้วยกับการวินิจฉัย คือเอาลักษณะที่ปรากฏไปเปรียบกับลักษณะที่ตัวบทบอกไว้
3 – ข้อฮุก่มของเรื่องนั้นๆมิได้เกิดจากตัวบทหรือหลักฐานตรงตัว แต่มันคือ “ตะวีลุ้ลกุรอาน” หรือการถอดความจากตัวบทหลักฐานนั่นเอง
ความจริงแล้วตำราที่เกี่ยวกับ “ตะกีกุ้ลมะนาฏ” นี้มีอยู่มากมาย แต่ที่เราหยิบเอาคำอธิบายของ “อิบนุตัยมียะห์” มาแสดง ก็เนื่องจากบุคคลผู้นี้เป็นที่ยอมรับระหว่างเราและท่าน ซึ่งเราจะเห็นว่าผู้ที่เป็นอุลามาอ์จริงๆ นั้นเขาจะมีความละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่สุกเอาเผากิน
เราลองพิจารณาอีกสักตัวอย่างหนึ่งก็ได้คือ น้ำหมัก หรือที่คนบ้านเรารู้จักในชื่อ “น้ำป้าเช็ง”
ก่อนอื่นเรายึดหลักฐานไว้ให้มั่นก่อนว่า น้ำเมานั้นฮะรอม ซึ่งมีตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและฮะดีษอย่างมากมาย เช่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “เครื่องดื่มทุกชนิดที่ทำให้เมาถือว่าฮะรอม” บันทึกโดยบุคอรี ฮะดีษเลขที่ 5158
และเรื่องนี้ถือเป็นอิจมาอ์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง
แต่กรณีของน้ำหมัก หรือน้ำป้าเช็งนี้ ไม่ได้ถูกระบุชื่อไว้โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่เราต้องวินิจฉัยในตัวของมัน โดยนำเอาลักษณะของมันไปเทียบกับลักษณะของข้อห้ามที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน และฮะดีษคือ “เมาหรือไม” เพื่อที่จะได้ทราบว่าฮุก่มของมันคืออะไร
บางท่านอาจจะรีบร้อนตอบว่า มันฮะรอม
ใจเย็นๆ อย่าวู่วาม อย่ารีบร้อน ริจะเป็นมุจตะฮิดต้องละเอียดรอบคอบ อย่าฟัตวาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
หากเราถามว่า ฮะรอมเพราะอะไร ฮะรอมเพราะหมัก หรือฮะรอมเพราะเมา
ถ้าตอบว่า ฮะรอมเพราะหมัก ถ้าเช่นนั้นแล้ว ของหมักของดองทั้งหลายก็อยู่ในฮุก่มฮะรอมทั้งหมด และประเด็นนี้ต้องยืนยันด้วยตัวบทหลักฐาน
ถ้าฮะรอมเพราะเมา นี่คือคำตอบที่เอาลักษณะของมันไปเปรียบกับลักษณะที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอาน และฮะดีษ แต่ก็เป็นคำตอบที่ยังไม่รอบคอบพอ
หากเราถามว่า มันฮะรอมเพราะเมา ถ้าเช่นนั้นของหมักที่ไม่เมาถือว่าฮะล้าลใช่ไหม เพราะท่านนบีเองก็เคยดื่มน้ำหมักด้วยอินผลัม มีรสหวาน เรียกว่า “นะบีส” ดังคำรายงานในฮะดีษศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2319
เพราะฉะนั้นถ้าหมักแล้วไม่เมามันคือฮะล้าล นี่คือสภาพของน้ำหมักในระยะแรกที่ยังคงฮะล้าล แต่ถ้าเข้าสู่ระยะเมา อันนี้ถือเป็นที่ต้องห้ามแน่นอน ดังตัวบทหลักที่กล่าวแล้วข้างต้น และถ้าหมักเลยระยะเมาก็กลับมาสู่สภาพฮะล้าลอีก และของหมักบางชนิด เช่นกล้วย เมื่อเข้าสู่ระยะพ้นสภาพเมาแล้วจะกลายเป็นน้ำส้ม ซึ่งถือว่าฮะล้าล
อย่างนี้แหละคือ “ตะกีกุ้ลมะนาฎ” ที่เขาไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดการเอาของถูกไปครอบผิด และลงฮุก่มผิด
ขณะเดียวกัน มุมมองของปัญหาที่ต่างกันในกรณีของ “ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ” นั้นก็ไม่สามารถที่จะโจมตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าหลงผิด
เชคซอและห์ อิบนุ อับดิลอะซีซ อาล์เชค ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า
“เมื่อเป็นประเด็นทางวิชาการ ถึงแม้จะเกี่ยวโยงกับเรื่อง “อะกีดะห์” หรือกรณีเฉพาะเรื่องหนี่งเรื่องใดที่บรรดาผู้คนได้ขัดแย้งกัน โดยที่คนกลุ่มหนึ่งพิจารณาด้านหนึ่ง และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็พิจารณาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผู้ที่วินิจฉัย “มุจตะฮิด” แต่ละคนนั้นต่างก็อยู่ในความดี (อินชาอัลลอฮ์) แต่เมื่อมันเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็ไม่สมควรเลยที่จะให้ข้อหาว่าหลงผิดซึ่งกันและกัน เมื่อเรื่องนั้นมันไม่ได้ค้านกับหลักฐาน (ที่ชัดเจน) หรือผลของการตีแผ่ข้อเท็จจริงมันใกล้เคียงมิใช่ไกลสุดโต่ง จึงไม่เป็นการสมควรที่จะกล่าวหาว่าคนหนึ่งคนใดหลงผิด เพราะผลของมันนั้นนำไปสู่การฟิตนะห์ซึ่งกันและกัน.....”
