ค้าขายมีแต่กำไรคือดอกเบี้ยจริงหรือ
การค้าขายที่มีแต่กำไร แต่ไม่มีทางขาดทุน ก็คือดอกเบี้ย
จริงหรือเปล่าครับ อาจารย์ ช่วยชี้แจงหน่อยครับ
มีพี่น้องได้ฝากคำถามไว้ตามข้อความข้างต้นนี้ และผมรับปากว่าจะชี้แจงให้โดยเขียนเป็นบทความเพราะมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยยืดยาว
แรกๆก็ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของวาทะที่นำมาถามข้างต้นนี้ จนกระทั่งได้อ่านข้อความที่หลายท่านได้โพ้สต่อด้านล่าง จึงเข้าใจว่า วัตถุประสงค์ของวาทะนี้ต้องการชี้ประเด็นถึงการจัดโต๊ะจีนนั่นเอง
ขณะเดียวกันก็มีผู้โพ้สด้วยข้อความร้องขอว่า “ขอเป็นข้อเขียนวิชาการครับ จะได้เห็นหลักฐานทางวิชาการตามแนวทางซะลัฟน่ะครับ ถ้าแนวทางอื่น ผมคงอาจจะไม่รับที่จะศึกษา”
ความจริงการประกาศจะยึดแนวทางของชาวสะลัฟนั้นเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าจะยึดเรื่องใดและอย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นความสะเปะสะปะและเกิดความอลหม่านในสังคมได้ เนื่องจากท่านนบีสอนให้เราจำแนกเรื่องศาสนากับเรื่องดุนยาดังนี้
إنْ كانَ شَيْئًا مِنْ أمْرِ دُنْيَاكُمْ فَشَأْنُكُمْ بِهِ وَإنْ كَانَ مِنْ أُمُوْرِدِيْنِكُمْ فَإِلَيَّ
“หากว่า เรื่องใดก็ตามที่เป็นเกี่ยวกับดุนยาของพวกเจ้า มันเป็นภารกิจของพวกเจ้าในเรื่องนั้น แต่หากเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องศาสนาของพวกเจ้าก็จงกลับมาที่ฉัน” สุนันอิบนิมาญะห์ ฮะดีษเลขที่ 2462 และมุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 12086
และจากข้อความข้างต้นนี้จึงเป็นที่มาของพื้นฐานหลักนิติศาสตร์อิสลามมีดังนี้
الأصل فى العادات الإباحة
“พื้นฐานของกิจทั่วไปคือการอนุมัติ”
الأصل فى العبادات التحريم
“พื้นฐานของอิบาดะห์ทั้งหลายคือการห้าม”
เพราะฉะนั้นการยึดถือแนวทางของชาวสะลัฟเป็นสิ่งที่เรามิอาจละเลยโดยเฉพาะใน เรื่อง อะกีดะห์ และ เรื่อง อิบาดะห์ ส่วนในภาค มุอามาลาตนั้น เป็นสิ่งที่ศาสนาเปิดโอกาสให้กระทำได้ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานห้าม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะละเลยแนวทางของชาวสะลัฟในเรื่องมุอามาลาตนี้ เพราะหากเรื่องใดที่มีแนวทางของพวกเขาเป็นต้นแบบอยู่แล้ว เราก็พร้อมที่จะดำเนินตาม แต่หากเรื่องนั้นไม่มีแนวทางจากพวกเขาเราก็ต้องพิจารณาจากการวินิจฉัยของ บรรดาอุลามาอ์ในยุคหลัง ขอย้ำว่า บรรดาอุลามาอ์ ไม่ใช่เราเองที่จะฟัตวาออกฮุก่มกันเอง หรือวางกฎเกณฑ์ทางศาสนากันเอง
หากจะถามถึงข้อความที่ว่า “การค้าขายที่มีแต่กำไร แต่ไม่มีทางขาดทุน ก็คือดอกเบี้ย” แน่นอนว่าถ้อยคำนี้ไม่ใช่ทั้งอัลกุรอานและฮะดีษ หรือถ้อยคำของปราชญ์ในยุคสะลัฟท่านใด บอกตามตรงว่าเราไม่เคยได้ยินปราชญ์สะลัฟท่านใดกล่าวไว้ด้วยข้อความเช่นนี้ เลย ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะยึดถือข้อความนี้เป็นกฏเกณฑ์ ของศาสนาหรือ
