อัลมุวาซีย์ ธุรกรรมคู่ขนาน
หลังจากที่เราเชื้อเชิญให้ศึกษาการทำธุรกรรมรูปแบบ “อัลมุวาซีย์” ก็มีพี่น้องหลายท่านสนใจเปิดตำรับตำราค้นคว้าหาข้อมูลไม่ว่าจะเป็นผู้รู้หรือบรรดานักศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี
บางท่านโทรศัพท์หรือส่งข้อความมาสอบถามเพิ่มเติม บางท่านมีปัญหาเรื่องแหล่งข้อมูลในการสืบค้น และบางท่านก็มีปัญหาเรื่องศัพท์ภาษาที่ใช้เฉพาะด้าน จึงคิดว่าน่าเขียนบทความแนะนำเบื้องต้นให้ทราบโดยรวมจะเป็นประโยชน์มากกว่า
แต่ขอเรียนก่อนว่าผมไม่ได้เป็นผู้ที่มีความรู้อะไรมากมาย เพียงแต่ถ่ายทอดสิ่งที่พอจะรู้ให้อื่นได้บ้างเท่านั้น และสำหรับผู้ที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งรีบร้อนวิพากษ์วิจารณ์ มันจะเกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น คอยๆอ่านค่อยๆศึกษากันไปก็ได้
“อัลมุวาซีย์” หรือธุรกรรมคู่ขนานนี้ ไม่ใช่ธุรกรรมแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่มันมีมาตั้งแต่ในยุคสะลัฟแล้ว ซึ่งเรายืนยันคำพูดของเราดังนี้
يقول فضيلة الدكتور علي السالوس: أما السلم الموازي فهو جائز، ففيه عقدان منفصلان، وهو ليس من مبتكرات المعاصرين كما يظن الكثيرون، فإن الإمام الشافعي ذكره حيث قال: من سلف في طعام ثم باع ذلك الطعام بعينه قبل أن يقبضه لم يجز، وإن باع طعاماً بصفة ونوى أن يقبضه من ذلك الطعام فلا بأس
“ดร.อาลี อัสซาลูส ได้กล่าวว่า : ส่วนการซื้อขายล่วงหน้าแบบสัญญาคู่ขนานนั้นเป็นที่อนุญาต ทั้งนี้เพราะในนิติกรรมสัญญาทั้งสองนั้นแยกจากกันโดยสิ้นเชิง และมันไม่ใช่การคิดริเริ่มของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เหมือนกับที่หลายคนเข้าใจผิดแต่อย่างใด เพราะท่านอิหม่ามชาฟีอี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้โดยท่านกล่าวว่า : ผู้ใดซื้ออาหารล่วงหน้าแล้วเขาก็ขายอาหารนั้นเลยก่อนที่เขาจะครอบครองอาหารนั้นไม่เป็นที่อนุญาต แต่หากเขาขายอาหารนั้นด้วยลักษณะ (ในอีกสัญญาหนึ่ง) และเขาแน่ใจว่าจะได้รับอาหารนั้นมาครอบครองอย่างแน่นอน เช่นนี้ถือว่าไม่ผิดแต่อย่างใด”
http://fatwa.islamweb.net/fatwa/printfatwa.php?Id=97413&lang=A
ข้างต้นนี้คือคำชี้แนะของท่านอิหม่ามชาฟีอี รอฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ซึ่งท่านเกิดในปีที่ 150 ตายในปีที่ 204 ฮิจเราะห์ศักราช ดังนั้นท่านจึงเป็นชาวสะลัฟโดยแท้จริง เราจึงกล่าวได้ว่า “อัลมุวาซีย์” เป็นธุรกรรมที่มีมาตั้งแต่ในยุคสะลัฟแล้ว
