คำถามที่ 12
เอาหนี้ขายหนี้มันบาปนะครับท่านอาจารย์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=356289827905704&id=100005740689770
คำตอบ
อย่างไรหรือที่จะกล่าวว่าการจัดโต๊ะจีนคือการเอาหนี้ขายหนี้ เท่าที่ทราบ ผู้ที่ยกประเด็นนี้มาอ้างก็จะนำเอาฮะดีษเรื่อง “อัลกาลิอฺ” มาลากโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะลากถูกโยงผิดหรือเปล่านั้น เราลองไปดูตัวบทฮะดีษกันก่อนดังนี้
وَعَنِ اِبْنِ عُمَرَ - رضي الله عنهما -؛ "أَنَّ اَلنَّبِيَّ - صلى الله عليه وسلم - نَهَى عَنْ بَيْعِ اَلْكَالِئِ بِالْكَالِئِ، يَعْنِي: اَلدَّيْنَ بِالدَّيْنِ" رَوَاهُ إِسْحَاقُ، وَالْبَزَّارُ بِإِسْنَادٍ ضَعِيفٍ
รายงานจากอิบนิอุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมาว่า “แท้จริงท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามขาย อัลกาลิอ์ ด้วย อัลกาลิอ์ หมายถึงหนี้ด้วยหนี้” บันทึกโดย อิสหาก และอัลบัซซารด้วยสายรายงานที่ฏออีฟ
หมายเหตุ คำว่า “อัลกาลิอ์” ในทางภาษานั้นมีความหมายว่า เลื่อนออกไป หรือล่าช้า
ฮะดีษที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นฮะดีษฏออีฟ เนื่องจากผู้รายงานที่ชื่อ มูซาบิน อุบัยดะห์ เป็นผู้ที่ไม่มีใครยอมรับสถานะของเขา โดยท่านอิหม่ามอะห์หมัด กล่าวว่า
لا تحل الرواية عن موسى بن عبيدة عندي ولا أعرف هذا الحديث من غيره، فقيل له: إن شعبة يروي عنه؟ قال لو رأى شعبة ما رأينا منه لم يرو عنه"
“ไม่อนุญาตให้รายงานเรื่องราวจากมูซา บิน อุบัยดะห์ ณ ที่ฉัน และฉันก็ไม่รู้จักฮะดีษนี้นอกเหนือจากการรายงานของเขาเลย แต่มีผู้กล่าวกับอิหม่ามอะห์หมัดว่า : แล้วที่ชัวอ์บะห์ได้รายงานต่อจากเขาละ ? ท่านตอบว่า หากชัวอ์บะห์ได้เห็นอย่างที่เราเห็น เขาก็จะไม่รายงานจากมูซาเป็นอันขาด”
และท่านอิบนุตัยมียะห์, อิบนุฮะญัร และเชากานีย์ รวมถึงนักวิชาการคนอื่นๆก็ให้สถานะฏออีฟเช่นเดียวกัน
ในหนังสือ “บุลูฆุ้ลมะรอม” ได้อ้างคำของอิหม่ามอะห์หมัดว่า
ليس في هذا حديث يصح لكن إجماع الناس أنه لا يجوز بيع دين بدين
”แม้ว่าฮะดีษนี้จะไม่ศอเฮียะห์แต่ก็เป็นมติเอกฉันท์ของนักวิชาการว่า ไม่อนุญาตให้ขายหนี้ด้วยหนี้”
http://www.alukah.net/sharia/0/49441/#ixzz3YibqhpzG
قال ابن قدامة: "قال ابن المنذر: أجمع أهل العلم على أن بيع الدين بالدين لا يجوز، قال أحمد: إنما هو إجماع"
อิบนุกุดามะห์ กล่าวว่า อิบนุลมุนซิร กล่าวว่า บรรดานักวิชาการมีมติเอกฉันท์ในการขายหนี้ด้วยหนี้ว่า ไม่อนุญาต และอิหม่ามอะห์หมัด กล่าวว่า มันคืออิจมาอ์” อัลมุฆนี ของอิบนุกุดามะห์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 306
เมื่อเรื่องนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นอิจมาอ์แล้วไฉนเลยเราจะปฏิเสธ แต่ปัญหาก็คือ อย่างไรเล่าที่เรียกว่า ขายหนี้ด้วยหนี้ มันคืออะไร มีรูปแบบ หน้าตาเป็นอย่างไร เราลองดูคำชี้แจงดังต่อไปนี้
اتفق فقهاء المذاهب الأربعة والمذهب الظاهري على تحريم بيع الدين بالدين، ولم يختلفوا في ذلك إلا في بعض الصور التي يرى بعضهم أنها من باب بيع الدين بالدين، ويرى الآخرون أنها ليست منه، بمعنى أنهم اختلفوا في تحقيق المناط وليس في أصل التحريم