ในทางตรงกันข้ามคนที่ไม่เข้าใจระบบการค้าก็จะมองไม่ออกถึงปัจจัยและตัวแปร ของการทำการค้า ดังนั้นเวลาจะลงทุนทำการค้าใดๆก็จะคิดแต่ต้นทุนกับราคาขายเมื่อหักลบกันแล้ว เห็นว่ามีกำไรก็จะลงมือทำโดยทันที แต่ไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวแปรอื่นๆ ที่นำมาซึ่งการขาดทุน ทำให้หลายคนลองทำแล้วเข็ดขยาดไม่กล้าลงทุนอีกต่อไป ดังนั้นจึงจะขอชี้ถึงปัจจัยและตัวแปรทางการค้าให้เห็นเป็นสังเขปดังนี้
หากท่านเป็นพ่อค้าและต้องการจะลงทุนค้าขายสินค้าใด ก็จะต้องวิเคราะห์การตลาดให้ออก เพราะนอกจากจะพิจารณาถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงวัตถุดิบที่มีราคาขึ้นลงตามตลาด ค่าใช้จ่ายในกระบวรการผลิต และปัจจัยที่เป็นตัวแปร เช่น งบการตลาด การบริการ ทำเล ที่จอดรถ เทศกาลและฤดูกาล เหล่านี้เป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น
ขอยกตัวอย่างเรื่องที่จอดรถสักนิดหนึ่ง เพราะปัจจุบันได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญของคนทำการค้าไปแล้ว เพราะบางครั้งลูกค้าต้องการซื้อสินค้าแต่หาที่จอดรถไม่ได้ก็ต้องขับเลยไป ซื้อที่อื่น ถ้าจะจอดตรงนั้นก็กลัวโดนตำรวจจับปรับ หรือล็อกล้อ ถ้าจะจอดในที่ที่จัดให้ก็ต้องเสียค่าจอดเป็นรายชั่วโมงซึ่งไม่คุ้มกับการแวะ ซื้อ และถ้าต้องขับรถไปหาที่จอดไกลๆ ก็เป็นห่วงรถอีก นี่คือการเสียโอกาสของผู้ทำการค้า
หรือช่วงเทศกาลมหกรรมสินค้าลดแลกแจกแถมที่พ่อค้ารายใหญ่ดึงลูกค้าไปหมด หรือเทศกาลงานประจำปีที่คนแห่ออกต่างจังหวัดกันหมด หรือช่วงฤดูฝนที่คนไม่ออกมาจับจ่าย เหล่านี้คือตัวแปรที่ต้องคำนึงทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้ขายอาหารหรือขายของสด
แต่ที่แปลกก็คือ คนทำการค้าหลายคนมักลืมนึกถึงค่าแรงงานและค่าใช้จ่ายของตัวเองเช่น ค่ารถ ค่าอาหาร ที่จ่ายไปทั้งๆที่มันคือต้นทุนของการค้า
หากท่านเป็นผู้ส่งออก นอกจากปัญหาการขนส่งที่ล่าช้าไม่ตรงกำหนด จากการจองเที่ยวบินไม่ได้ หรือตู้คอนเทนเนอร์เต็ม หรือสินค้าไม่ตรงเสป๊กถูกตีกลับแล้ว สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องคำนึงให้มากที่สุดคือ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เพราะท่านสั่งผลิตสินค้าในประเทศด้วยการชำระเป็นเงินบาทไทย แต่ตกลงราคาสินค้ากับลูกค้าเป็นเงินสกุลดอลลาร์ เมื่อลูกค้าโอนเงินชำระค่าสินค้าแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะโอนเงินเข้าบัญชีท่านเป็นเงินสกุลบาท โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ณ วันที่เงินโอนมาถึง และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินนี้จะไม่คงที่ แต่จะขึ้นลงตลอด และหากท่านไม่ประเมินอัตราแลกเปลี่ยนหรือประเมินผิดก็จะเสี่ยงที่จะกำไร ขาดทุน หรือเสมอตัว
