โต๊ะจีน ตอนที่ 2


ปกติผมเป็นคนคุยช้าไม่รีบร้อน โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องแสดงข้อมูลทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้ติดตามในทุกระดับ และหากข้อเขียนของผมไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ทุกท่านสามารถท้วงติง หรือคัดค้านได้

การท้วงติงหรือคัดค้านทางวิชาการนี้ ผู้อ่านสามารถแลเห็นได้

หากผู้คัดค้านเป็นนักวิชาการเขาจะโต้แย้งด้วยมารยาททางวิชาการที่งดงาม แสดงถึงภูมิรู้ที่บ่มเพาะจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่ประกาศตนว่ายึดถือแนวทางของชาวสะลัฟ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง

แต่การบิดเบือนนั้น ไม่ใช่วิสัยของผู้รู้ แต่มันคือการประจานตัวเองให้ผู้อื่นได้แลเห็น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจและไม่ใช่วิธีของสะละฟุสศอและห์

ข้อเขียนของผมในตอนที่ 1 ได้แสดงเจตนารมณ์ตามข้อความที่ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่มีผู้นำไปบิดเบือนวัตถุประสงค์ของเนื้อหาโดยกล่าวว่า “เอาชาวโลกมาวัด ว่าทำได้ทำไม่ได้” ทั้งๆที่ไม่มีข้อความส่วนใดเลยที่ชี้นำให้เข้าใจเช่นนั้น ลองทวนความกันอีกสักครั้งดังนี้

“เป็นเรื่องแปลกที่การจัดงานในรูปแบบดังกล่าวนี้ มิใช่เป็นการจัดครั้งแรกของโลก หรือเป็นครั้งแรกของเมืองไทย หรือเป็นครั้งแรกในแวดวงของชาวซุนนะห์ แต่การจัดงานในลักษณะนี้มีมานับครั้งไม่ถ้วน และโรงเรียนอนุรักษ์ฯ เองก็เคยจัดงานในรูปแบบนี้มาสองครั้งแล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3
ขณะที่บัญญัติของศาสนาได้ถูกประทานมาเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว มิใช่เพิ่งจะถูกประทานลงมาเมื่อวาน จนทำให้เราในวันนี้ต้องออกอาการมึนงงว่า ฮาล้าลหรืออะไรฮะรอม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัญญัติของศาสนานั้น มีผลบังคับใช้แก่มุสลิมทุกหมู่เหล่า ที่เราต่างก็อยู่ในข้อบัญญัติเดียวกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราหรือพวกเขา, สถาบันหรือองค์กรใด แต่ดูเหมือนปัญหาและข้อฮุก่มนี้จะพุ่งเป้ามาที่เราโดยตรงเป็นการเฉพาะ แต่เรายืนยันว่า ข้อบัญญัติเกี่ยวกับฮะล้าลและฮะรอมมีผลบังคับใช้กับมุสลิมทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด”

อ่านข้อความที่นำมาแสดงข้างต้นนี้ให้ครบถ้วนและให้เข้าใจ เราไม่ได้ใช้ภาษาต่างด้าวให้ใครมึนงง หรือต้องไปตีความกันเอง ไม่ใช่วัตถุประสงค์และเป้าหมายจากข้อเขียนของเราสักนิดที่เอาคนทั้งโลกมาวัดความถูกต้อง เราไม่เคยสอนและไม่เคยเรียกร้องเช่นนั้น

อะไรที่เป็นความถูกต้องแม้คนทั้งโลกจะไม่ยอมรับ มันก็ยังเป็นความถูกต้องเสมอ ในทางตรงกันข้าม อะไรที่เป็นความผิดแม้คนทั้งโลกจะให้การยอมรับ มันก็เป็นสัจธรรมไปไม่ได้ และเราก็ไม่เคยเรียกร้องให้ยึดติดผูกขาดอยู่กับคนใดหรือองค์กรใด นอกจากถ้อยคำที่เราย้ำเสมอว่า “กิตาบุ้ลลอฮ์และซุนนะห์บนพื้นฐานความเข้าใจของศอฮาบะห์”

พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

أَمْ لَهُمْ شُرَكآؤُا شَرَعُوا لَهُم مِّنَ الدِيْنِ مَالَمْ يَأْذَن بِهِ اللهُ

“หรือว่าพวกเขามีหุ้นส่วนในการกำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์มิได้ทรงอนุมัติ” ซูเราะห์อัชชูรอ อายะห์ที่ 21