http://www.ahlelhadith.com/vb/showthread.php?t=5867
ข้อมูลเกี่ยวกับ “ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ” ยังมีอีกเยอะแต่ที่นำมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปนี้คงสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านได้แล้ว
คำกล่าวของเชคซอและห์ในเรื่องนี้น่าสนใจและน่าติดตามมาก แต่ไม่ไหวแปล แต่ถ้าใครจะอาสาแปลต่อก็ยินดี เราก๊อปลิงค์ไว้ให้ข้างต้นแล้ว และเหตุที่เรากล่าวว่าข้อความของเชคซอและห์น่าติดตามและน่าสนใจก็เพราะคำว่า ถึงแม้จะเกี่ยวโยงกับเรื่อง "อะกีดะห์" แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องโต๊ะจีนที่ลงฮุก่มกันหรือต้องฟันกันให้ตายไปข้าง หนึ่ง
อีกประการหนึ่ง ท่านเชคซอและห์พูดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตรงเผงประหนึ่งว่า ท่านได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ความขัดแย้งกับเรา มีการคิดเอง เออเอง ทึกทักเอง และคิดแทนคนอื่นเสียอีก แล้วฮุก่มกันเละเทะไปแล้วจริงๆ
ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เราเองก็พยามชี้แนะและตักเตือนท่านไม่รู้ครั้งกี่หน ให้พิจารณาทบทวน ให้ละเอียดรอบคอบ เพราะการออกฟัตวาแบบโครมครามไม่รอบคอบนั้น มีแต่จะสร้างความเสียหาย เพราะไม่ใช่ท่านคนเดียวที่เข้าใจผิดในเรื่องอิจมาอ์แล้วนำไปฮุก่มคนอื่นว่า “สวนอิจมาอ์” แต่ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานเขาต้องเข้าใจผิดและรับข้อมูลผิดๆไปด้วย ทำให้เกิดความโกลาหลในสังคมดั่งเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้
และก่อนที่เราจะก้าวไปสู่การทำความเข้าใจหลักฐานจากอัลกุรอานและฮะดีษที่นำ มาอ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนต่อไปนั้นต้องขอสรุป ข้อเขียนที่ผ่านมาสักเล็กน้อยก่อนดังนี้คือ
1 – มูลเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากผู้วินิจฉัยได้ละเลยเพิกเฉยต่อ “ซุนนะตุ้สสะลัฟ” หรือแบบอย่างของชาวสะลัฟในการวินิจฉัยปัญหา ดั่งคำเตือนของเชคซอและห์ อิบนุ อับดิลอะซีซ ตามที่ได้กล่าวแล้วในตอนที่ 10
2 – จากมูลเหตุข้อที่หนึ่งนั้น นำไปสู่การเข้าใจผิดต่อปัญหา คือการมองปัญหาไม่ถี่ถ้วนและรอบด้าน
3 – นำไปสู่การเข้าใจผิดในหลักฐาน แล้วนำเอาอิจมาอ์ ไปครอบผิด และออกฮุก่มผิด
4 – นำไปสู่การใช้หลักกิยาสอย่างผิดพลาด เช่นในเรื่อง “ศิก๊าก” ตามที่เราได้อธิบายไว้ในตอนที่ 4
5 - แปลอิจมาอ์คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ ตามที่กล่าวแล้วในตอนที่ 10
6 – นอกจากตัวเองจะเข้าใจหลักฐานผิด และใช้หลักฐานอ้างอิงอย่างผิดประเด็นแล้ว ยังทำให้คนอื่นเข้าใจในตัวบทหลักฐานผิดไปด้วย และนำไปสู่การฟิตนะห์ดั่งที่เชคซอและห์ได้กล่าวเตือนไว้
ข้อเสนอแนะของเราคือ หากท่านประกาศตนว่าเป็นผู้ที่ยึดแนวทางของชาวสะลัฟ เราขอให้ท่านถอยกลับไปตั้งหลักแล้วเริ่มต้นใหม่ตามวิถีทางของชาวสะลัฟอย่าง จริงจัง
الرجوع الى الحق خير من التمادي في الباطل
การกลับสู่ความจริงดีกว่าการดื้อดึงในความเท็จ
อ้อ..ขอเตือนอีกนิดคือ...ฟัตวาของเชคบินบาซที่เอามาแสดงไม่เกี่ยวกับโต๊ะจีนเลยแม้แต่น้อย อ้างผิดเรื่องอีกละ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=332603906940963&id=100005740689770