และถ้าจะกล่าวถึงการจัดโต๊ะจีนโดยเฉพาะดั่งตัวอย่างที่โพ้สไว้ในกระทู้ แล้วกล่าวว่า การจัดโต๊ะจีนมีแต่กำไรอย่างเดียว ก็ต้องบอกให้เข้าใจว่า การจัดโต๊ะจีนมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลายอย่างด้วยกัน เช่น ศักยภาพของผู้จัด การประเมินลูกค้า กิจกรรมที่เป็นที่เป็นจุดขาย ฤดูกาลงานและฤดูกาล เป็นต้น
คำว่าศักยภาพของผู้จัดนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดโต๊ะจีน โดยเฉพาะถ้าเป็นการจัดหารายได้เพื่อการกุศล คณะกรรมการก็จะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นประธานจัดงาน พูดตรงๆว่า ส่วนใหญ่จะคัดเลือกคนมีชื่อเสียงในสังคมเพื่อดึงดูดมวลชน หรือคนทุนหนาเพื่อรองรับสภาวะขาดทุน เพราะบางที่ต้องการจัดโต๊ะจีนสัก 100 โต๊ะแต่มีผู้ร่วมงานไม่ถึงครึ่งต้องประสบกับภาวะขาดทุนก็มี ดังนั้นศักยภาพขององค์กรหรือศักยภาพของประธานจัดงานจึงเป็นตัวประเมินวัดผู้ ร่วมงานได้เป็นอย่างดี
คำว่ากิจกรรมที่เป็นจุดขาย แน่นอนว่ากิจกรรมบนเวทีจะดึงดูดความสนใจแก่ผู้ร่วมงานได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าเป็นการบรรยายนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหัวข้อและวิทยาที่จะบรรยายด้วย
คำว่าฤดูงานและฤดูกาล ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ที่ผู้จัดโต๊ะจีนต้องคำนึ่งให้มาก ฤดูงานนั้น บางครั้งกำหนดจัดงานของแต่ละที่ก็ตรงกันและเมื่องานชนกัน ผู้คนก็จะเลือกว่าจะไปร่วมงานไหน เป็นตัวแปรอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้ร่วมงานมากหรือลดน้อยลงไป ส่วนคำว่าฤดูกาลนั้นคือสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้ยาก ณ เวลานี้ ถ้าจัดงานแล้วฝนตก คนก็ไม่อยากออกไปเผชิญกับความเฉอะแฉะ นอกจากที่เป็นแฟนพันธ์แท้กันจริงๆ
หรือแม้กระทั่งที่จอดรถในบริเวณงาน ใกล้หรือไกล ปลอดภัยไหม คือสิ่งที่เจ้าภาพต้องคำนึง บางคนอยากไปร่วมงานแต่ไม่มีที่จอดรถหรือที่จอดรถไม่สะดวกก็ทำให้ผู้ร่วมงาน ลดจำนวนลงได้เหมือนกัน
ที่กล่าวเป็นสังเขปนี้ คงจะทำให้ท่านได้มองภาพออกได้บ้าง เหมือนดั่งเช่นการจัดงานของโรงเรียนอนุรักษ์มรดกอิสลามที่ผ่านมา ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีผู้ที่รับบัตรไปแต่ไม่มาร่วมงานและไม่ได้ชำระเงินก็มี นอกจากผู้ที่จัดโต๊ะจีนแล้วขายบัตรโดยเก็บเงินล่วงหน้า และไม่รับผิดชอบใดๆต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เราไม่ได้ทำเช่นนั้น