แล้วจะบิดคำบิดความของเราเพื่อการใดเล่า เราไม่อาจทราบได้

ก่อนหน้านี้ เราได้เรียกร้องให้ผู้ที่ถูกเรียกว่า ผู้รู้ ครู อาจารย์ ได้นำเสนอตัวบทหลักฐาน และข้ออ้างอิงทางวิชาการด้วยตัวเอง มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของคนทั่วไปแบบสะเปะสะปะ ยิ่งจะสร้างความสับสนให้แก่สังคมมากยิ่งขึ้น

เหตุที่เราเรียกร้องแก่ผู้ที่ถูกเรียกว่า ผู้รู้ ครูอาจารย์ดังข้อความข้างต้นนี้ เนื่องจาก ผู้รู้นั้นเขาไม่ได้รู้เพียงตัวบทอย่างเดียว แต่เขายังเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตัวบทที่แสดง

ฉะนั้นการรู้หลักฐานแต่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของหลักฐานจึงเป็นอันตรายที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดในบทบัญญัติได้ ขณะเดียวกัน การรู้ปัญหาแต่ไม่เข้าใจปัญหาหรือมองปัญหาไม่รอบด้านก็จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้เช่นเดียวกัน

แต่คำเรียกร้องของเราอาจจะต้องใช้เวลาสักนิด และเราจึงได้ถือโอกาสนี้อธิบายความถึงพื้นฐานไปเรื่อยๆ คงต้องใช้เวลาคุยกันอีกครั้งหลายตอนเป็นแน่แท้

พื้นฐานของหลักนิติศาสตร์อิสลามมีดังนี้

الأصل فى العادات الإباحة

“พื้นฐานของกิจทั่วไปคือการอนุมัติ”

الأصل فى العبادات التحريم

“พื้นฐานของอิบาดะห์ทั้งหลายคือการห้าม”

เรื่องนี้ผมเขียนอธิบายไว้เมื่อสัก 5 – 6 ปีที่แล้ว ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์บทความด้านล่างนี้

http://www.fareedfendy.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=192

เรื่องการจัดงานในรูปแบบโต๊ะจีนนี้คงไม่ต้องไปดูหลักฐานใช้ว่าให้ทำอย่างไร แต่ต้องไปดูว่ามีหลักฐานห้ามไหม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือวิธีการ ให้พิจารณาว่ามีประเด็นใดเข้าข่ายในข้อห้ามของศาสนาบ้าง

หากท่านถามว่า ทำไมต้องพิจารณา เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานระบุโดยตรงหรือ ก็ต้องตอบว่า ใช่ครับ ไม่มีหลักฐานระบุโดยตรง อย่าว่าแต่การจัดงานในรูปแบบโต๊ะจีนเลย แม้แต่การจัดงานในรูปแบบขายอาหารขายคูปองที่ทำกันอยู่ดาษดื่นก็ไม่มีหลักฐานระบุโดยตรงเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการอิจติฮาด หมายถึงการวินิจฉัยเป็นสำคัญ คือวินิจฉัยทำความเข้าใจในปัญหา และวินิจฉัยทำความเข้าใจตัวบทหลักฐาน แล้วใครจะเป็นผู้วินิจฉัย(มุจตะฮิด) เล่า

บอกตามตรงว่า เราไม่บังอาจที่จะตั้งตนเป็นผู้วินิจฉัยหลักฐานด้วยตัวของเราเอง คงต้องอาศัยบรรดานักวิชาการว่าพวกเขามีความเข้าใจในตัวบทหลักฐานนั้นอย่างไร วัตถุประสงค์และเป้าหมายของตัวบทเป็นเช่นใด และสิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือ การนำเอาผลการวินิจฉัยของบรรดานักวิชาการมาอ้างอิงนี้จะเกี่ยวข้องหรือตรงกับเรื่อง ตรงกับประเด็นที่เรานำมาใช้อ้างไหมคือสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

ส่วนการวินิจฉัยในตัวปัญหา (การจัดงานรูปแบบโต๊ะจีน) นั้น แน่นอนว่า บรรดานักวิชาการในอดีตมิเคยวินิจฉัยในปัญหานี้โดยตรงไว้ก่อน ถ้าเช่นนั้นใครจะเป็นผู้วินิจฉัยปัญหานี้เล่า

ผมเห็นใครต่อใครอาสาทำหน้าที่นี้กันหลายคน และแน่นอนว่า มุมมองของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป และนี่คือมูลเหตุของการมองปัญหาต่างกัน ผลลัพธ์ต่างกัน

แต่ผลของการวินิจฉัยของผู้ใดจะมีนำหนัก น่าเชื่อถือมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับสองกรณีที่กล่าวแล้วข้างต้น

วันนี้พักแค่นี้ก่อนครับ มีเวลาจะแวะมาคุยต่อ อินชาอัลลอฮ์