ปัจจุบัน “อัลมุวาซีย์” เป็นธุรกรรมที่แพร่หลายทั้งในกิจการ ธนาคารและสหกรณ์แบบอิสลาม, ธุรกิจการส่งออก หรือการค้าขายโดยทั่วไป เพียงแต่คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงของการธุรกิจการค้าอาจจะไม่เข้าใจและมองไม่ออก ดังนั้นจึงจะอธิบายให้เป็นพื้นฐานดังนี้
อัลมุวาซีย์คือธุรกรรมคู่ขนาน หรือกล่าวได้ว่าเป็นธุรกรรมสองสัญญาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบ “อัลอิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์” คือการสั่งผลิตแบบคู่ขนาน ก็ได้ หรืออาจจะอยู่ในรูปแบบ “อัสซะลัมอัลมุวาซีย์” คือการซื้อขายล่วงหน้าแบบคู่ขนาน ก็ได้เช่นเดียวกัน
อัสซะลัมอัลมุวาซีย์ การซื้อขายล่วงหน้าแบบคู่ขนาน
أما السلم الموازي فهو أن يبرم العاقد صفقة شراء بالسلم، ثم يبرم صفقة بيع بالسلم دون ربط بينهما، ويعزم على أن ينفذ الصفقة الثانية مما يتسلمه من الصفقة الأولى
“ส่วนการซื้อขายล่วงหน้าแบบคู่ขนานนั้น คือการที่ผู้ทำสัญญาได้ตกลงทำสัญญาซื้อแบบซะลัม ต่อมาเขาก็ทำสัญญาขายแบบซะลัมอีกสัญญาหนึ่ง โดยสองสัญญานี้ไม่มีความเกี่ยวพันธ์ใดๆต่อกัน และเขาก็มั่นใจว่าจะทำให้สัญญาที่สองนี้สัมฤทธิ์ผลลุล่วงได้จากสิ่งที่เขา ได้รับมาจากสัญญาแรก”
http://fatwa.islamweb.net/fatwa/printfatwa.php?Id=97413&lang=A
อัลอิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์ หรือการสั่งผลิตแบบคู่ขนาน
الاستصناع الموازي ومعناه : أن يعقد الشخص عقدين للاستصناع ، يكون في أحدهما بائعاً (صانعاً) ويكون في الآخر مشترياً (مسْتَصْنِعاً) ثم يأخذ السلعة من البائع له ويسلمها إلى المشتري ، وهو عقد جائز
"อัลอิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์" ความหมายของมันก็คือ : คนหนึ่งได้ทำสัญญาสองสัญญาในการสั่งผลิต โดยในสัญญาหนึ่งเขาตกลงกับผู้ขายและในอีกสัญญาหนึ่งเขาตกลงกับผู้ซื้อ หลังจากที่สินค้าได้ส่งมอบจากผู้ขายแล้วเขาก็ส่งต่อให้แก่ผู้ซื้อ และมันเป็นสัญญาที่อนุญาต”
http://islamqa.info/ar/112115
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า อัลมุวาซีย์คือธุรกรรมสองสัญญาคือ
สัญญาที่ 1 ระหว่างผู้ซื้อ (หรือผู้สั่งผลิต) กับผู้ขาย (หรือผู้รับผลิต)
สัญญาที่ 2 ระหว่างผู้ขาย (หรือผู้สั่งผลิต) กับผู้ซื้อ
อัลมุวาซีย์คือธุรกรรมสองฝ่ายสองสัญญา
จะเห็นได้ว่าแต่ละสัญญาที่กล่าวข้างต้นนี้มีคู่สัญญาเพียง 2 ฝ่ายมิใช่ 3 ฝ่ายคือ สัญญาที่
1 มีเพียงผู้ซื้อหรือผู้สั่งผลิตกับผู้ขายหรือผู้รับผลิตเท่านั้น และในลัญญาที่ 2 ก็มีเพียงผู้ขายหรือผู้สั่งผลิตกับผู้ซื้อเท่านั้นเอง
ในกรณีนี้ไม่ได้จำแนกตามจำนวนคนว่า 3 คนก็ 3 ฝ่ายหรือ 4 คนก็ 4 ฝ่าย แต่ให้จำแนกเป็นฝ่ายและจะฝ่ายละกี่คนก็ไม่ได้มีข้อจำกัด บางท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้า 3 คนจะจำแนกเป็นสองฝ่ายหรือสองสัญญาทำอย่างไร