หรือหากจะกล่าวดั่งตัวอย่างที่แสดงไว้ในกระทู้ว่า นาย B ซื้ออาหารจากนาย A แล้วนำไปขายต่อให้นาย C D E ซึ่งนาย B ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆเลยมีแต่กำไรอย่างเดียว
ตัวอย่างที่แสดงนี้พิจารณาได้เป็นสองกรณีคือ 1. นาย B เป็นผู้สั่งทำอาหาร 2. นาย B เป็นผู้ซื้ออาหาร
ในกรณีที่นาย B เป็นผู้สั่งทำอาหารไม่ว่าจะเป็นการจ้างเหมาทั้งค่าของและค่าแรงหรือจ้างค่า แรงอย่างเดียวก็ตาม ความรับผิดชอบของนาย B มีสองทางในฐานะผู้จ้างและในฐานะผู้ขาย คือ ข้อตกลงระหว่างนาย B กับผู้รับจ้างทำอาหาร และข้อตกลงระหว่างนาย B กับผู้ซื้ออาหาร เพราะฉะนั้นนาย B จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
แต่ถ้ากล่าวว่านาย B คือผู้ซื้ออาหารล่วงหน้าแล้วนำไปขาย ก็จะพบว่านาย B ต้องเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระและเผชิญกับความเสี่ยงมากที่สุด เพราะหากเป็นการซื้อขายล่วงหน้า นาย B จะต้องจ่ายค่าอาหารทั้งหมดในวันทำสัญญา และถ้าเกิดน้ำท่วมหรือไฟไหม้ เงินที่ลงทุนไปจะได้รับคืนหรือป่าวยังไม่รู้
เหมือนดั่งที่เรากล่าวไว้ข้างต้นว่า คนที่ไม่เข้าใจระบบการค้าจะมองไม่มองถึงปัจจัยและตัวแปรในทางการค้า อย่าว่าแต่การค้าขายที่ต้องเผชิญกับภาวะ กำไร ขาดทุน หรือเสมอตัวเลย แม้กระทั่งผู้ที่ทำธุรกรรมด้านดอกเบี้ยโดยตรงยังต้องประสบกับภาวะเสี่ยงและ การขาดทุน ท่านอาจงุนงงกับคำพูดของผมนี้ ถ้าเช่นนั้นเราลองมาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ทำธุรกิจดอกเบี้ยดังนี้
หากท่านเป็นผู้ติดตามข่าวเศษฐกิจโลก คงจะทราบข่าววิกฤติเศษฐกิจในอเมริกาทำให้สถาบันการเงินล้มระเนระนาด จนกระทั่งต้องนำเงินจากสหภาพยุโรปมาค้ำไว้
มูลเหตุที่เกิดขึ้นมีที่จากการที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ มากเกินลิมิต จนกลายเป็นหนี้เน่า คือผู้กู้ไม่นำส่งหรือส่งยอดกู้ไม่เป็นไปตามกำหนดไม่เพียงพอวงเงินที่จะนำมา หมุนในระบบ ขณะที่เงินฝากก็มีปริมาณต่ำ ถ้าเปรียบกับร่างกายของมนุษย์ก็ประหนึ่งว่าเลือดไหลออกจากตัวไม่หยุด มีแต่ออกอย่างเดียวไม่มีเข้า ทำให้ต้องล้มทั้งยืน
หรือเหมือนอย่างที่ประเทศไทยเคยประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งถือเป็นการล่าอณานิคมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ที่ประเทศไทยเดินเข้าสู่กับดักโดยไม่รู้ตัว เงินทุนต่างชาติทะลักเข้าไทยล้นเหลือ เมกกะโปรเจกขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ธนาคารปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์โดยไม่อั้น และจากการลงทุนเกินตัวนี่เอง ที่ทำให้เราต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ถูกโจมตีค่าเงินบาทจนต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว ลุกลามถึงสถาบันการเงินหลายแห่งต้องล้มครึน และบางแห่งต้องถูกควบรวมกิจการ แล้วนายทุนต่างชาติมาช้อนซื้อไปในราคาถูกๆ เช่นธนาคารศรีนคร เป็นต้น ตั้งแต่เหตุการณ์โจมตีค่าเงินบาทและผลสืบเนื่องเรื่อยมา ทำให้คนไทยได้รู้จักบทบาทของ สถาบันการเงินระหว่างประเทศและพ่อมดในวงการเงินโลกอย่างนาย จอรส์ โซรอส
