โต๊ะจีน ตอนที่ 5


ผมย้ำหลายครั้งว่า การวินิจฉัยปัญหาใดๆนั้น ผู้วินิจฉัยต้องมีความรอบคอบทั้งการพิจารณาทำความเข้าใจในหลักฐานและการทำ ความเข้าใจในปัญหา

โดยเฉพาะปัญหาของการอิจติฮาตนั้น ต้องพิจารณาในหลายแง่หลายมุม เพราะนอกจากเราจะรู้หลักฐานแล้ว เราเข้าใจปัญหาหรือเปล่า เรามองปัญหาทุกด้านหรือเปล่า หรือมองเป็นแต่มุมเดียว แล้วก็ฟัตวาลงฮุก่ม

พอเอ่ยถึงโต๊ะจีน ก็รีบร้อนตัดสินว่าฮะรอม ค้านฮะดีษค้านอิจมาอ์ โดยไม่สนใจว่าใครเขาทำอย่างไร เพราะท่านรู้จักโต๊ะจีนในมุมของท่านเพียงอย่างเดียว พอมีคนท้วงว่า อย่ารีบร้อนตัดสินเพราะท่านยังไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร ก็ทำตกอกตกใจอุทานว่า

“มีโต๊ะจีนแบบปกติ และโต๊ะจีนแบบพิเศษด้วยหรือ”

คำว่าโต๊ะจีนแบบปกติ กับ โต๊ะจีนแบบพิเศษ

กลายเป็นคำนิยามใหม่ที่ผู้รู้บางคนใช้เรียกขาน ณ.เวลานี้ซะแล้ว ก็อย่างที่ผมบอกนะแหละ ท่านรู้จักโต๊ะจีนในมุมมองของท่านอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักโต๊ะจีนในมุมมองของคนอื่น เหมือนกับว่า ท่านยืนกรานว่า 8 + 1 เท่ากับ 9 แต่ไม่รู้จักวิธีอื่น พอมีใครบอกว่า

7 + 2 ก็เท่ากับ 9
6 + 3 ก็เท่ากับ 9
5 + 4 ก็เท่ากับ 9
10 - 1 ก็เท่ากับ 9

จึงทำให้ใครบางคนตกใจว่า มีด้วยหรือ ทำได้ด้วยหรือ ทั้งๆที่วิธีการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเสียเหลือเกิน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า จะเอาเลขอะไรบวกหรือลบผลลัพธ์ของมันก็คือ 9

ขอมะอัฟที่เอาตัวอย่างของเด็กอนุบาลมาแสดงให้เห็น แต่เข้าใจง่ายดี

อย่างนี้เขาเรียกว่า วิธีคิดต่างกันแต่ผลลัพธ์เหมือนกัน

เหมือนกับที่เราย้ำในแง่มุมของการเรียกร้องผู้คนสู่ศาสนาว่า หลักการเปลี่ยนไม่ได้ แต่วิธีการนำเสนอเราปรับเปลี่ยนได้แต่ ขอให้เป็นวิธีการที่ถูกต้องละกัน
แล้วโต๊ะจีนมีวิธีการที่ถูกต้องด้วยหรือ

ไม่ค้านกับฮะดีษไม่ค้านกับอิจมาอ์หรือ
และบางท่านก็หลุดปากออกมาว่า เลี่ยงบาลีหรือเปล่า

ผมจึงย้ำนักหนาเหลือเกินว่าอย่ารีบร้อน วิธีต่างกันแต่ผลลัพธ์เหมือนกันนี้คือ วิธีที่ท่านนบีชี้แนะ ต้องย้ำว่า ไม่ใช่การเลี่ยงบาลี แต่เป็นวิธีที่ท่านนบีชี้แนะ ฉะนั้นอย่าได้รีบร้อนฟันธงโครมครามกันไป จะกลายเป็นการปฏิเสธการชี้แนะของท่านนบีเสียเปล่าๆ ถ้าเช่นนั้นลองอ่านฮะดีษต่อไปนี้

جَاءَ بِلاَلٌ إلَى النَّبِيِّ -صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- بِتَمْرٍ بَرْنِيٍّ، فَقَالَ لَهُ النَّبِيُّ -صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ-: ((مِنْ أيْنَ هَذاَ؟ )) قَالَ بِلاَلٌ: "كَانَ عِنْدَناَ تَمْرٌ رَدِيءٌ، فَبِعْتُ مِنْهُ صَاعَيْنِ بِصَاعٍ لِيَطْعَمَ النَّبِيُّ -صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ-"، فَقَالَ النَّبِيُّ -صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ- عِنْدَ ذَلِكَ: ((أَوَّهْ، عَيْنُ الرِبَا، عَيْنُ الرِبَا، لاَ تَفْعَلْ، وَلَكِنْ إذَا أرَدْتَ أنْ تَشْتَرِيَ فَبِعْ التَمْرَ بِبَيْعٍ آخَرَ، ثُمَّ اشْتَرِ بِهِ))

อบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ รายงานว่า “บิล้าลได้เข้ามาหาท่านรอซูลุ้ลลอฮ์พร้อมกับอินผลัมใหม่สด ท่านนบีจึงได้กล่าวแก่เขาว่า เจ้าไปเอาอินผลัมนี้มาจากไหน ? บิล้าลตอบว่า พวกเรามีอินผลัมเก่าอยู่ 2 ศออ์ แล้วฉันก็นำมันไปแลกกับอินผลัมใหม่ 1 ศออ์ เพื่อนำมาให้ท่านนบีได้รับประทาน ท่านนบีจึงกล่าวว่า ไม่ๆ มันคือดอกเบี้ย มันคือดอกเบี้ย อย่าทำอย่างนั้น แต่ถ้าเจ้าต้องการจะซื้อมัน ก็จงขายของเก่าไปก่อนแล้วค่อยซื้อของใหม่” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 2155 ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2985

