โต๊ะจีน ตอนที่ 8
ผมต้องให้คนอื่นสอนหนังสือแทนแล้วหันมาเขียนบทความนี้ เนื่องจากเข้าใจว่าท่านที่ติดตาม กำลังรออ่านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเรามาเริ่มกันเลยดังนี้
องค์รวมของงาน
ตามที่กล่าวแล้วว่า เราจัดงาน ซึ่งชื่องานและวัตถุประสงค์ของการจัดงานระบุไว้ในการ์ดชัดเจน และแน่นอนว่าการจัดงานต้องมีคณะกรรมการจัดงานหลายฝ่ายเพื่อดูรับผิดชอบใน ส่วนต่างๆ และมีต้นทุนของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเครื่องเสียง, เครื่องไฟ, ค่าเวที, จอภาพถ่ายทอดบริเวณงาน, ค่าโต๊ะเก้าอี้, ค่าอาหาร, ค่าบริการเก็บล้าง, ค่าบริการปรับพื้นที่จอดรถ, ค่าเจ้าหน้าที่จราจรจัดที่จอดรถ, ค่าเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสงบ, ค่าของชำร่วย, ค่านิทัศการ, ค่าวิทยากร, ค่าใช้จ่ายในการเตรียมงาน,ค่าเคลียร์พื้นที่หลังงาน และอื่นๆ อีกจิปาถะ เพราะฉะนั้นการจัดงานในแต่ละครั้งจึงต้องมีกรรมการรับผิดชอบ เพื่อกำหนดแผนงานและดำเนินการ
จะเห็นได้ว่าการจัดงานในแต่ละครั้งนั้นมีต้นทุนในการดำเนินการมากมาย แต่เราก็พยายามเซฟค่าใช้จ่าย เช่นค่าแรงงานในการจัดเตรียมพื้นที่ก็ให้คณะนักเรียนของเราช่วยกัน, ค่าพิธีกรและคณะวิทยากร (ไม่มี) ทุกคนเต็มใจช่วยโดยไม่คิดค่าตอบแทน ส่วนที่เหลือได้มาโดยวิธี 1. ทำเอง 2. ซื้อ 3. เช่า 4. ว่าจ้าง 5. บริจาค
เขาคิดว่าเราเป็นผู้ค้าโต๊ะจีน หรือเป็นนายหน้าค้าโต๊ะจีนฟันกำไรค่าต่างโดยไม่ต้องลงทุนอะไรกระมัง เขาจึงได้กล่าวว่า “เมื่อผู้ว่าจ้างทำอาหาร ได้ทำการตกลงกับผู้รับเหมาแล้ว ย่อมสามารถทราบต้นทุนของตัวเองว่าโต๊ะหนึ่งราคาเท่าไดหรือหัวละเท่าใด ดังนั้นผู้ว่าจ้างจะออกบัตรหรือตั๋วโดยกำหนดว่าจะเอากำไรหัวละเท่าใด เช่นทุนตกหัวละสามร้อยบาท ก็บวกกำไรไปอีกสองร้อยบาท ดังนั้นราคาขายตามรายหัวคือห้าร้อยบาท” ท่านกำหนดกรอบขึ้นเองแล้วคิดว่า ทุกคนทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบหรือเป็นไปตามกรอบที่ท่านคิด จึงได้ฮุก่มด้วยคำพูดที่หละหลวมว่า “โต๊ะจีนฮะรอม” โดยที่ยังไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร
จุดขายของงาน
เราบอกแล้วว่า เราไม่ได้ค้าโต๊ะจีนหรือเป็นนายหน้าค้าโต๊ะจีนเอากำไรค่าต่าง อย่างที่ใครบางคนคิด กว่าจะถึงวันนี้คณะกรรมจัดงานต้องประชุมกันหลายรอบ โดยเฉพาะกิจกรรมบนเวที, เนื้อหาสาระที่จะนำเสนอแก่ผู้เข้าร่วมงาน ต้องเป็นจุดขาย ย้ำว่า จุดขายของงานไม่ใช่อาหาร ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ได้โชว์เมนูอาหารเป็นจุดขายโฆษณาให้ใครน้ำลายสอ
เวลาเราจัดงานทุกครั้ง จุดขายของเราคือกิจกรรมบนเวที พี่น้องมากันอย่างล้นหลามเพื่อฟังบรรยาย จากหัวข้อและวิทยากรที่นำเสนอ บางครั้งดึกดื่นค่อนคืนพี่น้องก็ยังอยู่กันหนาแน่น