หากท่านยังไม่เห็นภาพว่า ผู้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยว่าเขาประสบกับภาวะเสี่ยงและขาดทุนอย่างไร ก็พูดให้ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อยเพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนก็คือ การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินต้องเสี่ยงกับภาวะหนี้เน่า ฉะนั้นธนาคารและสถาบันการเงินจึงต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงเช่น การพิจารณาตัวผู้กู้และหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน
การพิจารณาตัวผู้กู้นี้ จะพิจารณาอายุของผู้กู้เพื่อให้รู้ว่ายังมีอายุงานเหลืออีกกี่ปี มีรายได้ต่อเดือนมั่นคงไหม ฉะนั้นธนาคารจึงต้องเรียกเอกสารการรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากย้อนหลังหกเดือน
ส่วนการพิจารณาถึงหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกัน หากเป็นที่ดิน ธนาคารก็จะมีฝ่ายประเมินราคาของตนเอง ซึ่งไม่ใช่พนักงานกรมที่ดิน หลังจากนั้นธนาคารจะอนุมัติวงเงินเพียง 70 เปอร์เซ็นของราคาที่ฝ่ายประเมินแจ้งเท่านั้น แม้ธนาคารจะวางมาตรการลดความเสี่ยงแล้ว แต่ก็ยังมีหนี้เน่าที่ถูกขายออกในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
หรือการปล่อยกู้ของบริษัทไฟแนนซ์ก็ทำนองเดียวกัน นอกจากจะพิจารณาถึงสถานภาพของผู้กู้แล้ว ยังต้องมีคนคำประกัน และรถที่จะขออนุมัติวงเงินจะต้องเป็นรถที่มีอายุจดทะเบียนในประเทศไทยไม่ เกิน 7 ปีอย่างนี้เป็นต้น
ที่ยกตัวอย่างเรื่องธนาคารและไฟแนนซ์มามิใช่เพื่อให้ท่านไปทำธุรกรรมกับเขา แต่เพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่า การทำธุกรรมด้านดอกเบี้ยก็ประสบกับภาวะเสี่ยงและการขาดทุนได้เหมือนกัน ที่สำคัญ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
يَمْحَقُ اللهُ الرِّبَا وَيُرْبِي الصَّدَقَاتِ وَاللهُ لاَ يُحِبُّ كُلَّ كَفَّارٍ أَثِيْمٍ
“อัลลอฮ์จะทรงทำให้ดอกเบี้ยล่มสลาย และจะทรงทำให้การบริจาคทั้งหลายเพิ่มพูนขึ้น และอัลลอฮ์ไม่ชอบทุกคนที่เป็นผู้เนรคุณและผู้กระทำบาป” อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 276
อีกตัวบทหนึ่งที่ยกมาแสดงคือคำรายงานเรื่อง “ศิก๊าก” หรือ “ศุกู๊ก” คือ