“บรรดานักวิชาการด้านฟิกฮ์ในมัซฮับทั้งสี่รวมถึงมัซฮับอัซศอฮิรี่ย์ด้วย ที่ห้ามการขายหนี้ด้วยหนี้ แต่พวกเขาก็มีประเด็นที่ขัดแย้งกันในรูปแบบของมัน ซึ่งบางคนมีทัศนะว่า มันอยู่ในบทที่ว่าด้วยเรื่องขายหนี้ด้วยหนี้ แต่คนอื่นๆ เห็นว่ามันไม่ใช่เป็นการขายหนี้ด้วยหนี้ ซึ่งหมายถึงพวกเขาได้ขัดแย้งกันในการวิเคราะห์ลักษณะของมันว่าตรงตามข้อห้าม หรือไม่” อัลฮิดายะห์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 74
ท่านเห็นไหมว่า บรรดานักวิชาการเขาไม่แย้งหรือคัดค้านอิจมาอ์ แต่เขาแย้งกันในการพิจารณาปัญหา เหมือนดั่งกรณีโต๊ะจีนที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ว่า เราไม่ได้ค้านอิจมาอ์แต่เราค้านการวินิจฉัยปัญหาของท่านว่ามันไม่ถูกต้อง และในกรณีขายหนี้ด้วยหนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่บรรดาอุลามาอ์เขามีมุมมองที่ต่างกันในการวิเคราะห์ปัญหา ดังนั้นอย่าได้กล่าวหาจาบจ้วงบรรดาอุลามาอ์เหล่านี้ว่า ปฏิเสธอิจมาอ์หรือสวนอิจมาอ์เป็นอันขาด
การวิเคราะห์ปัญหานี้แหละ คือประเด็นสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจว่า การมีผู้นำเอากรณีโต๊ะจีนไปเปรียบกับการขายหนี้ด้วยหนี้ มันเป็นการวิเคราะห์ถูกต้องไหม เพราะเป็นประเด็นของ “ตะฮ์กีกุ้ลมะนาฏ” ตามที่ท่านได้อ่านคำแถลงของนักวิชาการข้างต้น วิธีการก็ คือ เอาลักษณะของโต๊ะจีนเปรียบกับลักษณะการขายหนี้ด้วยหนี้ แต่จะเปรียบถูกหรือผิดเรามาดูกัน
ระหว่างผู้จัดกับผู้รับทำอาหารโต๊ะจีนนั้น ใครเป็นหนี้ใคร
คำตอบคือ เปล่าเลย ในเมื่อทั้งสองยังอยู่ในระหว่างสัญญา ก็ไม่ถือว่าเป็นหนี้และจะนำเรื่องบังคับคดีไม่ได้ นอกจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา จึงจะเกิดสภาวะหนี้ขึ้น เช่น
เมื่อครบสัญญาแล้วผู้รับทำอาหารไม่ส่งมอบอาหารตามที่สั่งจึงจะถือว่าผิดสัญญาและมีผลบังคับคดีตามฮุก่ม
หรือเมื่อครบสัญญาแล้วผู้จัดไม่รับมอบอาหารหรือไม่ชำระค่าอาหารตามที่สั่งจึงจะถือว่าผิดสัญญาและมีผลบังคับคดีตามฮุก่ม
แต่ตราบใดที่ทั้งสองยังอยู่ในสัญญาก็ไม่ถือว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นหนี้และไม่สามารถบังคับคดีได้ตามฮุก่ม
เคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นสักครั้งไหม ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา จนเกิดสภาวะหนี้แล้วนำเอาไปขายต่อ
การจัดโต๊ะจีนที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีกรณีที่ใครผิดสัญญาใครตามที่ว่าเลย แล้วอย่างไรเล่าที่ผู้ถามกล่าวว่า การจัดโต๊ะจีนคือการขายหนี้ด้วยหนี้
จะอย่างไรก็ตาม การเอาเรื่องขายหนี้ด้วยหนี้มาครอบเรื่องการจัดโต๊ะจีนแล้วออกฮุก่มนี้ มันก็เป็นไปตามสมติฐานธุรกรรม 3 ฝ่ายที่เป็นเท็จเหมือนเดิม
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วการจัดโต๊ะจีนคือ อัลมุวาซีย์ หมายถึง 2 ฝ่าย 2 สัญญาที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย