อิจมาอ์ที่ไม่ใช่อิจมาอ์ (ตอนที่ 4)
ตอบอาจารย์คอลิด ปานตระกูล
อัลกุรอ่านคือหลักฐานขั้นเด็ดขาดที่ถูกเรียกว่า “ดะลีลุ้ลก๊อฏอีย์” โดยไม่ต้องสงสัยสถานะว่าศอเฮียะห์หรือไม่ เนื่องจากถูกรายงานมาในลักษณะ “มุตะวาเต็ร” หมายถึงมหาชนรายงานตรงกัน
ส่วนฮะดีษนั้นถูกเรียกว่า “ดะลีลุ้ซศ็อนนีย์” คือหลักฐานที่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าคือคำพูด การกระทำ หรือการยอมรับของท่านนบีจริงๆ ซึ่งส่วนหนึ่งของฮะดีษนั้นถูกรายงานมาในลักษณะ “มุตะวาเต็ร” หมายถึงมหาชนรายงานและเป็นไปไม่ได้ที่บรรดาผู้รายงานเหล่านั้นจะรวมหัวกัน โกหก และอีกส่วนหนึ่งก็ถูกรายงานมาในลักษณะ “อาฮาด” คือมีผู้รายงานจำนวนน้อย ซึ่งอาจจะมีความถูกต้องและไม่ถูกต้องก็ได้ และเมื่อตรวจสอบแล้วก็จะได้รับการรับรองสถานะเช่น ศอเฮียะห์ (ถูกต้อง) ฮะซัน (ดี) ฏออีฟ (มีปัญหา/ต้องสงสัย) เมาฏัวอ์ (เก้/อุปโลกน์)
ในหมู่นักวิชาการที่ตรวจสอบรับรองสถานะของฮะดีษนั้น บางท่านก็มีความรัดกุม และบางท่านก็ไม่ต่อยละเอียดรอบคอบ จึงมีประเด็นที่ถกเถียงกันว่า การให้สถานะฮะดีษดังกล่าวจะศอเฮียะห์จริงหรือไม่
ส่วนในเรื่องของ “อิจมาอ์” ก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็ถูกรายงานมาในลักษณะ “มุตะวาเต็ร” และบางครั้งก็ถูกรายงานมาในลักษณะ “อาฮาด” จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เป็นอิจมาอ์จริงตามที่ได้กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งในแวดวงของบรรดานักวิชาการที่นำเอาถ้อยคำอิจมาอ์มาอ้างนั้น บางท่านก็ถูกให้สถานะว่าไม่รอบคอบในการอ้างอิจมาอ์ ดังนั้นจึงมีถ้อยคำที่อ้างว่าเป็นอิจมาอ์ถูกคัดค้านว่าไม่ใช่อิจมาอ์ หรือไม่ถึงระดับขั้นอิจมาอ์ และในกรณีของ อิบนุ้ลมุนซิร เราได้ยกตัวอย่างไปในตอนที่แล้ว และเราได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
ท่านจะว่าอย่างไรกับข้อความต่อไปนี้
وكذلك ابن المنذر يتساهل في الإجماع، وكتاب "الإشراف" هو مرجع أساسي لعدة مصادر مثل مغني ابن قدامة
“และในทำนองเดียวกัน อิบนุ้ลมุนซิรนั้นไม่รอบคอบในเรื่องอิจมาอ์ และหนังสือ “อัลอิชรอฟ” ก็เป็นรากฐานที่มาของตำราหลายเล่ม เช่น มุคนี ของอิบนุกุดามะห์ เป็นต้น”
http://www.ibnamin.com/ijma.htm
เรายืนยันว่าข้อความข้างต้นนี้ไม่ใช่คำพูดของเราอย่างแน่นอน และเราได้ก๊อปลิ้งค์แนบมา ณ ที่นี้แล้วขอให้ท่านพิจารณาเถิด
และหากท่านโวยวายว่าเราดิสเครดิตอุลามาอ์ ดังนั้นท่านจะพูดอย่างไรกับถ้อยคำของฮาฟิซ อัซซะฮะบีย์ ที่พูดถึง อิบนุ้ลมุนซิร ดังต่อไปนี้
