คำถามที่ 9


ข้อความต่อไปนี้จริงเท็จอย่างไร อาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

“ฟัตวาเขาฟัตวาการกระทำ ส่วนชื่อใครจะตั้งชื่อ อะไร เขาไม่ดูหรอกครับ เช่นการขายแบบลูกโซ่ แชร์ลูกโซ่ มันก็หะรอมไม่ใช่เพราะชื่อ แต่หะรอมเพราะมีการหลอกลวง คดโกง ไม่ชัดเจน ... อีกอย่างธุระกรรมโต๊ะจีนนี่มันเกิดในบ้านเรา ยังไม่มีฟัตวาออกมาตรงชื่อก็จริงแต่มีฟัตวาเรื่อง ห้ามขายอาหารก่อนที่ได้มาอยู่ในมืออย่างครอบถ้วนเสียก่อน ปัญหาคือเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าธุรกรรมโต๊ะจีนการกุศลจริงๆแล้วคือการขาย อาหารเพื่อเอากำไรนั่นเอง แต่อาหารยังไม่มีในวันที่ขาย ซึ่งตรงกับข้อห้าม แต่อยู่มามีคนมาทำธุระกรรมนี้แล้วตะบี้ตะบันเถียงว่าไม่ได้ขายๆๆๆๆๆๆ แต่เป็นโน่น นี่ นั่น เป็นสิบๆชื่อ สุดท้ายยังหาอะไรสวมไม่ได้ นี่แหละปัญหา ดังนั้นวันนี้โต๊ะจีนการกุศลอย่างที่บ้านเราทำกันอยู่นี้คือการซื้อขายอาหาร ที่ยังไม่ได้ครอบครองในมืออย่างครบถ้วนสมบรูณ์ เอากำไรในสิ่งที่ผู้ขายไม่ได้ประกันรับผิดชอบความเสียหาย เป็นการขายบัตรที่มีค่าเป็นเงินมากกว่าราคาจริงๆของมันถือเป็นดอกเบี้ย คนทำธุรกรรมนี้ขัดแย้งกับอัลกุรอาน หะดีส อิจมาอ ไม่ใช่ขัดแย้งกับ..........ขอให้เข้าใจด้วยครับ
เรื่องขายอาหารทีไม่ได้มีในมือเป็นเรื่องอิจมาอที่เป็นอิจมาอจริงๆ อย่ามาอ้างว่าเป็นเรื่องขัดแย้ง ใครอ้างว่าขัดแย้งแสดงว่าไม่รู้เรื่องบัญญัติการซิ้อขาย ต้องไปเสริมวิทยายุทธอีกแยะ”

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=354684854732868&id=100005740689770

คำตอบ

ในข้อความของคำถามนี้ระบุชื่อนักวิชาการมาสองท่าน แต่เราขอลบออกแล้วใส่เครื่องหมาย .........ไว้เพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายตามมา และเราได้พิจารณาข้อความพร้อมกับตอบคำถามให้ดังนี้

ข้อความที่ว่า “ฟัตวาเขาฟัตวาการกระทำ ส่วนชื่อใครจะตั้งชื่อ อะไร เขาไม่ดูหรอกครับ เช่นการขายแบบลูกโซ่ แชร์ลูกโซ่ มันก็หะรอมไม่ใช่เพราะชื่อ แต่หะรอมเพราะมีการหลอกลวง คดโกง ไม่ชัดเจน ...”

คำพูดนี้ถูกต้องครับ ฮะล้าลฮะรอมไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ชือเรียกว่า โต๊ะจีน, โต๊ะอาหรับ,โต๊ะซะบี้ล หรืออื่นๆ เพราะหากรูปแบบ,วิธีการ, การจัดการเหมือนกัน มันก็อยู่ในฮุก่มเดียว ไม่ได้หมายความว่า ฮุ่ก่มว่าโต๊ะจีนฮะรอม แต่ไปกินโต๊ะอาหรับ หรือโต๊ะซะบี้ล หรือว่าแค่เปลี่ยนชื่อมันก็ฮะล้าลแล้ว บางคนตลกไปยิ่งกว่านี้อีกคือ แค่เปลี่ยนเจ้าภาพก็ไปกินกันหน้าตาเฉย ทั้งๆที่มันคือโต๊ะจีนเหมือนกัน ดูเหมือนฮะล้าลหรือฮะรอมในวันนี้จะเอาอารมณ์ความรู้สึกมาตัดสินกันเสียแล้ว ถ้าเจ้าภาพเป็นพวกกันก็กินได้หรือไม่ก็นิ่งเฉย แต่ถ้าไม่ใช่พวกกันก็ฟันธงว่าฮะรมอลูกเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านไม่ได้อธรรมกับใครหรอกแต่ท่านอธรรมต่อตัวท่านเอง

