อิจมาอ์ที่ไม่ใช่อิจมาอ์


เมื่อก่อนคนเรียนศาสนาจะท่องจำกันว่า รากฐานหรือที่มาของฮุก่มศาสนามี 4 ประการคือ 1.อัลกุรอาน 2. อัลฮะดีษ 3. อิจมาอ์ และ 4.กิยาส ต่อมามีคำพูดของบรรดานักวิชาการในยุคหลังๆที่มักจะพูดถึงแต่อัลกุรอานและฮะ ดีษ เป็นเหตุให้ผู้คนเกิดความสงสัยว่า แล้วอิจมาอ์ และ กิยาส หายไปไหน หรือว่าไม่ใช้กันแล้ว

ความจริง อิจมาอ์และกิยาสนั้น ยังคงอยู่เพียงนักวิชาการบางท่านถือว่าทั้งสองนี้คือหลักการ และบางท่านก็ถือว่าทั้งสองคือวิธีการในการกลับไปเอาฮุก่มจากอัลกุรอานและฮะ ดีษนั่นเอง

อิจมาอ์คืออะไร

อิจมาอ์คือ มิตเอกฉันท์ของปวงปวงปราชญ์มุสลิมในยุคหลังจากท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องใดๆที่ไม่ค้านกับอัลกุรอานและฮะดีษ

คำว่าเอกฉันท์ หมายถึง เห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีปวงปราชญ์คนใดคัดค้านหรือโต้แย้ง
คำว่า ปวงปราชญ์ หมายถึง ผู้ที่จะมีมติจะต้องเป็นผู้รู้ในข้อบัญญัติของศาสนาอย่างท่องแท้ หรือที่เรียกว่า มุจตะฮิด และไม่นับรวมบรรดาผู้คนโดยทั่วไป
คำว่า มุสลิม คือเจาะจงเฉพาะปราชญ์มุสลิมเท่านั้น ส่วนกาเฟรแม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่นับเอาทัศนะของเขาเป็นมติแต่อย่างใด
คำว่าหลังจากยุคของท่านนบีนั้น เนื่องจากในยุคที่ท่านนบียังมีชีวิตอยู่ เมื่อเหล่าศอฮาบะห์มีข้อสงสัยใดๆ ก็จะไปถามท่านนบีด้วยตัวเอง หรือส่งตัวแทนไปถามเพื่อให้ทราบข้อบัญญัติของศาสนาในเรื่องนั้นๆ
คำว่า ไม่ค้านกับอัลกุรอานและฮะดีษ คือ อิจมาอ์เป็นสิ่งที่ได้จากข้อบัญญัติที่มีอยู่ในอัลกุรอานและฮะดีษ ไม่ว่าจะเป็นฮะดีษในระดับมุตะวาเต็ร (จำนวนผู้รายงานในระดับมหาชน) หรืออาฮาด (ผู้รายงานมีจำนวนน้อย) ก็ตาม

หลักฐานรองรับการอิจมาอ์

พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

وَمَنْ يُشَاقِقِ الرَّسُولَ مِنْ بَعْدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُ الْهُدَى وَيَتَّبِعْ غَيْرَ سَبِيلِ الْمُؤْمِنِينَ نُوَلِّهِ مَا تَوَلَّى وَنُصْلِهِ جَهَنَّمَ وَسَاءَتْ مَصِيرًا

“และผู้ใดที่ฝ่าฝืนรอซูลหลังจากที่ทางนำได้ชัดเจนแก่เขาแล้ว และเขาปฏิบัติตามที่ไม่ใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธา เราก็จะให้เขาหันไปตามที่เขาได้หันไป และเราจะให้เขาเข้าสู่นรกญะฮันนัม และมันเป็นที่กลับไปที่เลวร้ายยิ่ง” ซูเราะห์อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 115

وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا

“และอย่างนี้แหละ เราได้ทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย และรอซูลนั้นก็จะเป็นสักขีพยานให้แก่พวกเจ้า” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 143

การถ่ายทอดอิจมาอ์

การลงมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ในแต่ละยุคเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อบรรดาผู้คน ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องลึกลับที่ผู้คนไม่สามารถรับรู้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการบอกต่อกันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นการรายงานในระดับ มุตะวาติร (ผู้รายงานมีจำนวนมาก และเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะรวมหัวกันโกหก)

ส่วนการถ่ายทอดอิจมาอ์ แบบ “อาฮาด” (ผู้รายมีจำนวนน้อย) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อัลอิจมาอ์อัลอักษะรียะห์” ที่ไม่ถึงขั้นมุตะวาเต็ร คือสิ่งที่บรรดานักวิชากมีข้อขัดแย้งการรายงานสถานะของอิจมาอ์ประเภทนี้ ฉะนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอิจมาอ์จริงหรือ ไม่ เพราะสิ่งที่เห็นอยู่อาจไม่ใช่อิจมาอ์ก็เป็นได้

รูปแบบของอิจมาอ์

1. อัลอิจมาอ์อัสศอเรียะห์ คือการลงมติเอกฉันท์ที่ชัดเจนของบรรดาปวงปราชญ์ในแต่ละยุคต่อปัญหาหนึ่ง ปัญหาใดโดยมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำของพวกเขา หรือเรียกได้อีกชื่อหนึ่งคือ อิจมาอ์ก็อฏอีย์ ซึ่งจะนำมากล่าวในลำดับถัดไป

2. อัลอิจมาอ์อัสซูกูตีย์ คือคำพูดหรือการกระทำของปราญช์คนใดในยุคนั้นๆ ที่ปราชญ์คนอื่นๆ รับรู้และไม่มีปราชญ์คนใดท้วงติง ประหนึ่งเป็นการยอมรับว่าสิ่งนั้นคือถูกต้อง แต่อิจมาอ์ในรูปแบบนี้ยังคงมีความขัดแย้งของบรรดานักวิชาการว่า จะนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้หรือไม่

หมายเหตุ กรณีอิจมาอ์ซุกูตีย์ในระดับศอฮาบะห์นั้นต่างก็เป็นที่ยอมรับไม่มีการขัดแย้ง ในการนำมาเป็นหลักฐานแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ในยุคศอฮาบะห์ดังนี้

أن سيدنا عثمان بي عفان رضى الله عنه باع أرضاله من طلحة بن عبد الله رضى الله عنهما ولم يكونا رأياها فقيل لطلحة : غبنت فقال لي الخيار لأني اشتريت ما لم أره فحكما في ذلك جبير بن مطعم فقضى بالخيار لطلحة رضى الله عنه أي للمشتري دون البائع وإن باع مالم يره وكان ذلك بمحضر من الصحابة رضى الله عنهم ولم ينكر عليه أحد منهم فكان إجماعا منهم على شرعية هذا الخيار

“แท้จริงท่านอุสมาน บินอัฟฟาน ได้ขายที่ดินแปลงหนึ่งที่เป็นของท่านเองให้กับท่านฏอลฮะห์ บิน อุบัยดิลลาฮ์ และทั้งสองก็ไม่เคยเห็นที่ดินแปลงนั้นมาก่อน จึงมีผู้กล่าวกับท่านฏอลฮะห์ว่า (ท่านโดนหลอกแล้ว) ท่านฏอลฮะห์ จึงกล่าวว่า ฉันมีสิทธิ์เลือกเพราะฉันซื้อในสิ่งที่ฉันไม่เคยเห็นมัน แล้วทั้งสองก็ได้มอบให้ท่าน ญุบัยร์ บิน มุฏอิม เป็นผู้ตัดสินในกรณีนี้ และท่านญุบัยร์ ก็ตัดสินให้ท่านฏอลฮะห์มีสิทธ์ตัดสินใจในการเลือก คือ การตัดสินใจในการเลือกกรณีที่ไม่ได้เห็นสินค้าให้เป็นสิทธิ์ของผู้จะซื้อ เท่านั้น ผู้ขายไม่มีสิทธิ์ ถึงแม้ว่าเขาจะขายในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนก็ตาม” (นัศบุลรอยะห์ โดยท่านซัยละอีย์ 4/10)
และเหตุการณ์ข้างต้นนี้ ท่าน ดอ๊กเตอร์วะฮ์บะห์ อัรรุฮัยลีย์ ได้อธิบายต่อว่า