وكان يروي عن الربيع بن سلميان عن الشافعي ولم ير الربيع ولا سمع منه
“เขารายงานเรื่องราวจากอัรรอเบียะอ์ บิน สุไลมาน จากชาฟีอี แต่เขาไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินเรื่องราวใดๆจากรอเบียะอ์เลย” มีซานุ้ลเอียะอ์ติดาล เล่มที่ 3 หน้าที่ 451
และท่านจะว่าอย่างไรกับ คำพูดของ อิบนุฮะญัร อัลอัสกอลานีย์ ที่ถ่ายทอดถ้อยคำที่กล่าวถึง อิบนุ้ลมุนซิร ดังต่อไปนี้
وروايته عن الربيع عن الشافعي يحتمل أن تكون بطريق الإجازة وغاية ما فيه أنه تساهل في ذلك بإطلاق
“และการรายงานของเขาที่อ้างจากอัรรอเบียะอ์จากชาฟีอีนั้น เป็นไปได้ว่าเขารายงานในลักษณะ อิญาซะห์โดยมีจุดมุ่งหมาย โดยรวมว่าเขาไม่รอบคอบในเรื่องดังกล่าว” ลีซานุ้ลมีซาน (2/326)
โดยภาพรวมแล้ว อิบนุ้ลมุนซิร เป็นปราชญ์ที่น่าเชื่อถือและเป็นเจ้าของตำราหลายเล่ม แต่คำรายงานของเขาก็ต้องพิจารณาและตรวจสอบ และขอยืนยันว่า ไม่ใช่เราที่จะบังอาจไปรับรองหรือตรวจสอบปวงปราชญ์เหล่านั้น แต่เป็นเรื่องที่อุลามาอ์เขาว่ากันเอง
ส่วนกรณีของ อิบนุกุดามะห์ ตามที่เราได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้นั้น มีความคาดเคลื่อนในการแจงสถานะของท่าน แต่เรื่องที่อ้างถึงท่านเกี่ยวกับอิจามาอ์นั้นเรายังยืนยันตามเดิมดังนี้
อิบนุกุดามะห์ เจ้าของหนังสือ “อัลมุฆนีย์” เป็นปราช์ญของมัซฮับฮัมบาลี มีชื่อเต็มว่า อิมามมุวัฟฟะกุดดีน อิบนุกุดามะฮ์ อัลมักดิซีย์ตายที่นครดามัสกัสปีฮ.ศ. 620 ส่วนอิบนุกุดามะห์ อัลบัฆดาดีย์ มีฉายาว่า อบูญะอ์ฟัร อัลเญาฮะรีย์ อัลลุอ์ลุอีย์ ตายที่แบกแดดปี ฮ.ศ.237 เป็นคนละคนกัน
เรื่องนี้คือข้อผิดพลาดในการอ้างอิงตัวบุคคลซึ่งเราต้องยอมรับ และได้แก้ไขในต้นฉบับแล้ว ซึ่งความผิดพลาดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรายินดีและขอบคุณผู้ที่ท้วงติงมา ณ ที่นี้ และเราก็ยืนยันว่า เราไม่ใช่ผู้ดึงดันในสัจธรรมที่ยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่โดยไม่ยอมรับฟัง ข้อเท็จจริงจากผู้ใด หรือไม่ยอมรับการเห็นต่างในเรื่องอิจติฮาดียะห์ และไม่ใช่เราที่คิดเอาเองแล้วเอาความคิดของตนเองไปฮุก่มคนอื่น และไม่ใช่เราที่ถูกท้วงติงว่าเข้าใจผิดแล้วนิ่งเงียบไม่ยอมชี้แจงใดๆ หรือเอาตัวรอดโดยกล่าวว่า ไม่ได้ว่าใคร หรือกล่าวหาผู้อื่นว่า ร้อนตัวไปเอง เราไม่ใช่คนขี้ขลาดที่ลอยตัวเหนือปัญหาที่ไม่กล้ารับผิดชอบถ้อยคำของตนเอง เรื่องของความผิดพลาดนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่เรื่องเสียหน้า