“มีรายจากสุไลมาน อิบนุ ยะซารว่า “บัตรหรือตั๋ว (แลกอาหาร) ของพ่อค้าปรากฏขึ้น โดยพวกพ่อค้าขออนุญาตท่านมัรวาน (เจ้าเมืองมะดีนะห์) ขายบัตรหรือตั๋วดังกล่าว ท่านมัรวานก็ได้อนุมัติให้ขายบัตรหรือตั๋วดังกล่าว ท่านอะบูฮุรอยเราะห์จึงเข้าพบเขาและกล่าวแก่เขาว่า “ท่านอนุญาตให้ขายลักษณะดอกเบี้ย ที่จริงแล้วท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามซื้ออาหารแล้วนำไปขายหากยังมิได้ (รับอาหารนั้น) มาอย่างครบถ้วน” ฉันเห็นท่านมัรวานส่งเจ้าหน้าที่ไปริบเก็บตั๋วจากมือของผู้ไม่เดือดร้อน (มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด เล่ม 14 หน้า 101 ฮะดีษที่ 8365 / อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)
เราได้เคยชี้แจงเรื่องนี้กันไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีการนำมาอ้างแบบไม่ตรงเรื่องตรงประเด็นกันอีก จึงขอชี้แจงให้ทราบอีกครั้งดังนี้
คำว่า ศิก๊าก ตามที่ระบุอยู่ในฮะดีษนั้น บรรดานักวิชาการฮะดีษได้อธิบายความไว้หลายท่านด้วยกัน แต่เราจะนำมาให้เห็นสักสองท่านก็คงจะพอ คือ อิหม่ามนะวาวี และ มุบาร๊อกฟูรีย์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้คือผู้อธิบายฮะดีษศอเฮียะห์มุสลิม
อิหม่ามนะวาวี กล่าวว่า : “ความหมายของคำว่าศิก๊าก ณ.ที่นี้คือ เอกสารที่ผู้มีอำนาจรัฐออกให้แก่ผู้สมควรได้รับอุปโภค,บริโภค โดยที่จะถูกเขียนว่าเป็นสิทธิ์แก่ผู้ใดในเรื่องนั้นๆ จากอาหารและอื่นๆ แล้วผู้ที่ได้รับมันมาก็ขายต่อให้คนอื่นก่อนที่จะได้ครอบครองมัน” (อธิบายศอเฮียะห์มุสลิม โดยอิหม่ามนะวาวี ญุซที่ 10 หน้าที่ 162)
มุบาร็อกฟูรี อธิบายว่า “มันคือเอกสารทางการที่ผู้มีอำนาจรัฐหรือตัวแทนออกให้แก่คนใดที่อยู่ภายใต้ การปกครองในกิจการต่างๆ และเป้าหมายของ ศิก๊าก ณ.ที่นี้คือ เอกสารที่ทางรัฐภายใต้การปกครองของราชวงศ์มุอาวียะห์ได้จ่ายให้แก่ประชาชน ที่สมควรจะได้รับเพื่อแลกอาหาร”
เพราะฉะนั้นการที่ท่านเอาบัตรโต๊ะจีนไปเปรียบกับ “ศิก๊าก” จึงเป็นการเปรียบที่ผิดมหันต์ เนื่องจาก
1 – ศิก๊าก หรือ ศูกู๊ก คือเอกสารที่รัฐออกให้แก่ประชาชน แต่บัตรโต๊ะจีนคือผู้มีสิทธ์หรือผู้ครอบครองอาหารเป็นผู้ออก
2 – กศิก๊าก หรือ ศูกู๊ก คือคือเอกสารที่รัฐออกให้แก่ประชาชนแบบให้เปล่าเพื่อแลกอาหารและ อุปโภค/บริโภค แต่บัตรโต๊ะจีนมิได้เป็นการให้เปล่า
มุบาร๊อกฟูรี อธิบายต่อว่า “แต่ประชาชนรีบร้อนเอามันไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน ก่อนที่จะถึงกำหนดรับอาหาร แล้วผู้ที่ซื้อไปก็เอาไปขายต่อโดยบวกกำไรเพิ่ม” (มินนะตุ้ลมุนอิม ญุชที่ 41 หน้าที่ 14)
ประเด็นที่มุบาร๊อกฟูรี อธิบายนี้ มีที่มาจากคำรายงานของอิหม่ามมาลิก ในมุวัตเฏาะอ์ ดังนี้
فَقَالاَ هَذِهِ الصُكُوْكُ تَبَايَعَهَا النَّاسُ ثُمَّ بَاعُوْهَا قَبْلَ أن يَسْتَوْفُوْهَا
“ศอฮะบาะห์ทั้งสอง (อบูฮุรอยเราะห์และเซด บิน อัรกอม) กล่าวว่า ผู้คนต่างก็เอาตั๋วเงินนี้ไปขาย ซึ่งพวกเขาได้ขายมันก่อนที่จะได้รับมันอย่างครบถ้วน”