“การตัดสินของท่านญุบัยร์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยการรู้เห็นของบรรดาศอฮาบะห์ และไม่มีศอฮาบะห์ท่านใดที่คัดค้านไม่เห็นด้วย จึงถือว่าเป็น “อิจมาอ์” การเห็นชอบของบรรดาศอฮาบะห์อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า สิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกเป็นไปตามเป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนา” (อัลฟิกฮุ้ลอิสลามีย์วะอะดิ้ลละตุฮู 5/250 )

ประเภทของอิจมาอ์

1. อิจมาอ์ ก็อฏอีย์

อิจมาอ์ก๊อฏอีย์ คือ การลงมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ที่ชัดเจนทั้งถ้อยคำอิจมาอ์และการถ่ายทอด ซึ่งจะต้องมีแหล่งบันทึกและสายรายงานที่อ้างอิงได้ และสามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นการลงมติเอกฉันท์ของบรรดาอุลาอ์จริงๆ ใช้เป็นหลักฐานทางศาสนาได้โดยมีข้อโต้แย้งเช่น การลงมติเอกฉันท์ว่า วาญิบต้องละหมาดในวันหนึ่งกับหนึ่งห้าเวลา หรือมติเอกฉันท์ว่าซินาเป็นที่ต้องห้าม อย่างนี้เป็นต้น
การสวนอิจมาอ์หรือการปฏิเสธอิจมาอ์ประเภทนี้โดยเจตนาเท่ากับปฏิเสธหลักฐานของศาสนา และมีผลทำให้ตกศาสนาสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม
ชัยคุ้ลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะห์ กล่าวว่า

فإن السلف كان يشتد إنكارهم على من يخالف الإجماع ويعدونه من أهل الزيغ والضلال

“แท้จริงชาวสะลัฟนั้นจะแสดงความรังเกียจอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ขัดแย้งกับอิจมา อ (ก๊อฏอีย์) และพวกเขาถือว่าคนๆนั้นเป็นพวกที่เฉออกจากแนวทางที่ถูกต้องและเป็นพวกหลงผิด” (มินฮาญุสซุนนะฮ์ 8/250)

كل ما أجمعوا عليه فلا بدَّ أن يكون فيه نصٌّ عن الرسول ، فكل مسألة يُقطع فيها بالإجماع وبانتفاء المنازع من المؤمنين : فإنها مما بيَّن الله فيه الهدى ، ومخالف مثل هذا الإجماع يكفر ، كما يكفر مخالف النص البيِّن

“ทุกสิ่งที่พวกเขาได้ลงมติเอกฉันท์ก็จำเป็นที่จะต้องมีตัวบทใดๆจากท่านรอซูล ฉะนั้นทุกๆปัญหาที่เป็นมิติเอกฉันท์แบบเด็ดขาดโดยไม่มีผู้ศรัทธาคนใดโต้แย้ง มันก็คือสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงแจ้งทางนำไว้ในนั้น และผู้ที่คัดค้านอิจมาอ์ประเภทนี้ถือเป็นผู้ปฏิเสธ เช่นเดียวกับการคัดค้านตัวบทหลักฐานที่ชัดเจน” มัจมัวอุ้ลฟะตาวา 7/39