ฮะดีษข้างต้นนี้คือการชี้แนะของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แก่ท่านบิล้าลให้แก้ไขและใช้วิธีการที่ถูกต้องคือ

การนำอินทผลัมเก่า 2 ศออ์ ไปแลกกับอินทผลัมใหม่ 1 ศออ์ เป็นวิธีที่ผิด
การนำอินทผลัมเก่า 2 ศออ์ ไปขายแล้วซื้ออินทผลัมใหม่ 1 ศออ์ เป็นวิธีที่ถูก

จะเห็นได้ว่า ผลลัพธ์ของทั้งสองกรณีนี้เหมือนกันแต่วิธีต่างกัน ท่านนบีปฏิเสธวิธีที่ไม่ถูกต้อง แล้วท่านก็เสนอแนะวิธีที่ถูกต้องให้ ฉะนั้นถ้าใครทำวิธีที่ถูกต้อง ไม่ค้านคัดกับคำสอนของศาสนาก็อย่ารีบฟัตวาว่าเขาทำในสิ่งที่ฮะรอม

ถ้าท่านมองเป็นอยู่มุมเดียว รู้วิธีเดียว ก็อย่ารีบร้อน
ตั้งสติแล้วคิดทบทวนใหม่
ฮะดีษศอเฮียะห์และอิจมาอ์นั้น ไม่มีใครเขาปฏิเสธหรอก เพราะคนที่ปฏิเสธผลก็คือตกมุรตัดเป็นกาเฟร

คิดจะเป็นมุจตะฮิดก็ใจร่มๆ สักนิด ละเอียดรอบคอบกันอีกหน่อย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น เรามักจะสอนผู้คนว่า ห้ามซื้อขายปลาในน้ำ ห้ามซื้อขายนกในอากาศ แล้วผู้คนก็จำไปเป็นสูตรพูดต่อๆกันไป แต่มันคือการนำเสนอที่ไม่รอบคอบของผู้สอน เพราะเป้าหมายของข้อห้ามนี้มี “ฆ่อร๊อร” ถ้าท่านขจัดมันออกไปด้วยการทำให้ถูกวิธี ทั้งปลาในน้ำและนกในอากาศก็ซื้อขายได้ ตัวอย่างเช่น

ท่านไปที่บ่อปลาดุกแล้วบอกเจ้าของบ่อว่า ซื้อปลาดุก 7 กิโล เจ้าของบ่อก็จับปลามาชั่งให้ 7 กิโล ท่านรับปลามาแล้วก็จ่ายเงินไปตามราคาที่ตกลง ถือว่าการซื้อขายนี้ถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว

หรือหากท่านต้องการเหมาบ่อก็ทำได้ โดยเจ้าของบ่อเขาลากหรือวิดน้ำแล้วจับปลาทั้งหมดมาชั่ง และท่านก็รับปลามาแล้วจ่ายเงินไปตามจำนวนและน้ำหนักที่เป็นจริง ก็ถือว่าการซื้อขายของท่านถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้วเช่นกัน

การซื้อขายนั้น เมื่อปลดเรื่อง “ฆ่อร๊อร” ออกไปก็ถือว่าการซื้อขายนั้นถูกต้องตามบัญญัติศาสนา

แล้วอะไรคือ “ฆ่อร๊อร” กรณีนี้จะได้นำเสนอต่อไปเมื่อพูดถึงการวิเคราะห์หลักฐาน

แต่ที่กล่าวมาแล้วนี้ ไม่ใช่สอนผู้รู้ เพียงแต่จะย้ำเตือนและบอกให้ทราบถึงเรื่อง ผลลัพธ์เหมือนกันแต่วิธีต่างกันตามที่ท่านนบีได้ชี้แนะ

แต่ดูเหมือนผู้รู้ของเราจะรู้อยู่วิธีเดียว ตามสูตรที่ท่านวิเคราะห์เองว่า โต๊ะจีนต้องมีคู่สัญญา 3 ฝ่าย คือฝ่ายที่หนึ่งคือผู้ค้าโต๊ะจีน(ผู้ว่าจ้างทำอาหาร) ฝ่ายที่สองคือผู้ทำโต๊ะจีน (ผู้รับจ้างทำอาหาร) และฝ่ายที่สามคือผู้ซื้อโต๊ะจีน( ผู้ซื้อบัตรหรือตั๋วเพื่อทานอาหาร)

ดูเหมือนผู้รู้ของเรายังสาละวนอยู่กับการยึดมั่นว่า 8 + 1 ต้องเป็น 9 เท่านั้น
แต่ไม่รู้วิธีเอาเลขอื่นมาบวก ลบ ให้ได้ 9
หนำซ้ำยังปฏิเสธ และฟันธงลงฮุก่มว่าวิธีของคนอื่นผิด
ช้าก่อน....ใจร่มๆ...คิดจะเป็นมุจตะฮิดต้องรอบคอบ
ก็ถ้าคนอื่นเขาทำถูกต้อง ด้วยวิธีที่ถูกต้อง แล้วจะไปฮุก่มเขาว่า ฮะรามได้อย่างไร

อยากรู้ละซิว่าทำอย่างไร มีเวลาจะมาอธิบายต่อ อินชาอัลลอฮ์

หมายเหตุ ผมไม่ได้แกล้งใครให้กระวนกระวาย มีเวลาน้อยจริงๆ จะเดินทางไปบรรยายที่จังหวัดตราด

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=326140770920610&id=100005740689770