โต๊ะจีน ตอนที่ 9


เพิ่งกลับจากรายการถามมาซิจะตอบให้ ตอนนี้เที่ยงคืนละ แต่จะขอคุยอีกสักตอนหนึ่งก่อนนอน

ที่มาของอาหารและเครื่องดื่มที่นำมาเลี้ยงหรือขายในวันงาน

ที่มาของอาหารและเครื่องดื่มที่เราจะเลี้ยงหรือขายในวันงานก็มีทั้งที่สั่ง ทำและมีทั้งพี่น้องบริจาคมาให้เอาไปจำหน่าย แอบกระซิบว่า คณะกรรมการบางท่านยังเสนอให้ผมทำเมนูเลิศรสเลี้ยงในงาน แต่ขอตัดสินใจก่อนเนื่องจากเวลาไม่เอื้ออำนวย

ในประเด็นของอาหารและเครื่องดื่มที่พี่น้องบริจาคมาให้เราเลี้ยงหรือขายนี้ เราคงไม่ต้องแจงกระมังว่า ที่เขาบริจาคกันนั้นมีเมนูอะไรบ้าง และชื่อผู้บริจาคเป็นใคร เอาเป็นว่าผู้บริจาคอาหารและเครื่องดื่มมี ทั้งหมด 5 รายหลัก และรายย่อยสมทบอีกส่วนหนึ่ง แต่ถ้าอยากรู้รายชื่อผู้บริจาคจริงๆก็ลองกระซิบถาม อ.อาดัม เปลี่ยนอำรุง เขาเป็นผู้บันทึกการประชุม หรือ อ.มุนซิร มันคีเมาะ ผู้ดูแลเรื่องนี้อยู่

แล้วหลักเกณฑ์ที่ท่านกล่าวว่า “โต๊ะจีนต้องมีคู่สัญญา 3 ฝ่าย คือฝ่ายที่หนึ่งคือผู้ค้าโต๊ะจีน(ผู้ว่าจ้างทำอาหาร) ฝ่ายที่สองคือผู้ทำโต๊ะจีน (ผู้รับจ้างทำอาหาร) และฝ่ายที่สามคือผู้ซื้อโต๊ะจีน( ผู้ซื้อบัตรหรือตั๋วเพื่อทานอาหาร)” ถ้าท่านจะกล่าวถึงเราในกรณีนี้ก็เป็นคำพูดที่เหลวไหลสิ้นดี ไปนับดูเองเถอะว่า มันกี่ฝักกี่ฝ่าย

แล้วหลักเกณฑ์สามฝ่ายของโต๊ะจีนที่ท่านตั้งขึ้นนี้ กลายเป็นกฎที่ปิดประตูล็อคตัวเองไว้หรืออย่างไร ถ้ามีสองฝ่าย หรือสี่ฝ่ายไม่ใช่โต๊ะจีนหรือ

แม้กระทั่งผู้รู้ในหมู่ท่านก็แหกกฎที่ท่านตั้งขึ้นเองซะแล้ว ดั่งเช่นข้อความต่อไปนี้ “เรื่องการซื้อขายจะสองฝ่าย สามฝ่าย กี่ฝ่ายก็ตามนั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือถ้าซื้อขายอาหารต้องถามว่าตอนขายผู้ขายหารนั้นมีอาหารอยู่ในการครอบ ครองสมบรูณ์แล้วหรือยัง” อ้าว....แล้วกฎเหล็กสามฝ่ายที่อาจารย์ใหญ่เขาตั้งขึ้นพังทลายลงตั้งแต่เมื่อ ไหร่หรือ และผู้รู้ในหมู่ท่านที่ทำลายกฎเหล็กนี้เป็นใครไปติดตามกันเอง แต่เราเซฟข้อความไว้แล้ว

ส่วนอาหารที่สั่งทำนั้น คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดเมนูเองในที่ประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่เราออกบัตรเชิญไปเนิ่นนาน ไม่ใช่เหมือนอย่างที่ท่านเข้าใจและกล่าวว่า “เมื่อผู้ว่าจ้างทำอาหาร ได้ทำการตกลงกับผู้รับเหมาแล้ว ย่อมสามารถทราบต้นทุนของตัวเองว่าโต๊ะหนึ่งราคาเท่าไดหรือหัวละเท่าใด ดังนั้นผู้ว่าจ้างจะออกบัตรหรือตั๋วโดยกำหนดว่าจะเอากำไรหัวละเท่าใด เช่นทุนตกหัวละสามร้อยบาท ก็บวกกำไรไปอีกสองร้อยบาท ดังนั้นราคาขายตามรายหัวคือห้าร้อยบาท” ที่ท่านกล่าวนี้คือสิ่งที่ท่านคิดเอาเอง ก็เราบอกแล้วไงว่าเราไม่ได้ค้าหรือเป็นนายหน้าค้าโต๊ะจีน เราจึงไม่ได้กำหนดอาหารล่วงหน้าก่อนออกบัตรหรือแสดงเมนูอาหารในบัตร