2. อิจมาอ์ ศ็อนนี่ย์

คือ มีการกล่าวอ้างและเข้าใจว่าบรรดาปวงปราชญ์ได้ลงมติเอกฉันท์ ซึ่งมีการรายงานถ้อยคำอิจมาอ์ด้วยคนจำนวนน้อย จึงต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นอิจมาอ์จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น วิธีการตรวจสอบคือ 1. ตรวจต้นบันทึกถ้อยคำอิจมาอ์ว่าบันทึกไว้ที่ใด 2.ตรวจสอบผู้รายงานว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

หากไม่สามารถสืบค้นต้นบันทึกได้ หรือผู้รายงานมีข้อบกพร่องในความน่าเชื่อถือ ก็ให้ละวางเพราะถือเป็นเพียงการคาดการณ์ หรือสันนิฐานเอาเท่านั้น เราจึงเห็นว่า อิจมาอ์ประเภทนี้ยังมีการโต้แย้งของบรรดาอุลามาอ์ในการนำไปอ้างเป็นหลักฐาน
เชคศอและห์ อัลอุซัยมีน กล่าวว่า

وأرجح الأقوال في ذلك رأي شيخ الإسلام ابن تيمية حيث قال في "العقيدة الواسطية: "والإجماع الذي ينضبط ما كان عليه السلف الصالح، إذ بعدهم كثر الاختلاف وانتشرت الأمة

“ที่มีน้ำหนักมากที่สุดในเรื่องนี้คือทัศนะของชัยคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะห์ ที่กล่าวไว้ใน “อัลอะกีดะห์อัลวาซีฏียะห์” ว่า : และอิจมาอ์ที่ชัดเจนแน่นอนคือสิ่งที่คนยุคในยุคสะลุฟุสศอและห์ได้ลงมติไว้ แต่หลังจากพวกเขามีความแตกต่างมากมายและผู้คนก็กระจาย” อัลอะกีดะห์อัลวาซิฏียะห์ หน้าที่ 47

การปฏิเสธหรือคัดค้านอิจมาอ์อิจมาอ์ศ็อนนี้ไม่ได้ทำให้ตกมุรตัดสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมแต่อย่างใด
ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะห์ กล่าวว่า

وأما إذا كان يظن الإجماع ، ولا يقطع به : فهنا قد لا يقطع أيضاً بأنها مما تبين فيه الهدى من جهة الرسول ، ومخالف مثل هذا الإجماع قد لا يكفر ؛ بل قد يكون ظن الإجماع خطأ ، والصواب في خلاف هذا القول ، وهذا هو فصل الخطاب فيما يكفر به من مخالفة الإجماع ، وما لا يكفر

“ส่วนที่คาดการณ์กันว่าเป็นอิจมาอ์ แต่ไม่เด็ดขาด จึงไม่เป็นที่มั่นใจเช่นเดียวกันว่ามันคือสิ่งที่ชัดเจนจากทางนำของท่านรอ ซูล และผู้ที่ขัดแย้งอิจมาอ์ประเภทนี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ปฏิเสธแต่อย่างใด แต่ทว่าบางทีการคาดการณ์ว่าเป็นอิจมาอ์อาจจะผิด แต่ที่ถูกต้องอาจตรงกันข้ามก็ได้ นี่คือรายละเอียดในการขัดแย้งอิจมาอ์ว่าจะตกเป็นผู้ปฏิเสธหรือไม่” มัจมัวอุ้ลฟะตาวา 7/39

ข้อขัดแย้งในเหตุแห่งการอิจมาอ์

ท่านอาจจะสงสัยกับหัวข้อนี้ว่า ถ้าอิจมาอ์แล้วยังจะมีข้อขัดแย้งอะไรอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิจมาอ์ในประเภท ก็อฏอีย์ ที่ถื่อว่าเป็นมติเอกฉันท์ขั้นเด็ดขาด ความจริงแล้วถ้าเราไม่เข้าใจประเด็นของการอิจมาอ์หรือประเด็นของการขัดแย้ง เราก็อาจจะเข้าใจผิดเหมือนดั่งที่ว่ามานี่แหละ ในกรณีนี้เขาเรียกว่า