ข้อความที่ว่า “อีกอย่างธุระกรรมโต๊ะจีนนี่มันเกิดในบ้านเรา ยังไม่มีฟัตวาออกมาตรงชื่อก็จริงแต่มีฟัตวาเรื่อง ห้ามขายอาหารก่อนที่ได้มาอยู่ในมืออย่างครอบถ้วนเสียก่อน”

ข้อความข้างต้นนี้เรายืนยันว่าเป็นจริงในครึ่งแรกที่ว่า “โต๊ะจีนเกิดในบ้านเราและยังไม่มีฟัตวาออกมาตรงชื่อ” ซึ่งผมเองก็ยืนยันอย่างนี้มาเนิ่นนานว่า ไม่มีหลักฐานศาสนาระบุโดยตรง และไม่มีอุลามาอ์ในโลกมุสลิมท่านใดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ฟัตวาไว้ แต่มันเป็นปัญหาที่ผู้รู้บ้านเรามาฟัตวากันเองและออกฮุก่มกันเอง

ดังนั้นในกระบวนพิจารณาคือ 1.การวิเคราะห์ปัญหา 2.การทำเข้าใจในหลักฐาน เหมือนดังเจ้าของคำพูดที่ยอมรับว่า ไปเอาฟัตวาเรื่องการห้ามซื้อขายอาหารที่ได้มาอยู่ในมือย่างครบถ้วนเสียก่อน มาเทียบเคียง ปัญหาก็คือผู้วินิจฉัยได้เทียบเคียงปัญหาถูกต้องไหม และนำหลักฐานหรือคำฟัตวามาชี้ประเด็นนั้นถูกต้องไหม ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นของการมองต่างกัน ไม่ใช่การแย้งหลักฐานหรือปฏิเสธหลักฐาน แต่เขาแย้งการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของปัญหาและการนำเอาหลักฐานมาชี้ไม่ตรง ประเด็นต่างหาก

ข้อความที่ว่า “ปัญหาคือเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าธุรกรรมโต๊ะจีนการกุศลจริงๆแล้วคือการขาย อาหารเพื่อเอากำไรนั่นเอง แต่อาหารยังไม่มีในวันที่ขาย ซึ่งตรงกับข้อห้าม”

หากข้อความนี้จะรวมถึงเรา หรือจะเจาะจงถึงเราละก็ เราได้แสดงจุดยืนในแง่ของการกุศลไว้ก่อนหน้านี้ทั้งข้อเขียนในบทความและการ ตอบคำถาม หรือแม้กระทั่งผู้รู้บางคนได้โพ้สข้อความถามที่หน้าเฟสเราว่า “โต๊ะจีนของอาจารย์เป็นการบริจาคหรือการซื้อขาย” ซึ่งผมก็ตอบชัดเจนว่า “ซื้อขายก็คือซื้อขายและบริจาคก็คือบริจาค เราไม่เอาทั้งสองมาปนกัน ส่วนใครมาร่วมงานแล้วบริจาคก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง”

คำว่า “อาหารยังไม่มีในวันที่ขายซึ่งตรงกับข้อห้าม” ข้อความนี้ดูจะเป็นคำพูดที่ด่วนสรุปไปหน่อย เพราะวันเวลาที่เรากำหนดซื้อขายกันนั้นคือศุกร์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 58 และเป็นวันที่เราสั่งให้ทำอาหาร คือไม่ใช่เราสั่งทำอาหารแล้วเอาไปเร่ขายแต่ เราทำอาหาร เราซื้อ เราขาย ในวันเดียวกันตามที่กำหนดนัด

แต่หากจะกล่าวว่า แล้วเอาไปขายล่วงหน้ามีไหม ถ้ามีแล้วจะว่าอย่างไร ขณะที่ท่านกล่าวว่ามันเป็นข้อห้าม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว การซื้อขายล่วงหน้าที่เรียกว่า “ซะลัม” หรือ “ซะลัฟ” คือการซื้อขายที่ท่านนบีอนุมัติ และกระทำกันอย่างแพร่หลายในหมู่ศอฮาบะห์ ดังคำรายงานต่อไปนี้

