คำถามที่ 1


อาจารย์ชี้แจงธุรกรรมสองฝ่ายกับสามฝ่ายหน่อย ไม่เข้าใจอะครับ

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=352994031568617&id=100005740689770

คำตอบ

ธุรกรรมสามฝ่ายตามที่เขากล่าวคือ “โต๊ะจีนต้องมีคู่สัญญา 3 ฝ่าย คือฝ่ายที่หนึ่งคือผู้ค้าโต๊ะจีน(ผู้ว่าจ้างทำอาหาร) ฝ่ายที่สองคือผู้ทำโต๊ะจีน (ผู้รับจ้างทำอาหาร) และฝ่ายที่สามคือผู้ซื้อโต๊ะจีน( ผู้ซื้อบัตรหรือตั๋วเพื่อทานอาหาร)”

ถ้ามองโดยผิวเผินแล้วก็อาจจะเข้าใจว่าสามฝ่ายที่แสดงข้างต้นนี้คือข้อเท็จจริงของการจัดโต๊ะจีน แต่โดยความเป็นจริงแล้วทั้งสามฝ่ายที่กล่าวนี้ไม่ได้ร่วมในสัญญาเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่รับทำอาหารโต๊ะจีนเช่น ฮัจญีอามีน จำปาทอง เจ้าของธุรกิจ อามีนบริการ เขาก็ยืนยันว่า เขาทำธุรกิจโต๊ะจีนมา 20 ปี ไม่เคยทำโต๊ะจีนในลักษณะธุรกรรม 3 ฝ่ายเลย

https://www.youtube.com/watch?v=EDXmqMppwas

และเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่าสามฝ่ายไม่ได้เกี่ยวข้องในสัญญาเดียวกัน ขออธิบายดังนี้

ฝ่ายที่ 1 ผู้รับทำอาหาร
ฝ่ายที่ 2 ผู้จัดหรือผู้สั่งทำอาหาร
ฝ่ายที่ 3 ผู้ซื้อ

ทั้งสามฝ่ายนี้ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายร่วมกัน กล่าวคือ ฝ่ายที่ 1 คือผู้รับทำอาหาร กับฝ่ายที่ 2 คือผู้สั่งทำอาหาร ได้ทำสัญญาร่วมกันในการสั่งทำอาหาร โดยฝ่ายที่ 3 คือผู้ซื้อไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้ในข้อสัญญาใดๆ และเมื่อผู้รับทำอาหารได้ส่งมอบอาหารที่สั่ง เขาก็ส่งมอบให้กับผู้สั่งและเก็บเงินค่าอาหารจากผู้สั่ง โดยไม่ได้ไปเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อหรือผู้ประรับทานอาหารแต่อย่างใด และเมื่อเกิดความเสียหายไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ฝ่ายที่ 1 กับฝ่ายที่ 3 ก็ไม่สิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายใดๆต่อกัน เพราะเขาทั้งไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง

เพราะฉะนั้นที่กล่าวนี้คือ สัญญา 2 ฝ่ายระหว่างผู้สั่งทำอาหารกับผู้รับทำอาหารเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่า “อัลอิสติศนาอ์” คือการสั่งทำหรือสั่งผลิตนั่นเอง

ท่านอาจจะสงสัยและถามว่า แล้วฝ่ายที่ 3 หรือผู้ซื้อมาเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมกับธุรกรรมจัดโต๊ะจีนตรงไหน อย่างไร

คำตอบคือ ระหว่างผู้จัดหรือผู้สั่งทำอาหารกับผู้ซื้อนั้นได้ตกลงซื้อขายกันในอีกหนึ่งสัญญา (ไม่ว่าด้วยวิธีซื้อสดขายสด หรือซื้อขายล่วงหน้า) ที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้รับทำอาหาร

เมื่อผู้ซื้อชำระเงินค่าอาหารก็ชำระกับผู้จัดหรือผู้สั่งทำอาหารไม่ได้ชำระกับผู้รับทำอาหาร และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ซื้อก็เรียกร้องสิทธิ์จากผู้จัดหรือผู้สั่งทำไม่ได้เรียกร้องกับผู้ทำอาหาร เนื่องระหว่างผู้ซื้อกับผู้ทำอาหารนั้นไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ได้ทำข้อตกลงใดๆร่วมกัน

