โต๊ะจีน ตอนที่ 4


หลังจากที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า มีการยกหลักฐานสวมตอ และยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียดเนื่องจากเวลาของผมมีจำกัด แต่มีพี่น้องหลายท่านเร่งรีบอยากทราบข้อเท็จจริงโทรถามไม่ขาดสาย จึงต้องเจียดเวลามาอธิบายให้ก่อน

หนึ่งในฮะดีษที่นำมาอ้างแล้วฟันธงลงฮุก่มกันนี้คือ ฮะดีษเรื่อง “ศิก๊าก” จากคำรายงานในศอเฮียะห์มุสลิม ตัวบทมีดังนี้

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ أَنَّهُ قَالَ لِمَرْوَانَ أَحْلَلْتَ بَيْعَ الرِّبَا فَقَالَ مَرْوَانُ مَا فَعَلْتُ فَقَالَ أَبُو هُرَيْرَةَ أَحْلَلْتَ بَيْعَ الصِّكَاكِ وَقَدْ نَهَى رَسُولُ اللَّهِ عَنْ بَيْعِ الطَّعَامِ حَتَّى يُسْتَوْفَى قَالَ فَخَطَبَ مَرْوَانُ النَّاسَ فَنَهَى عَنْ بَيْعِهَا قَالَ سُلَيْمَانُ فَنَظَرْتُ إِلَى حَرَسٍ يَأْخُذُونَهَا مِنْ أَيْدِي النَّاسِ

สุไลมาน บิน ยะซาร รายงานว่า อบูฮุรอยเราะห์ได้กล่าวแก่มัรวานว่า ท่านอนุมัติการขายที่มีดอกเบี้ยหรือ มัรวานตอบว่า ฉันไม่ได้ทำ อบูฮุรอยเราะห์จึงกล่าวว่า ท่านอนุมัติให้ขายตั๋วเงิน แท้จริงท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการขายอาหารจนกว่าจะได้รับครบถ้วนเสียก่อน ผู้รายงานกล่าวว่า มัรวานจึงได้ปาฐกถาแก่ผู้คนแล้วสั่งห้ามการขายศิก๊าก สุไลมาน กล่าวว่า ฉันเห็นบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐนำมันคืนจากการครอบครองของผู้คน

หมายเหตุ : มัรวาน บิน ฮะกัม เป็นตาบีอีนอวุโส เป็นผู้ปกครองนครมะดีนะห์ เสียชีวิตในปีที่ 65 ฮิจเราะห์ศักราช

คำว่า ศิก๊าก ตามที่ระบุอยู่ในฮะดีษนั้น บรรดานักวิชาการฮะดีษได้อธิบายความไว้หลายท่านด้วยกัน แต่เราจะนำมาให้เห็นสักสองท่านก็คงจะพอ คือ อิหม่ามนะวาวี และ มุบาร๊อกฟูรีย์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้คือผู้อธิบายฮะดีษศอเฮียะห์มุสลิม

อิหม่ามนะวาวี กล่าวว่า : “ความหมายของคำว่าศิก๊าก ณ.ที่นี้คือ เอกสารที่ผู้มีอำนาจรัฐออกให้แก่ผู้สมควรได้รับอุปโภค,บริโภค โดยที่จะถูกเขียนว่าเป็นสิทธิ์แก่ผู้ใดในเรื่องนั้นๆ จากอาหารและอื่นๆ แล้วผู้ที่ได้รับมันมาก็ขายต่อให้คนอื่นก่อนที่จะได้ครอบครองมัน” (อธิบายศอเฮียะห์มุสลิม โดยอิหม่ามนะวาวี ญุซที่ 10 หน้าที่ 162)

มุบาร็อกฟูรี อธิบายว่า “มันคือเอกสารทางการที่ผู้มีอำนาจรัฐหรือตัวแทนออกให้แก่คนใดที่อยู่ภายใต้ การปกครองในกิจการต่างๆ และเป้าหมายของ ศิก๊าก ณ.ที่นี้คือ เอกสารที่ทางรัฐภายใต้การปกครองของราชวงศ์มุอาวียะห์ได้จ่ายให้แก่ประชาชน ที่สมควรจะได้รับเพื่อแลกอาหาร”

มุบาร๊อกฟูรี อธิบายต่อว่า “แต่ประชาชนรีบร้อนเอามันไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน ก่อนที่จะถึงกำหนดรับอาหาร แล้วผู้ที่ซื้อไปก็เอาไปขายต่อโดยบวกกำไรเพิ่ม” (มินนะตุ้ลมุนอิม ญุชที่ 41 หน้าที่ 14)

ประเด็นที่มุบาร๊อกฟูรี อธิบายนี้ มีที่มาจากคำรายงานของอิหม่ามมาลิก ในมุวัตเฏาะอ์ ดังนี้

فَقَالاَ هَذِهِ الصُكُوْكُ تَبَايَعَهَا النَّاسُ ثُمَّ بَاعُوْهَا قَبْلَ أن يَسْتَوْفُوْهَا

“ศอฮะบาะห์ทั้งสอง (อบูฮุรอยเราะห์และเซด บิน อัรกอม) กล่าวว่า ผู้คนต่างก็เอาตั๋วเงินนี้ไปขาย ซึ่งพวกเขาได้ขายมันก่อนที่จะได้รับมันอย่างครบถ้วน”

และเหตุที่อบูฮุรอยเราะห์กล่าวว่า เป็นการขายดอกเบี้ย หรือการขายที่มีดอกเบี้ยนั้น มุบาร็อกฟูรี อธิบายว่า