عَبْدُ اللهِ بْنُ المُجَالِدِ قَالَ اخْتَلَفَ عَبْدُ اللهِ بْنُ شَدَّادِ بْنِ الهَادِ وَأبُوْ بُرْدَةَ فِي السَّلَفِ فَبَعَثُوْنِي اِلَى ابْنِ أَبِي أوْفَى رَضِىَ اللهُ عَنْهُ فَسَأَلْتُهُ فَقَالَ : إنَّا نُسْلِفُ عَلَى عَهْدِ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَأبِي بَكْرٍ وَعُمَرَ فِي الحِنْطَةِ وَالشَعِيْرِ وَالزَبِيْبِ وَالتَمْرِ وَسَأَلْتُ ابْنَ أبْزَى فَقَالَ مِثْلَ ذَلِكَ

“อับดุลลอฮ์ อิบนุ้ลมุญาลิด กล่าวว่า อับดุลลอฮ์ อิบนุซซัดด๊าด อิบนุลฮาดี และอบูบุรดะห์ ได้ขัดแย้งกันในเรื่องการซื้อขายล่วงหน้า พวกเขาจึงได้ส่งฉันไปถาม อิบนุ อบีเอาฟา รอฏิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อฉันถามเขาก็ตอบว่า : พวกเราซื้อขายล่วงหน้าในยุคของท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และในยุคของอบูบักร์กับอุมัรก็เช่นเดียวกัน ในการซื้อขายล่วงหน้า ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ลูกเกดและอินทผลัม และฉันก็ถาม อิบนุอับซา เขาก็ตอบอย่างนี้เหมือนกัน” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 2087

การซื้อขายล่วงหน้าดังที่กล่าวข้างต้นนี้คือการซื้อขายในขณะที่ยังไม่มี สินค้า และบรรดาศอฮาบะห์ก็ซื้อขายล่วงหน้ากันในระยะ 2 ปีถึง 3 ปี

อีกกรณีหนึ่งคือการซื้อขายในขณะที่ไม่มีสินค้าที่เรียกว่า “มะอ์ดูม” ซึ่งบรรดานักวิชาการมีมุมมองที่ต่างกัน เนื่องจากตัวบทที่ห้ามการขายสิ่งที่ไม่มีอยู่ ณ ที่ผู้ขาย (ما ليس عندك หรือ ما ليس عنده ) คือสิ่งที่ผู้ขายไม่มีสิทธิ์ในสินค้านั้น แต่ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนิตัยมียะห์ มิได้พิจารณาตามตัวอักษรของฮะดีษ แต่ท่านพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของฮะดีษดังนี้

وأما حديث النهي عن بيع ما ليس عند الإنسان فالسبب فيه: هو الغرر لعدم القدرة على التسليم، لا أنه معدوم

“ส่วนฮะดีษที่ห้ามการขายสิ่งที่ผู้คนไม่มีอยู่ ณ ที่เขานั้น เหตุของมันก็คือ ฆ่อร๊อร เนื่องจากไม่มีความสามารถในการส่งมอบ ไม่ใช่ห้ามเพราะไม่มีสินค้าอยู่”

http://islamport.com/w/fqh/Web/1272/2621.htm

ท่านอิบนุ ตัยมียะห์ และอิบนุก็อยยิม ได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของฮะดีษว่าที่ห้ามนั้นเนื่องจากมี “ฆ่อร๊อร” ในข้อห้ามนี้ นั่นคือการส่งมอบ ดังนั้นท่านจึงอธิบายกรณีนี้ว่า ห้ามขายสินค้าที่ส่งมอบไม่ได้ และถึงแม้ว่าผู้ขายจะมีสินค้าครอบครองอยู่แต่หากส่งมอบไม่ได้ ก็ถือว่าเข้าข่ายต้องห้ามเช่นเดียวกัน อย่างนี้แหละที่บรรดานักวิชาการเขาพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของข้อห้ามแล้ววางฮุก่ม ไม่ใช่หยิบแค่ตัวอักษรไปฮุก่ม

หากท่านต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมก็ย้อนไปอ่านบทความเรื่องโต๊ะจีนของเราในตอนที่ 21 ที่แนบลิงค์มานี้

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=335032533364767&id=100005740689770

แล้วอย่างไรเล่าที่ท่านกล่าวว่า “อาหารยังไม่มีในวันที่ขายซึ่งตรงกับข้อห้าม”

“คำพูดที่ว่า “แต่อยู่มามีคนมาทำธุระกรรมนี้แล้วตะบี้ตะบันเถียงว่าไม่ได้ขายๆๆๆๆๆๆ แต่เป็นโน่น นี่ นั่น เป็นสิบๆชื่อ สุดท้ายยังหาอะไรสวมไม่ได้”

ขอให้ท่านย้อนกลับไปอ่านคำตอบของเราในข้อที่สองให้เข้าใจใหม่ว่า “สิ่งที่ทำได้กับสิ่งที่ได้ทำ” มันต่างกันอย่างไร เมื่อไม่เข้าใจในประเด็นนี้ก็เลยยัดเยียดเอาสิ่งที่ทำได้ให้กลายเป็นสิ่งที่ เราทำเสียทั้งทั้งหมด และก็แปลก บางกรณีเป็นสิ่งที่เราไม่ได้กล่าวถึงเลย แต่กลับถูกยัดเยียดให้กลายเป็นสิ่งที่เราทำเช่นคำว่า “เศาะดะเกาะห์ต่างตอบแทน” อย่างนี้เป็นต้น

ไม่มีใครเขาเถียงตะบี้ตะบันต่อหลักฐานหรอกแต่เขาแย้งและคัดค้านการพิจารณา ปัญหาและความเข้าใจในปัญหาที่ผิดพลาดและนำไปสู่การเอาหลักฐานมาอ้างผิด เรื่องผิดประเด็น ฉะนั้นอย่าได้กล่าวหาใครว่า เขาทำธุรกรรมที่เป็นดอกเบี้ย หรือทำธุรกรรมขัดแย้งกับอัลกุรอาน หะดีส อิจมาอ

ทางที่ดีควรจะทบทวนทำความเข้าใจในปัญหาให้รอบคอบและให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะการมโนเอาเอง คิดเอง วางฮุก่มเอง มันนำมาซึ่งความเสียหายแก่ตนเอง และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกฮุก่มให้ของฮะล้าลกลายเป็นของฮะรอม อันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว

คำว่า “เอากำไรในสิ่งที่ผู้ขายไม่ได้ประกันรับผิดชอบความเสียหาย เป็นการขายบัตรที่มีค่าเป็นเงินมากกว่าราคาจริงๆของมันถือเป็นดอกเบี้ย คนทำธุรกรรมนี้ขัดแย้งกับอัลกุรอาน”

เจ้าของพูดนี้ไม่รอบคอบเอาเสียจริงๆ เขาคงคิดว่าเราขายกระดาษที่ไม่มีมูลค่ากระมังจึงเข้าใจว่าเป็นดอกเบี้ย และเรื่องบัตรนี้เราชี้แจงไม่รู้กี่รอบแล้วว่ามันเป็น “บัตรเชิญ” และเราคงไม่ต้องอธิบายซ้ำอีก หากท่านต้องการทราบก็โปรดอ่านตามลิงค์ที่เราแนบนี้

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=327564037444950&id=100005740689770
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=352615274939826&id=100005740689770
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=354330264768327&id=100005740689770

คำว่า “คนทำธุรกรรมนี้ขัดแย้งกับอัลกุรอาน” เจ้าของคำพูดนี้น่าเติมคำให้ครบถ้วนสักนิดว่า “คนทำธุรกรรมนี้ขัดแย้งกับอัลกุรอานตามมุมมองของผมเอง” น่าจะตรงประเด็นมากว่า เพราะการที่ท่านฮุก่มฟันธงอย่างนี้ก็เนื่องจากความเข้าใจของท่านเอง แล้วเอาความเข้าใจของตนเองไปกล่าวหาว่าคนอื่นกระทำผิด แต่อยากให้ท่านเหลือเผื่อไว้บ้างว่า “ท่านอาจจะเข้าใจผิดก็ได้” เพราะข้อความของเราที่ผ่านมานั้นก็ยืนยันมาตลอดว่า ผู้ที่ฮุก่มว่าโต๊ะจีนฮะรอมนั้นมีเหตุมาจาก

เข้าใจข้อเท็จจริงของปัญหาผิดและนำฮุก่มมาวางผิด เช่น สมมติฐานที่เป็นเท็จว่าโต๊ะจีนคือธุรกรรม 3 ฝ่ายดังที่ได้ชี้แจงไว้ในคำตอบที่ 1 และ 6

เราแนะนำเรื่อง “อัลมุวาซีย์” หรือ สัญญาคู่ขนาน หลายต่อหลายครั้งไม่ว่าในบทความ หรือหนังสือที่เราเขียน แม้กระทั่งคำบรรยาย แต่สิ่งที่ได้รับก็คือความเพิกเฉย แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กันบนความไม่รู้ไม่เข้าใจ

ทำไมท่านไม่ละวางสมมติฐานธุรกรรม 3 ฝ่ายที่เป็นเท็จ แล้วหันมาศึกษาธุรกรรม 2 ฝ่าย 2 สัญญา หรือที่เรียกว่า “อัลมุวาซีย์” ดูบ้างเพราะมันคือข้อเท็จจริงของการจัดโต๊ะจีน และการซื้อขายในลักษณะ “อัลมุวาซีย์” นี้เป็นสิ่งที่ชาวสะลัฟได้ชี้แนะ