โต๊ะจีน ตอนที่ 20


น่าเห็นใจอยู่หรอกที่ผู้รู้ของเราไม่รู้จัก “ตะฮ์กีกุลมะนาฏ” คิดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดโต๊ะจีน แล้วก็บอกว่าท่านและหรือคณะของท่านไม่ได้เขียนเรื่องนี้ในบทความ แล้วท่านก็บ่นในเรื่องไม่เป็นเรื่องซึ่งเราเห็นว่าไร้สาระไม่ใช่วิชาการจึง ไม่จำเป็นต้องตอบโต้

ความจริงแล้วเราไม่ต้องการคาดคั้นให้ใครต้องอับอาย แต่ที่เราต้องย้ำเรื่องนี้ก็เพื่อที่จะเตือนสติให้ท่านได้คิดทบทวนและแก้ไข ในการเอา อิจมาอ์ ไปฮุก่มฟันธงเรื่องโต๊ะจีน แล้วยัดเยียดข้อหาว่าคนจัดโต๊ะจีนคือคนที่สวนอิจมาอ์ นี่เท่ากับท่านกำลังตัดสินผู้อื่นว่าปฏิเสธอิจมาอ์ มันคือการ “ตักฟีร” หรือการให้ข้อหากาเฟรเชียวนะท่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส

ทั้งๆที่ท่านก็รู้ว่าการจัดโต๊ะจีนเป็นเรื่องอิจติฮาด (วินิจฉัย) และท่านก็พูดเองว่า เป็นเรื่องที่ยังคิลาฟกันอยู่ เราถึงบอกว่า คำพูดของท่านนั้นเท่าก็ฆ่าตัวตาย เพราะถ้าท่านยอมรับว่ามันเป็นเรื่องคิลาฟแล้วใยจึงฟันธงลงฮุก่มกันอย่าง รุ่มร่าม

เราได้เคยชี้ประเด็นให้เห็นจากการกระทำของท่านและคณะในการเอาอิจมาอ์ไปฮุก่ม เรื่องโต๊ะจีนว่า ในทางวิชาการแล้วคือ กรณีของตะฮีกุ้ลมะนาฏ ซึ่งคนที่อาสาทำหน้าที่เป็นมุจตะฮิดนั้น ถ้าไม่รู้จัก ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฎ ก็ไม่น่าอาจหาญอาสาฟัตวาเรื่องใดๆ เพราะมันจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา เนื่องจาก ตะฮ์กีกุ้ลมะนาต คือวิธีการในการวินิจฉัยปัญาหาโดยเอาลักษณะของปัญหาในแง่มุมต่างๆ ไปเทียบกับตัวบทที่แจ้งลักษณะไว้ เพื่อที่จะให้ทราบฮุก่มของมันว่าเป็นอย่างไร

ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ ชี้ให้เห็นกรณีของตะฮ์กีกุ้ลมะนาตว่า

“ซูเราะห์บะรออะห์ (ซูเราะห์อัตเตาบะห์) ถูกเรียกว่า เป็นซูเราะห์แห่งการแฉ เนื่องจากเนื้อหาของซูเราะห์ได้แฉเหล่ามุนาฟีกีน และยังถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซูเราะห์แห่งการชำแหละ และชื่ออื่นๆ แต่อัลกุรอานก็ไม่ได้กล่าวชื่อของมุนาฟีกีนว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่บรรดาผู้คนก็สามารถรู้ได้ว่าคนนั้นคนนี้เป็นมุนาฟีกีนที่ถูกระบุลักษณะ ไว้ ต่างจากบรรดาผู้ศรัทธาที่ได้รับข่าวดีว่าจะเป็นชาวสวรรค์ (มุบัชชะรูนะบิ้ลญันนะห์ ที่ระบุชื่อไว้) จากการแจ้งข่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า อบูบักร์, อุมัร และคนอื่นๆ อยู่ในสวรรค์................การพิจารณาในประเด็นดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่า “ตะกีกุ้ลมะนาฎ” คือการที่หลักฐานทางศาสนาได้ผูกโยงฮุก่มด้วยลักษณะใดๆไว้ แล้วเราก็ทราบความชัดเจนของลักษณะนั้นเป็นการเฉพาะ เช่นศาสนาใช้ให้ตั้งพยานที่มีความเที่ยงธรรมสองคน โดยมิได้เจาะจงว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่เมื่อเราทราบว่า คนนั้นคนนี้เป็นผู้มีความเที่ยงธรรมก็เท่ากับเรามั่นใจได้ว่า ผู้ที่ถูกระบุนั้นเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ถูกแจ้งลักษณะไว้ในอัล กุรอาน ในทำนองเดียวกัน เมื่ออัลลอฮ์ทรงห้ามเหล้าและการพนัน ดังนั้นเมื่อเราทราบว่า เครื่องดื่มที่ผลิตจากข้าวโพดและน้ำผึ้งเป็นเหล้าได้ เราก็มั่นใจได้ว่า เครื่องดื่มนั้นเข้าอยู่ในขอบข่ายของตัวบทที่ห้ามไว้
ฉะนั้นการที่เรามั่นใจผู้ศรัทธาเป็นรายบุคคล หรือมั่นใจต่อผู้ที่เป็นมุนาฟิกเป็นรายบุคคลก็ด้วยวิธีเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นการถอดความจากอัลกุรอาน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีผู้ใดล่วงรู้นอกจากอัลลอฮ์ เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้จักผู้ศรัทธาทุกคน และรู้ถึงปริมาณการศรัทธา และรู้ถึงการกลับกลอก และรู้ถึงจุดจบของพวกเขา” มัจมัวอุ้ลฟะวาตาวา หน้าที่ 7439 – 7440