“อบูฮุรอยเราะห์เรียกว่า นี่คือการขายที่มีดอกเบี้ย ก็เพราะตั๋วเงิน ณ.ที่เขานั้นไม่ใช่อาหารและไม่ใช่สินค้า แต่มันคือหลักประกันเพื่อแลกอาหาร โดยผู้ที่ซื้อมาในราคา 100 ดิรฮัม ก็เอาไปขายต่อในราคา 120 ดิรฮัม โดยที่เขายังไม่ได้รับมอบอาหารนั้นหรือแม้แต่เพียงบางส่วนก็ตาม ฉะนั้นการซื้อ 100 ดิรฮัม แล้วเอาไปขายต่อ 120 ดิรฮัม มันคือดอกเบี้ย อย่างนี้แหละที่อบูฮุรอยเราะห์เรียกมันว่าดอกเบี้ย” (มินนะตุ้ลมุนอิม ญุชที่ 41 หน้าที่ 15)

เราได้รับความเข้าใจจากการอธิบายของ มุบาร๊อกฟูรี ว่า ศิก๊าก หรือ ตั๋วเงินที่ภาครัฐออกให้ประชาชนนั้นตัวของมันไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่การเอาไปขายช่วงต่อโดยเพิ่มราคา หรือบวกกำไรนั้นเป็นดอกเบี้ย

เมื่ออ่านฮะดีษและการอธิบายของนักวิชาการแล้วเราพบว่า การนำเอาฮะดีษนี้ไปเป็นหลักฐานเรื่องโต๊ะจีนแล้ววางฮุก่มให้แก่เรานั้น มันคนละเรื่องหรือหนังคนละม้วน

บัตรเชิญของเรานั้นไม่ใช่ “ศิก๊าก”
ไม่ใช่ตั๋วเงินของภาครัฐ
ไม่มีการเอาไปขายต่อเพื่อเพิ่มมูลค่า
ไม่มีการเรียกเก็บมัดจำ และ ฯลฯ

และสมมุติว่า ท่านพยายามที่จะทำให้มันเป็น “ศิก๊าก” ให้ได้ เราก็พบข้อขัดแย้งของนักวิชาการในประเด็นนี้

มุบาร๊อกฟูรี กล่าวว่า ในเรื่องนี้บรรดานักวิชาการมีมุมมองที่ต่างกันในการอนุญาตให้ขาย “ศิก๊าก”

ท่านอิหม่ามนะวาวี กล่าวว่า ที่ถูกต้องในหมู่นักวิชาการของเรา (มัซฮับซาฟีอี) และคนอื่นๆ ถือว่าอนุญาตให้ขายได้ แต่ผู้ที่ไม่อนุญาตให้ขายนั้นก็พิจารณาจากถ้อยคำของอะบูฮุรอยเราะห์ที่ปรากฏ ในฮะดีษแล้วนำไปเป็นหลักฐาน

ส่วนผู้ที่กล่าวว่า อนุญาตนั้นก็พิจารณาจากประเด็นของการขายให้แก่บุคคลที่สาม คือบุคคลที่สองขายให้แก่บุคคลที่สาม ไม่ใช่การขายของบุคคลแรก

รายละเอียดของประเด็นนี้ยังมีอีกมาก แต่ก็เพียงพอที่จะยืนยันแล้วว่า การซื้อขาย “ศิก๊าก” นั้นเป็นเรื่องขัดแย้ง แล้วไฉนเลยท่านจึงฟันธงลงฮุก่มเอาเป็นเอาตายถึงเพียงนี้ ทั้งๆที่บัตรเชิญของเราไม่ใช่ “ศิก๊าก” เราไม่เกี่ยวข้องใดๆกับตัวบทหลักฐานที่เขานำมาฮุก่ม และเราก็ไม่ได้อยู่ในข้อขัดแย้งของบรรดานักวิชาการ อย่างนี้แหละที่เรากล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ยกหลักฐานสวมตอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรานำฮะดีษที่เขาอ้างมาชี้แจงแล้ว เราก็จะไม่ปิดบังอำพรางข้อมูลทางวิชาการใดๆ ซึ่งในฮะดีษบทนี้ ยังมีอีกมุมหนึ่งที่นักวิชาการได้พิจารณาคือ

มุบาร๊อกฟูรี ได้กล่าวว่า ประเด็นที่อบูฮุรอยเราะห์ได้กล่าวว่าเป็นที่ต้องห้ามนั้น คือการห้ามขายอาหารก่อนที่จะได้รับมันอย่างครบถ้วนเสียก่อน

และในประเด็นเดียวกันนี้ ผู้รู้บ้านเราก็นำเอาฮะดีษจาก ศอเฮียะห์บุคคอรี, ศอเฮียะห์มุสลิม พร้อมทั้งถ้อยคำของนักวิชาการที่บอกว่าเป็น อิจมาอ์ มายืนยันฟันธงกันเลยทีเดียว

แต่ขอบอกว่า ที่ท่านยกมาก็ไม่เกี่ยวกับเราเลย คือหลักฐานถูกแต่ชี้ผิด เป็นหลักฐานสวมตออีกเช่นเคย ซึ่งจะได้นำมาอธิบายในลำดับถัดไป อินชาอัลลอฮ์

อ้อ...ถ้าท่านจะกล่าวว่า เมื่อไม่เกี่ยวแล้วชี้แจงทำไม

ขอตอบว่า ที่เอาไปโพ้สแล้ววางฮุก่มกันนั้นคือการ์ดงานของเราเอง

ขอบคุณที่ช่วยโปรโมท ตอนนี้เกินแล้ว อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ์

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=325172444350776&id=100005740689770