และอาหารที่สั่งทำนั้น เราก็เปิดครัวทำกันในวันงาน ต้องย้ำว่า ทำในวันงาน ไม่ใช่ทำอาหารเดือนนี้แต่ไปขายเดือนหน้า จนทำให้ท่านต้องวิตกกังวลโดยการกล่าวว่า “ปลาเน่า แกงบูด ผักแห้ง แกงหก” อัสตัฆฟิรุ้ลลอฮ์ คิดเอง เออเอง ช่างคิดจริงๆ

ถามว่าตอนี้เราซื้อหรือยัง . ตอบ...ยัง
ทำหรือยัง ตอบ...ยัง

จะให้เราซื้อเนื้อ ซื้อผัก ซื้อปลา ทำแกงกันตอนนี้ เพื่อจะเอาไปเลี้ยงในเดือนหน้าหรือ อะไรทำให้ท่านจินตนาการไปได้ถึงขนาดนั้น

อย่าวิตกกังวลไปเลย เดี๋ยววันงานจะให้พ่อครัวแม่ครัวโชว์ตะหลิว โชว์กระทะ ต่อหน้าแขกเหรื่อในวันงาน 3,000 กว่าคนให้ช่วยเป็นพยานหน่อยว่า เราเปิดครัว หุง ปรุง ต้ม แกงทอด ทำกันสดๆ

หากท่านถามว่า อาหารที่จะทำนี้ “เลี้ยงหรือขาย” ก็ต้องตอบตามตรงว่า ทั้งเลี้ยงทั้งขาย คือ เลี้ยงฟรีส่วนหนึ่งและขายอีกส่วนหนึ่ง

ส่วนที่เลี้ยงนั้นไม่ใช่บุคคลพิเศษใดๆ แม้กระทั่งผมและคณะครูก็ต้องจ่ายเหมือนกัน แต่ในจำนวนที่เลี้ยงฟรีนี้คือเด็กกำพร้าและบรรดานักเรียนของเรา ซึ่งมีตัวเลขอยู่ในมือ ณ.เวลานี้มีทั้งหมด 160 ที่ หรือจำนวน 16 โต๊ะ ท่านอาจจะถามว่า จัดงานการกุศลเพื่อหารายได้แล้วเลี้ยงฟรีจะมีรายได้อย่างไร นั่นซิ ท่านคงเป็นห่วงเป็นใยเราเหลือเกิน ท่านคิดไม่ออกใช่ไหม ถ้าท่านตีกรอบเอง แล้วยังสาละวนอยู่ในกรอบที่ตัวเองตั้งขึ้น ก็คงจะมีแต่เพียงการคาดเดา คิดเอง เออเอง ดังนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่า เลี้ยงด้วยขายด้วยทำอย่างไร ถ้าอยากรู้จริงๆ ก็กระซิบถาม อ.อับดุลลอฮ์ สุไลหมัด เพราะเขาดูแลเรื่องนี้อยู่

ถามว่าเขาเลี้ยงกันหรือยัง ตอบ...ยัง
เขาขายกันหรือยัง ตอบ...ยัง
เขาจะเลี้ยงและจะซื้อจะขายกันเมื่อไหร่ ตอบ...วันที่นัดหมายคือ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ ตามเวลาและสถานที่ที่แจ้งไว้ในบัตรเชิญ

เราเชิญท่านมาซื้อมาขายมากินกันสดๆ ในวันงาน
ถ้าท่านพอใจจะซื้อก็ชำระเงินที่ฝ่ายรับชำระค่าบัตรที่หน้างาน
หรือจะเข้าไปดูในโรงครัวให้เป็นที่พอใจก่อนก็ยังได้ หรือจะขอชิมรสชาติอาหารก่อนก็ยังได้
ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ

หรือจะไม่ซื้อ จะให้เราเลี้ยงฟรีก็ยินดี เพราะเราก็เลี้ยงอยู่แล้ว 160 ที่หรือ 16 โต๊ะ ตามยอดที่มีอยู่ขณะนี้ จะเพิ่มอีกนิดหน่อยคงไม่หายนะหรอก แค่ท่านมาร่วมงานกับเราก็ยินดีมากแล้ว แต่ตอนนี้ยอดจองเต็มแล้ว ต้องขยายเพิ่มอีกนิดหน่อยเท่าที่พื้นที่เอื้ออำนวย

มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจบัตรไหม ตอบ..ไม่มี มีแต่ฝ่ายต้อนรับหน้างาน และนักเรียนของเราที่คอยนำท่านสู่โต๊ะที่ท่านจองไว้

มีเจ้าหน้าที่คอยเช็คจำนวนคนไหม ตอบ..เราไม่เคยทำและจะไม่ทำ เราให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกท่าน

ถามว่า ถ้าจองต้องชำระมัดจำไหม ตอบ...ไม่ต้อง
ต้องทำสัญญาจองไหม ตอบ..ไม่ต้อง เพียงท่านแจ้งชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรกลับเท่านั้น

ต้องจ่ายเงินเลยไหม ตอบ...ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่เราวางไว้ จะกินก่อนแล้วจ่ายทีหลังก็ยังได้

เพราะฉะนั้นบัตรเชิญหรือการ์ดงานของเรา จึงเป็นหนังสือเชิญให้ท่านมาร่วมกินร่วมซื้อกับเราในวันเวลาที่นัดหมายโดยไม่มีเงื่อนไขบังคับ

อย่างนี้เขาเรียกว่า بَبْعُ المُوَاعَدَةِ คือเชิญมาร่วมซื้อร่วมขาย ไม่มีสัญญาข้อผูกมัดใด ไม่มีมัดจำ ไม่มีค่าปรับ ที่สำคัญคือไม่มี “ฆ่อร๊อร” ใดๆที่จะทำให้การซื้อการขายฮะรอมตามทฤษฎีที่ท่านตั้งขึ้นสักนิดเดียว

และการให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อในการเลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้ออย่างนี้เรียกว่า بَيْعُ الخِيَار เช่นเดียวกัน คือการซื้อการขายที่ผู้ซื้อมีสิทธิ์เลือกโดยไม่มี “ฆ่อร๊อร” เจือปน เป็นวิธีทางที่ฮะล้าล ซึ่งเหล่าศอฮาบะห์ก็กระทำการซื้อขายในลักษณะนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นอาหารหรือสิ่งของ และเป็นอิจมาอ์ของเหล่าศอฮาบะห์ ขอย้ำว่า “เป็นอิจมาอ์ของเหล่าศอฮาบะห์” ไม่ใช่อิจมาอ์ของอุละมาอ์คนใดที่ผู้รู้บ้านเรานำมาครอบผิดประเด็น ซึ่งรายละเอียดจะได้นำมาชี้แจงในหมวดของการวิเคราะห์หลักฐาน

และที่กล่าวมาแล้วทั้งสองตอนนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า “โต๊ะจีน” มันเป็นเพียงชื่อที่สื่อให้รู้ว่าเราจะเลี้ยงหรือจะซื้อจะขายกันในรูปแบบ โต๊ะกลมเท่านั้นเอง และการซื้อขายนั้นหากทำด้วยวิธีที่ถูกต้องแล้วละก็ จะมองมุมไหนสักกี่มุมมันก็ฮะล้าลอยู่วันยังค่ำ แต่เสียดายที่ท่านมองไม่เห็น

คงจะจบคำชี้แจงในเรื่องวิธีการไว้เพียงเท่านี้ ตอนต่อไปคงจะได้เริ่มวิเคราะห์ในตัวบทหลักฐานกันซะที อินชาอัลลอฮ์ แต่ขอความกรุณาว่า อย่างเร่งรัดผมนักเลย เพราะงานรัดตัวจริงๆ

อ้อ...ขอแนะนำว่า ถ้าใครอยากจะเป็นมุฟตี ออกฟัตวาแปลกๆใหม่ๆ แนะนำให้อ่าน تَحْقِيْقُ المَنَاطِ ให้เยอะๆ จะได้ละเอียดรอบคอบในการพิจารณาทำความเข้าใจปัญหาและหลักฐาน

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=327564037444950&id=100005740689770