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขอยกตัวอย่างดังนี้ นายอะลิฟทำสัญญาสั่งผลิตสินค้ากับนายบาอ์ และนายอะลิฟก็ทำสัญญาซื้อขายกับตาอ์ กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายอะลิฟเป็นทั้งผู้ซื้อในสัญญาที่หนึ่ง และนายอะลิฟก็เป็นผู้ขายในสัญญาที่สองอีกด้วย
เราหวังว่าท่านจะได้อ่านข้อความของนักวิชาการที่เราแสดงไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า
فهو أن يبرم العاقد صفقة شراء بالسلم، ثم يبرم صفقة بيع بالسلم دون ربط بينهما
“ผู้ทำสัญญาได้ตกลงทำสัญญาซื้อแบบซะลัม ต่อมาเขาก็ทำสัญญาขายแบบซะลัมอีกสัญญาหนึ่ง โดยสองสัญญานี้ไม่มีความเกี่ยวพันธ์ใดๆต่อกัน”
أن يعقد الشخص عقدين للاستصناع ، يكون في أحدهما بائعاً (صانعاً) ويكون في الآخر مشترياً (مسْتَصْنِعاً) ثم يأخذ السلعة من البائع له ويسلمها إلى المشتري
“คนหนึ่งได้ทำสัญญาสองสัญญาในการสั่งผลิต โดยในสัญญาหนึ่งเขาตกลงกับผู้ขายและในอีกสัญญาหนึ่งเขาตกลงกับผู้ซื้อหลังจากที่สินค้าได้ส่งมอบจากผู้ขายแล้วเขาก็ส่งต่อให้แก่ผู้ซื้อ”
เงื่อนไขสำคัญของอัลมุวาซีย์
สิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นย้ำ ณ ที่นี้ก็คือ عقدان منفصلان คือสองสัญญาจะต้องแยกกันเด็ดขาด دون ربط بينهما โดยทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกันและไม่มีความผูกพันใดๆ ต่อกัน
ดังนั้นเมื่อท่านกล่าวถึงสัญญาหนึ่งก็ต้องเก็บอีกสัญญาหนึ่งไว้ก่อน อย่าเอามาปะปนกัน เพราะถ้าเอามาปนกันเมื่อไหร่ มันจะไม่ใช่รูปแบบ อัลมุวาซีย์ และจะทำให้ท่านมึนงงต่อการเข้าใจปัญหาและการนำหลักฐานมาอ้างอิง ดังนั้นวิธีพิจารณาและหาข้อฮุก่มในกรณีนี้จึงต้องพิจาณาทีละสัญญา
บางท่านอาจจะสงสัยในเรื่องการส่งมอบสินค้าว่า หากนายอะลิฟสั่งให้นายบาอ์ผลิตสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่าให้นำสินค้าส่งมอบแก่ตาอ์ อย่างนี้จะถือว่านายตาอ์ได้เกี่ยวข้องในสัญญาด้วยหรือไม่
คำตอบก็คือไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะนายบาอ์ผู้ผลิตสินค้านั้นได้ทำการส่งมอบสินค้าตามข้อสัญญาที่ทำกับนายอะลิฟ ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ทำกับนายตาอ์
การทำสัญญาอัลมุวาซีย์
ดั่งที่ได้กล่าวแล้วว่า “อัลมุวาซีย์” คือธุรกรรม 2 สัญญาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่มีข้อจำกัดว่าสัญญาทั้งสองจะต้องทำพร้อมกันหรือไม่
ولا مانع من أن يعقد العقدان في نفس الوقت , أو يتقدم أي منهما .
“ไม่เป็นที่ต้องห้ามที่จะทำสัญญาทั้งสองในเวลาเดียวกัน หรือจะทำสัญญาใดก่อนหรือหลังก็ได้”
http://ahlalhdeeth.com/vb/showthread.php?t=23614
ดังนั้นจึงไม่ต้องรอให้มีลูกค้ามาสั่งก่อนแล้วค่อยไปสั่งผลิตในภายหลัง เพราะไม่มีเงื่อนไขว่าสัญญาใดต้องมาก่อนมาหลัง
เรายกตัวอย่าเช่น นายอะลิฟได้สั่งผลิตสินค้าจากนายบาอ์ (สัญญาที่ 1) หลังจากนั้นนายอะลิฟก็เสนอขายสินค้าที่สั่งให้แก่นายตาอ์หรือคนอื่นๆ (สัญญาที่ 2)
หรือนายอะลิฟเสนอขายสินค้ากับนายบาอ์และคนอื่นๆ (สัญญาที่ 2) หลังจากนั้นนายอะลิฟจึงสั่งให้นายบาอ์ผลิตสินค้าให้ (สัญญาที่ 1) อย่างนี้เป็นต้น
การชำระเงินในสองสัญญาอัลมุวาซีย์
ในกรณีของการชำระเงินนั้นเราคงต้องจำแนก ระหว่าง “อัลอิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์” กับ “อัสซะลัมอัลมุวาซีย์” เพราะการชำระเงินของทั้งสองนี้ใช้เงื่อนของ “อิสติศนาอ์”และ “ซะลัม” เป็นข้อบังคับ กล่าวคือ
หากเป็นการซื้อขายแบบซะลัมหรือการซื้อขายล่วงหน้าก็มีเงื่อนไขว่าต้องชำระค่าสินค้าทั้งหมดในวันทำสัญญา แต่หากเป็นอิสติศนาอ์ ก็สามารถชำระเงินบางส่วน หรือทยอยให้เป็นงวด หรือจ่ายทั้งหมดหลังจากรับสินค้าก็ได้ ซึ่งบรรดานักวิชาการเสนอแนะการชำระเงินในรูปแบบ “อิสติศนาอ์อัลมุวาซีย์” ไว้ดังนี้
ويمكن أن يكون الثمن في العقد الأول مؤجلا وفي العقد الثاني معجلا
“ค่าสินค้านั้นในสัญญาแรกอาจจะชำระล่าช้า และสัญญาที่สองอาจจะชำระก่อนก็ได้”
http://ahlalhdeeth.com/vb/showthread.php?t=23614
ในกรณีที่ท่านเป็นผู้สั่งผลิตในสัญญาที่ 1 และเป็นผู้ขายในสัญญาที่ 2 ท่านสามารถเร่งรัดการชำระเงินจากผู้ซื้อได้ และท่านก็ชำระให้แก่ผู้ผลิตในสัญญาที่ 1 ภายหลังจากรับและส่งมอบสินค้าแล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านสามารถนัดแนะกับผู้ซื้อให้ชำระเงินสดในวันรับมอบสินค้า แล้วท่านก็นำไปชำระยอดค้างแก่ผู้ผลิตในภายหลังได้อีกเช่นเดียวกัน
ในกรณีนี้เรากล่าวได้ว่า ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อในสัญญาที่สองนั้นคือการซื้อสดขายสดคือการชำระเงินเมื่อส่งมอบสินค้า แต่ที่เรียกว่าเป็นอิสติศนาอ์นั้นก็เพราะทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงกันมาก่อนที่จะถึงวันรับมอบสินค้านั่นเอง
และในสัญญาที่ 2 หากเป็นการซื้อสดขายสดโดยมิได้มีข้อตกลงใดๆกันมาก่อน ก็อยู่ในฮุก่มของการซื้อขายทั่วไปคือ พอใจซื้อก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ เพราะไม่สามารถบังคับซื้อบังคับขายได้
# การส่งสอบสินค้าในการทำสัญญาอัลมุวาซีย์
ก่อนหน้านี้เราได้ให้คำตอบถึงข้อสงสัยของบางท่านในเรื่องการส่งมอบสินค้าว่า หากนายอะลิฟสั่งให้นายบาอ์ผลิตสินค้าโดยมีเงื่อนไขว่าให้นำสินค้าส่งมอบแก่ตาอ์ อย่างนี้จะถือว่านายตาอ์ได้เกี่ยวข้องในสัญญาด้วยหรือไม่
คำตอบก็คือไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะนายบาอ์ผู้ผลิตสินค้านั้นได้ทำการส่งมอบสินค้าตามข้อสัญญาที่ทำกับนายอะลิฟ ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ทำกับนายตาอ์
และเช่นเดียวกันกับวันและเวลาในการส่งมอบสินค้า ซึ่งไม่มีเงื่อนไขบังคับว่าสินค้าในสัญญาอัลมุวาซีย์จะต้องส่งมอบสินค้ากันคนละวัน หรือจะทำการส่งมอบในวันและเวลาเดียวกันก็ได้
ในท้ายนี้ เราอยากจะให้ท่านได้ตระหนักว่า การซื้อขายนั้นเป็นเรื่องมุอามาลาต จึงต้องพิจารณาว่ามีข้อห้ามไหม หากไม่มีข้อห้ามก็อย่าได้วางข้อห้ามเอาเอง และหากไม่มีกฏเกณฑ์ของศาสนาได้วางไว้ก็อย่าวางกฎเกณฑ์ทางศาสนาเอาเอง