งานนี้ก็เช่นเดียวกัน เราเลี้ยงหรือซื้อขายอาหารในช่วงเวลาสั้นๆ แต่กิจกรรมบนเวทีมีอย่างต่อเนื่องจนถึงเที่ยงคืนหรืออาจมากกว่านั้น อินชาอัลลอฮ์ หัวข้อในช่วงสุดท้ายของงานนี้เขาประชาสัมพันธ์กันอย่างโครมคราม เรื่อง “คุณเผาเราแฉ” โดย อ.ฟารีด เฟ็นดี้ และ อ.อะห์หมัด ก้อพิทักษ์
หรือว่าท่านไม่มีประสบการณ์ในการจัดงาน เลยไม่รู้หรือไม่คำนึงถึงจุดขายของงาน หรือว่าท่านรู้แต่หลงลืม เรื่องจุดขายของงานนี้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ด้วยกล่าวคือ บางงานจุดขายดีแต่ประชาสัมพันธ์ไม่ถึงคนก็ไม่ทราบ แต่งานของเราครั้งนี้ต้องขอบคุณทุกฝ่าย โดยเฉพาะท่านที่ช่วยโปรโมททำให้ผู้คนสนใจจนเต็มก่อนกำหนดและทำให้เราต้อง ขยายเพิ่มอีก แต่เราก็รับได้เท่าที่พื้นที่ของเรามี
ท่านสร้างจุดขายให้เราโดยที่เราไม่ได้ร้องขอ เนื่องจากพี่น้องหลายท่านอยากทราบและต้องการให้เราพูดถึงเรื่องโต๊ะจีนในงาน ตามที่เป็นกระแสอยู่ขณะนี้ ต้องกล่าวขอบคุณท่านอีกครั้ง ญะซากุมุลลอฮ์
การ์ดงานหรือบัตรเชิญ
มีผู้นำเอาการ์ดงานหรือบัตรเชิญของเราไปกิยาส (เปรียบเทียบ) กับ “ศิก๊าก” หรือตั๋วเงินของรัฐที่ออกให้ประชาชนเอาไปแลกอุปโภคบริโภค ซึ่งการนำเอาการ์ดงานหรือบัตรเชิญเราไปเปรียบกับ “ศิก๊าก” เป็นการเปรียบเทียบที่ห่างไกลความจริงเหลือเกิน เหมือนดั่งผู้ที่เปรียบเทียบไม่รู้จักหลักเกณฑ์ของการกิยาส ซึ่งเราวิจารณ์ไว้ในตอนที่ 4 ว่าเป็นหลักฐานสวมตอ
ศิก๊าก คือตั๋วเงินหรือเอกสารสิทธิ์ที่รัฐออกให้แก่ประชาชนที่ขัดสนโดยไม่คิดมูลค่า เพือนำไปแลกอุปโภคบริโภค ตามที่ อิหม่ามนะวาวีและมุบาร๊อฟฟูรีได้อธิบายไว้ (ดูคำอธิบายศอเฮียะห์มุสลิม โดยอิหม่ามนะวาวี ญุซที่ 10 หน้าที่ 162 และมินนะตุ้ลมุนอิม ญุชที่ 41 หน้าที่ 14)
การ์ดงานหรือบัตรเชิญของเราไม่ใช่ “ศิก๊าก” หรือท่านคิดว่าเราเป็นผู้กุมอำนาจรัฐและออกตั๋วเงินให้ใครฟีรๆ และถึงแม้ว่าท่านจะพยายามยัดเยียดให้เป็น “ศิก๊าก” ให้ได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว บรรดานักวิชาการยังมีข้อขัดแย้งกันว่าขายได้ไหม ซึ่งท่านก็ยืนยันประเด็นนี้ตามที่ระบุไว้ในข้อเขียนของท่านเอง แต่ท่านไม่ฉงนเลยหรือว่า ท่านอ้างอิจมาอ์ แต่นักวิชาการยังมีการคิลาฟกัน แล้วมันเป็นอิจมาอ์ได้อย่างไร หรืออิจมาอ์กันประเด็นไหน เขาคิลาฟกันประเด็นใด ท่านจะต้องรอบคอบกว่านี้
การที่บรรดานักวิชาการมีข้อขัดแย้งกันตามที่กล่าวข้างต้นคือ การนำเอา “ศิก๊าก” ไปขายต่อหรือขายช่วงต่อ ในกรณีของการขายจากคนที่ 1 ถึงคนที่ 2 นั้น ท่านอิหม่ามนะวาวี กล่าวว่า ที่ถูกต้องในหมู่นักวิชาการของเรา (มัซฮับซาฟีอี) และคนอื่นๆ ถือว่าอนุญาตให้ขายได้ (ดูคำอธิบายศอเฮียะห์มุสลิม โดยอิหม่ามนะวาวี ญุซที่ 10 หน้าที่ 162)
ส่วนการขายช่วงต่อจากบุคคลที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ 3 นั้นคือประเด็นของคำฟัตวาว่าฮะรอม (ดูมินนะตุ้ลมุนอิม โดยมุบาร๊อกฟูรี ญุชที่ 41 หน้าที่ 14)
ในกรณีนี้ หากมีใครนำเอาการ์ดงานหรือบัตรบัตรเชิญของเราไปขายช่วงต่อ เราก็ไม่ยินยอมเช่นเดียวกัน เนื่องจากเราจัดงานการกุศล แต่มีผู้นำการ์ดไปปั่นราคาสร้างกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง ใครทำอย่างนี้เราไม่ยอมแน่นอน ฉะนั้นการนำเอาบัตรเชิญหรือการ์ดงานของเราไปเปรียบกับ “ศิก๊าก” นั้นจีงเป็นการเปรียบที่ไกลความจริงเหลือเกิน เหมือนดั่งที่เรากล่าวว่า เป็นหนังคนละม้วนหรือ หลักฐานสวมตอ ดังที่วิพากษ์ไว้ในตอนที่ 4
หากจะถามว่า ถ้าไม่จ่ายค่าบัตรแล้วจะเข้าร่วมงานได้ไหม ก็ต้องตอบว่า ยินดีต้อนรับ
งานในปีนี้ยังไม่ถึงกำหนดเวลา แต่ขอเอาตัวอย่างของงานปีที่แล้วมากล่าวเป็นสังเขปว่า ผู้ร่วมงานมีทั้งผู้ที่จ่ายค่าบัตร และไม่จ่ายค่าบัตร และผู้ที่เราไม่ได้เรียกเก็บ เช่นเด็กกำพร้าและบรรดานักเรียนของเรา และมีทั้งที่เราส่งบัตรเชิญไปแล้ว แต่ตัวไม่มาเงินไม่มาก็มี และมีทั้งผู้ที่มางานแต่ผ่านไปแล้ว 4 เดือนกว่าเพิ่งมาชำระก็มี
เหมือนอย่างที่เราหรือกรุ๊ปทัวร์จัดท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ แล้วจัดบริการเลี้ยงอาหารตามร้านอาหาร ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บุฟเฟต์, โต๊ะจีน,หรือขันโตก ซึ่งจุดขายคือสถานที่ท่องเที่ยวส่วนบริการอื่นๆเป็นตัวเสริม แต่เวลาจัดทัวร์ก็ลำบากเหมือนกัน บางคนก็จอง ไว้ แต่ถึงเวลารถออก ตัวก็ไม่ไปเงินก็ไม่จ่าย เช่นเดียวกันกับบัตรเชิญที่เราส่งไปให้นั่นแหละ บางราย ตัวไม่มา เงินก็ไม่จ่าย แต่ก็เป็นส่วนน้อย
บางท่านกล่าวว่า “การซื้อขายย่อมมีความเสี่ยงคือกำไรหรือขาดทุน แต่การจัดโต๊ะจีนคือการซื้อขายแบบไม่เสี่ยง” เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดในมุมแคบๆ และคนวิสัยทัศแคบๆ อย่างนี้ไม่เหมาะแก่การเป็นนักธุรกิจ อย่าว่าแต่เราที่ไม่ได้เป็นพ่อค้าหรือนายหน้าค้าโต๊ะจีนตามสภาพความเป็นจริง ที่กล่าวแล้ว แม้แต่ผู้ค้าผู้ขายโต๊ะจีนโดยตรงเขาก็ยังคงสภาพเสี่ยงกับกำไรหรือขาดทุน เช่นจัดแล้วคนไม่สนใจ ไม่ซื้อ หรือมาไม่ครบ ของเหลือ และฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่คนวิสัยทัศน์แคบๆ มองไม่ออก
ฉะนั้นถ้าถามว่า รับบัตรไปแล้วคืนได้ไหม ก็ต้องตอบว่า คืนได้ทุกเวลาและทุกสภาพ เนื่องจากเราไม่ได้บังคับซื้อบังคับขาย แต่ดูเหมือนว่าท่านจะใจแคบ วางกฎกติกาขึ้นเองแล้วจับผู้คนไปวางไว้ในกรอบที่ท่านตั้งขึ้นดั่งที่ ท่านกล่าวว่า“ส่วนบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนเป็นเอกสารสิทธิ์รับประทานอาหารตามที่ ผู้จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงชนิดอาหาร ปริมาณอาหาร หรือคุณภาพอาหารตามที่ตนต้องการได้ และบัตรหรือหรือตั๋วโต๊ะจีนไม่สามารถนำมาคืนได้ทุกกรณี เพราะเป็นการซื้อขาย หากผู้ซื้อและผู้ขายแยกจากกันการซื้อขายนั้นก็สมบูรณ์ จะยกเลิกไม่ได้ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด ยกเว้นจะยินยอมกันตามหลักการศาสนาเรียกว่า “อัลกิกอละห์”