และเหตุที่อบูฮุรอยเราะห์กล่าวว่า เป็นการขายดอกเบี้ย หรือการขายที่มีดอกเบี้ยนั้น มุบาร็อกฟูรี อธิบายว่า
“อบูฮุรอยเราะห์เรียกว่า นี่คือการขายที่มีดอกเบี้ย ก็เพราะตั๋วเงิน ณ.ที่เขานั้นไม่ใช่อาหารและไม่ใช่สินค้า แต่มันคือหลักประกันเพื่อแลกอาหาร โดยผู้ที่ซื้อมาในราคา 100 ดิรฮัม ก็เอาไปขายต่อในราคา 120 ดิรฮัม โดยที่เขายังไม่ได้รับมอบอาหารนั้นหรือแม้แต่เพียงบางส่วนก็ตาม ฉะนั้นการซื้อ 100 ดิรฮัม แล้วเอาไปขายต่อ 120 ดิรฮัม มันคือดอกเบี้ย อย่างนี้แหละที่อบูฮุรอยเราะห์เรียกมันว่าดอกเบี้ย” (มินนะตุ้ลมุนอิม ญุชที่ 41 หน้าที่ 15)
จากการอธิบายของ มุบาร๊อกฟูรี ว่า ศิก๊าก หรือ ตั๋วเงินที่ภาครัฐออกให้ประชาชนนั้นตัวของมันไม่ใช่ดอกเบี้ย แต่การเอาไปขายช่วงต่อโดยเพิ่มราคา หรือบวกกำไรนั้นเป็นดอกเบี้ย
คำชี้แจงนี้ชี้ให้เห็นว่า มีการนำเอกสารราชการที่ได้เปล่าไปขายต่อ และเราก็เชื่อว่าสถาบัน องค์กรใดที่จัดงานการกุศลในรูปแบบโต๊ะจีนนั้นก็คงไม่ยอมเป็นแน่แท้ หากมีการนำบัตรโต๊ะจีนไปปั่นราคาสร้างกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่เราก็ยังไม่พบว่าในสังคมมุสลิมของเราเกิดเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้
และสมมุติว่า ท่านพยายามที่จะทำให้บัตรโต๊ะจีนเป็น “ศิก๊าก” ให้ได้ เราก็พบข้อขัดแย้งของนักวิชาการในประเด็นของการขายตกทอดดังนี้
มุบาร๊อกฟูรี กล่าวว่า ในเรื่องนี้บรรดานักวิชาการมีมุมมองที่ต่างกันในการอนุญาตให้ขาย “ศิก๊าก”
ท่านอิหม่ามนะวาวี กล่าวว่า ที่ถูกต้องในหมู่นักวิชาการของเรา (มัซฮับซาฟีอี) และคนอื่นๆ ถือว่าอนุญาตให้ขายได้ แต่ผู้ที่ไม่อนุญาตให้ขายนั้นก็พิจารณาจากถ้อยคำของอะบูฮุรอยเราะห์ที่ปรากฏ ในฮะดีษแล้วนำไปเป็นหลักฐาน
ส่วนผู้ที่กล่าวว่า อนุญาตนั้นก็พิจารณาจากประเด็นของการขายให้แก่บุคคลที่สาม คือบุคคลที่สองขายให้แก่บุคคลที่สาม ไม่ใช่การขายของบุคคลแรก
แต่เราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้รู้ของเราบางคนจึงยังคงนำฮะดีษบทนี้ไปชี้ประเด็นเรื่องการขายบัตร โต๊ะจีนว่าเป็นดอกเบี้ย โดยไม่ฟังคำอธิบายของอุลามาอ์ตัวจริงเช่น ท่านอิหม่ามนะวาวีหรือท่านมุบาร๊อกฟูรีย์
อย่างไรก็ตามถ้อยคำที่ว่า “การค้าขายที่มีแต่กำไร แต่ไม่มีทางขาดทุน ก็คือดอกเบี้ย” จึงไม่ใช่เป็นบทบัญญัติหรือหลักเกณฑ์ของศาสนา และไม่ใช่ข้อเท็จจริงของการทำการค้า
แม้ว่าการทำการค้าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะกำไรหรือขาดทุน แต่ถ้าท่านวิเคราะห์, วางแผน พร้อมทั้งมีการจัดการที่ดี และการค้าขายของท่านไม่เคยประสบกับการขาดทุนเลย ทรัพย์ที่ท่านได้มันก็คือริสกีที่ฮะล้าลไม่ใช่ดอกเบี้ย อย่าวิตกกังวลเลย