ดังที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า โต๊ะจีนนั้นไม่ใช่ธุรกรรม 3 ฝ่ายในสัญญาเดียว แต่เป็นธุรกรรม 2 ฝ่าย 2 สัญญาดังนี้คือ

1. ระหว่างผู้จัดหรือผู้สั่งทำอาหารกับผู้รับทำอาหาร
2. ระหว่างผู้จัดกับผู้ซื้ออาหาร

ธุรกรรม 2 ฝ่าย 2 สัญญานี้เรียกว่า الاستصناع الموازي (อัลอิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์) คือ

สัญญาที่ 1 ระหว่างผู้จัดกับผู้รับทำอาหารคือ สัญญาจ้างทำอาหารเรียกว่า อิสติสนาอ์
สัญญาที่ 2 ระหว่างผู้จัดกับซื้อโต๊ะจีน ซึ่งไม่มีเงื่อนไขจำกัดว่าสัญญาที่สองนี้จะต้องเป็น อิสติศนาอ์ ด้วยก็ได้ หรืออาจจะเป็นการซื้อสดขายสดก็ได้ หรืออาจจะเป็นการซื้อขายล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับผู้จัดว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่เราย้ำว่า ไม่มีเงื่อนไขทางศาสนาระบุว่า สัญญาที่สองจะต้องเป็นอิสติศนาอ์เท่านั้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องมุอามาลาต ดังนั้นหากศาสนาไม่ได้ระบุเงื่อนไขไว้ เราก็อย่าระบุเงื่อนไขกันเอาเอง
อีกประการหนึ่งก็คือ ไม่มีเงื่อนไขทางศาสนาระบุว่า สัญญาคู่ขนานนี้จำเป็นต้องทำพร้อมกัน และไม่จำเป็นว่าสัญญาไหนต้องมาก่อนหรือมาทีหลัง

แต่ในเงื่อนไขของ อิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์ ที่สำคัญตามที่บรรดานักวิชาการได้ชี้แจงนั้นก็คือ จำเป็นที่สองสัญญานี้จะต้องแยกจากกันชัดเจน และหากสัญญาทั้งสองไม่แยกจากกันก็จะไม่ถือว่าเป็น อิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์ ในประเด็นนี้เป็นที่น่าดีใจว่า ผู้รู้ของเราเข้าใจตรงกัน จากข้อเขียนของท่านที่ว่า “ทั้งสองข้อตกลงแยกจากกันชัดเจน คือไม่เกี่ยวโยงในแง่ความรับผิดชอบใดๆ ในแต่ละคูสัญญาต้องรับผิดชอบในคู่สัญญานั้นๆ เท่านั้น”

แต่เราก็ไม่ทราบว่า เมื่อท่านยืนยันด้วยข้อเขียนของท่านเองว่า ทั้งสองสัญญาของอิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์จะต้องแยกจากกัน แล้วเหตุใดท่านจึงผูกขาดอยู่กับ 3 ฝ่ายที่ไม่แยกจากกันเล่า

เพราะบางท่านเข้าใจว่า จะเป็นอิสติศนาอ์ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ซื้อต้องสั่งผู้จัด แล้วผู้จัดก็ไปสั่งกับผู้รับทำอาหารอีกทีหนึ่ง ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นการเอา 3 ฝ่ายมารวมกันไม่ได้แยกจากกัน มันจึงไม่ใช่อัสติศนาอ์อัลมุวาซีย์ แต่มันเป็น อิสติศนาอ์ ซ้อน อิสติศนาอ์

ดังนั้นการจัดโต๊ะจีนคือ อิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์ ไม่ใช่อิสติศนาอ์ ซ้อน อิสติศนาอ์ อย่างที่บางท่านเข้าใจ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “หากท่านยังยึดติดอยู่กับทฤษฏีที่เป็นเท็จว่า โต๊ะจีนคือธุกรรม 3 ฝ่าย มันก็จะเป็นการยากในการเข้าใจข้อเท็จจริงและฮุก่มของโต๊ะจีน” เพราะจะพูดอย่างไร หรืออธิบายอย่างไรก็จะเอาไปวนกับทฤษฏี 3 ฝ่ายที่เป็นเท็จเหมือนเดิม