แต่ในกรณีการกล่าวอ้างอิจมาอ์ของอิบนุกุดามะห์ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว เราก็ยังยืนยันตามเดิมว่ามันคือข้อผิดพลาดดังข้อความที่อิบนุกุดามะห์ได้ กล่าวว่า
لأنه إجماع المسلمين، فإنهم في كل عصر ومصر يجتمعون ويقرأون القرآن ويهدون ثوابه إلى موتاهم من غير نكير
“เนื่องจากเป็นมติเอกฉันท์ของบรรดามุสลิม โดยที่พวกเขาในแต่ละยุคแต่ละถิ่นต่างก็รวมตัวกันอ่านอัลกุรอานแล้วอุทิศผล บุญของการอ่านให้แก่ผู้ตายโดยที่ไม่มีข้อรังเกียจแต่อย่างใด” อัลมุฆนี ของ อิบนิกุดามะห์ ญุซที่ 2 หน้าที่ 568
ข้อความข้างต้นนี้คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ผู้ฝักใฝ่การอ่านอัลกุรอานแล้ว อุทิศผลบุญให้ผู้ตายนำไปกล่าวอ้าง ซึ่งตรวจสอบได้จากบทความทั้งไทยและเทศ ที่สำคัญก็คือ อิบนุกุดามะห์ไม่ได้อ้างว่าเป็นอิจมาอ์เฉพาะอุลามาอ์เท่านั้นแต่อ้างว่าเป็น อิจมาอ์ของมวลมุสลิมทั้งหมด
แต่โดยความเป็นจริง เรื่องนี้นอกจากจะไม่ใช่อิจามาอ์แล้วยังมีคิลาฟในระดับมัซฮับ เช่นมัซฮับมาลิกี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มัซฮับชาฟีอี ซึ่งท่านอิหม่ามนะวาวีย์ยืนยันว่า
قال الإمام النووي: "والمشهور في مذهبنا -أي مذهب الشافعي- أن قراءة القرآن للميت لا يصله ثوابها." وقال جماعة من أصحابنا: يصله ثوابها. وبه قال أحمد بن حنبل
“อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวว่า : เป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลายในมัซฮับของเรา – หมายถึงมัซฮับชาฟีอี- แท้จริงการอ่านอัลกุรอานให้แก่ผู้ตายนั้นผลบุญของมันไม่ถึงผู้ตาย แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งในมัซฮับของเรากล่าวว่า : ผลบุญถึงผู้ตาย และอิหม่ามอะห์หมัดก็กล่าวไว้เช่นนี้” ศอเฮียะห์มุสลิมโดยการอธิบายของอิหม่ามนะวาวีย์ ญุซที่ 7 หน้าที่ 90
หรือท่านจะให้การรับรองว่าเป็นอิจมาอ์จริงตามที่อิบนุกุดามะห์ได้กล่าวอ้าง ดังคำยืนยันของท่านที่ว่า“อิจมาอ์คืออิจมาอ์ อย่าบิดพลิ้ว” ถ้าเช่นนั้นแล้วท่านจะปฏิเสธและสวนอิจมาอ์อยู่ทำไมเล่า และหากท่านยืนยันว่ามันคืออิจมาอ์จริงๆ ก็ขอให้ท่านแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าท่านได้เปลี่ยนจุดยืนแล้ว โดยยอมรับว่า การอ่านอัลกุรอานแล้วอุทิศผลบุญให้คนตายเป็นเรื่องที่ศาสนาสนับสนุนให้กระทำ เพราะมีอิจมาอ์ของอิบนุกุดามะห์รับรอง จะเอาอย่างนั้นหรือ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=347285445472809&id=100005740689770