ฉะนั้นการที่ท่านเอาอิจมาอ์ไปฟันธงลงฮุก่มนั้น เราจึงถามย้ำกับท่านว่า ท่านเอาแง่ไหนของปัญหาโต๊ะจีนไปเทียบกับอิจมาอ์ เพราะในตัวบทของอิจมาอ์นั้นมีทั้งห้ามและอนุญาต

ห้ามคือ “ผู้ใดซื้ออาหารมาเขาจะนำอาหารนั้นไปขายต่อไม่ได้ จนกว่าจะได้รับมันครบถ้วนเสียก่อน”

อนุญาตคือ “และหากได้เข้ามาสู่ความรับผิดชอบของผู้ซื้อ ก็อุญาตแก่เขาในการขายมัน(อาหาร) และทำการจัดการใดๆกับมัน(อาหาร) เช่นเดียวกับหลังจากการครอบครอง”

แต่ท่านก็เผอเรอ หยิบเอาอิจมาอ์ครึ่งท่อนคือเอาเฉพาะในประเด็นที่ห้ามไปออกฮุก่มฟันธงกัน อย่างเมามัน โดยไม่คำนึงถึงอิจมาอ์อีกครึ่งท่อนที่อนุญาต นี่คือการทุจริตทางวิชาการที่ไม่น่าให้อภัย

และการเอาอิจมาอ์มาลงฮุก่มโต๊ะจีนนี้ คือกรณีของตะฮ์กีกุ้ลมะนาต ซึ่งไม่สามารถที่จะเอาไปตัดสินว่าใครหลงผิด หรือออกนอกทางได้ ดั่งที่เชคซอและห์ อับดิลอะซีซ อาล์เชค ได้ชี้แจงไว้ดังนี้

“เมื่อเป็นประเด็นทางวิชาการ ถึงแม้จะเกี่ยวโยงกับเรื่อง “อะกีดะห์” หรือกรณีเฉพาะเรื่องหนี่งเรื่องใดที่บรรดาผู้คนได้ขัดแย้งกัน โดยที่คนกลุ่มหนึ่งพิจารณาด้านหนึ่ง และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็พิจารณาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผู้ที่วินิจฉัย “มุจตะฮิด” แต่ละคนนั้นต่างก็อยู่ในความดี (อินชาอัลลอฮ์) แต่เมื่อมันเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็ไม่สมควรเลยที่จะให้ข้อหาว่าหลงผิดซึ่งกันและกัน เมื่อเรื่องนั้นมันไม่ได้ค้านกับหลักฐาน (ที่ชัดเจน) หรือผลของการตีแผ่ข้อเท็จจริงมันใกล้เคียงมิใช่ไกลสุดโต่ง จึงไม่เป็นการสมควรที่จะกล่าวหาว่าคนหนึ่งคนใดหลงผิด เพราะผลของมันนั้นนำไปสู่การฟิตนะห์ซึ่งกันและกัน.....”

http://www.ahlelhadith.com/vb/showthread.php?t=5867

แม้นักวิชาการจะชี้ให้เห็นว่าประเด็นของการอิจติฮาดนี้ไม่สามารถที่จะเอา เป็นเอาตาย ตัดสินฟาดฟันกันว่าใครผิดใครหลง ถึงแม้จะเป็นแง่มุมของอะกีดะห์หากอยู่ในกรณีของการวินิจฉัย แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องโต๊ะจีนที่ท่านวินิจฉัยกันเอาเอง ท่านและคณะของท่านไม่ได้ใส่ใจคำชี้แนะของอุลามาอ์เลย ยังดึงดัน และไม่ละเลิกความพยามยามที่จะทำให้เราตกเป็นจำเลยของสังคม ช่างน่าอับอายยิ่งนัก

บทสรุปของเราก็คือ ท่านเอาอิจมาอ์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางศาสนา มาสนองความต้องการของตัวเองอย่างไร้จรรยาบรรณของนักวิชาการ โดยไม่พิจารณาหลักฐานและปัญหาให้รอบคอบตามกระบวนการวิชาการ สิ่งที่ท่านทำนี้คือการบิดเบือนวัตถุประสงค์และเป้าหมายของหลักฐาน ซึ่งเป็นความผิดใหญ่หลวงนัก

เราเขียนเรื่องนี้เพื่อทักท้วงท่านในบทความตอนที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 22 และ 24 กุมภาพันธ์ 58 ซึ่งเราทิ้งเวลาไว้เป็นกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว แต่เรายังไม่ได้รับคำชี้แจงทางวิชาการอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ ดังนั้นเราจะละประเด็นนี้ไว้ นอกจากท่านจะชี้แจงทางวิชาการ แล้วเราจะได้มาคุยกันในประเด็นนี้ต่อ

และในช่วงเวลานี้เราจะเขียนชี้แจงถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของฮะดีษที่ ท่านและคณะนำมาอ้าง เช่น ห้ามซื้อขายอาหารที่ยังไม่ได้ครอบครอง เราจะชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์และเป้าหมายของข้อห้ามคืออะไร เพราะการจะฮุก่มใดๆ ไม่ใช่รู้แค่เพียงหลักฐานเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของหลักฐานด้วย มิเช่นนั้นแล้วมันก็จะพลาดเหมือนดั่งที่ท่านและคณะได้พลาดอยู่ในขณะนี้

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=334876520047035&id=100005740689770