อย่างนี้แหละที่เรากล่าวว่า ท่านใจแคบ คิดอยู่แต่ในมุมที่ท่านคิด แล้วทึกทักว่าคนจะอื่นจะทำเหมือนดั่งที่ท่านคิด แต่ความเป็นจริงที่เราทำอยู่คือ
คนที่รับบัตรไปแล้วต้องชำระค่าบัตรเลยไหม ตอบ..ไม่วาญิบ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่เรากำหนด แต่ก็มีบางท่านที่ฝากชำระมากับเราให้ช่วยจัดการแทน
เมื่อรับบัตรแล้วต้องจ่ายค่ามัดจำไหม ตอบ..ไม่ต้อง เราไม่ได้เรียกเก็บค่ามัดจำ
แล้วจะชำระได้เมื่อไหร่ ตอบ..เราตั้งโต๊ะรับชำระที่หน้างาน
ไม่พอใจคืนได้ไหม ตอบ..ได้ แม้กินไปแล้วไม่พอใจจะเงินคืนก็ได้เรายินดีคืนให้ครบ เพราะเราไม่ได้บังคับซื้อบังคับขาย หรือล่อลวงใครให้ซื้อขาย แต่เท่าที่ท่านผ่านมานอกจากจะไม่คืนแล้วยังช่วยบริจาคสมทบให้อีก ซึ่งในส่วนนี้เราไม่ได้เรียกร้อง
แยกซื้อได้ไหม...ตอบว่าได้ ปีนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบที่ฝ่ายบัญชีว่ามีกี่ราย แต่เมื่อปีที่แล้วมีบางท่านซื้อเดี่ยวแล้วให้เราจัดผู้ร่วมโต๊ะให้
เมื่อผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ จะชำระเงิน ณ.วันงานหรือชำระในภายหลังก็ได้ เหมือนอย่างปีที่แล้วที่ผู้ซื้อมาชำระหลังจากงานจบไปแล้ว 4 เดือนกว่า แต่ถามว่า เมื่อซื้อบัตรแล้วได้อะไร ตอบ...กิจกรรมทั้งหมดในงานคือ กิจกรรมวิชาการและกิจกรรมอื่นๆบนเวที, อาหารและเครื่องดื่ม, นิทัศการ, ของที่ระลึก และการบริการ
เพราะฉะนั้น การ์ดงานหรือบัตรเชิญของเราจึงเป็นเพียงจดหมายเชิญให้เข้าร่วมงานกับเราโดย ไม่มีเงื่อนไขบังคับ ผู้ซื้อมีสิทธิ์เลือก ที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ เลือกที่จะมาหรือไม่มาร่วมงานก็ได้ ไม่มีการริบมัดจำ ไม่มีการจ่ายค่าปรับใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างนี้เขาเรียกว่า بَيْعُ الخِيَارِ คือการซื้อการขายที่ผู้ซื้อมีสิทธิ์เลือกโดยไม่มี “ฆ่อร๊อร” เจือปน เป็นวิธีทางที่ฮะล้าล ซึ่งเหล่าศอฮาบะห์ก็กระทำการซื้อขายในลักษณะนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นอาหารหรือสิ่งของ และเป็นอิจมาอ์ของเหล่าศอฮาบะห์ ขอย้ำว่า “เป็นอิจมาอ์ของเหล่าศอฮาบะห์” ไม่ใช่อิจมาอ์ของอุละมาอ์คนใดที่ผู้รู้บ้านเรานำมาครอบผิดประเด็น ซึ่งรายละเอียดจะได้นำมาชี้แจงในหมวดของการวิเคราะห์หลักฐาน
ข้างต้นนี้คือการพิจารณาในมุมของการ์ดงานหรือบัตรเชิญที่ก้าวไปสู่การซื้อ ขายบัตรร่วมงาน ในตอนต่อไปจะได้พิจารณาถึงการซื้อขายอาหารโต๊ะจีน อินชาอัลลอฮ์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=327422157459138&id=100005740689770