الإجماع على أصل التعليل مع الاختلاف في عين العلة المناسبة الحكم

ถ้าจะแปลเป็นไทยให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนดั่งหัวข้อที่ได้โพ้สไว้คือ “การอิจมาอ์ที่มีข้อขัดแย้งในเหตุของการอิจมาอ์” หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆว่า นักวิชาการไม่ได้ขัดแย้งอิจมาอ์แต่ขัดแย้งในเหตุแห่งการอิจมาอ์ ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้

ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งใช้ให้อาหรับชนบทคนหนึ่งจ่ายกัฟฟาเราะห์ หลังจากที่เขามาแจ้งกับท่านนบีว่า เขามีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในขณะเขาถือศีลอดเดือนรอมฏอน เรื่องนี้บรรดาปวงปราชญ์ต่างมีมติเอกฉันท์ว่า ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้จะต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ ด้วยการปล่อยทาสให้เป็นไท 1 คน หรือถ้าไม่สามารถก็ให้ถือศีลอด 2 เดือนติดต่อกัน และถ้าไม่สามารถก็จ่ายอาหารให้แก่คนยากจน 60 คน ประเด็นนี้คืออิจมาอ์ก็อฏอีย์ที่ไม่มีปราชญ์คนใดคัดค้าน

แต่มูลเหตุแห่งการจ่ายกัฟฟาเราะห์นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยนักวิชาการทางสายมัซฮับฮานาฟีและมาลิกี เห็นว่าที่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์เนื่องจากการละศีลอดตอนกลางวันของเดือนรอมฏอน โดยเจตนา แต่ในขณะที่นักวิชาการของมัซฮับชาฟีอีและฮัมบะลี มีทัศนะว่าที่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์นั้นมีเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์ในขณะถือ ศีลอดของเดือนรอมฏอน อย่างนี้เป็นต้น

ที่จริงแล้วยังคงมีอิจมาอ์อีกหลายลักษณะวิธี แต่ที่นำมาแสดงให้เห็นในบางกรณีนี้คงทำให้ท่านได้เข้าใจถึงประเด็นของ การอิจมาอ์และประเด็นของข้อขัดแย้งได้ในระดับหนึ่งแล้ว

อิจมาอ์ที่ไม่ใช่อิจมาอ์

หรือมติเอกฉันท์ที่ไม่เอกฉันท์ กล่าวคือ มีการแอบอ้างว่าเป็นอิจมาอ์ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่อิจมาอ์ หรือเกิดจากความไม่รอบคอบของผู้ถ่ายทอดจึงทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าเป็นอิจมา อ์ หรือเกิดจากการใช้คำรายงานที่คลุมเครือทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดอย่างนี้เป็น ต้น

ในแวดวงของนักวิชาการจึงพยายามมเตือนกันให้มีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบ และนำไปอ้างต่อ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการรายงานอิจมาอ์ผิดพลาด ณ ที่นี้สักสองราย พอเป็นสังเขปคือ 1. อิบนุ้ลมุนซิร 2. อิบนุกุดามะห์

แต่ก่อนอื่นขอชี้แจงก่อนว่า เรามิบังอาจที่จาบจ้วงล่วงเกิน หรือวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการท่านใดด้วยตัวเราเอง แต่เราจะนำเอาคำวิจารณ์ของอุลามาอ์มาชี้ประเด็นให้เห็นดังนี้

ตัวอย่างคำอ้างของ “อิบนุลมุนซิร” ที่ว่า ปวงปราชญ์มีมติเอกฉันท์ว่าผู้ที่อาเจียนนั้นเสียบวช ดังนี้

وأجمعوا على إبطال صوم من استقاء عامدا

“และปวงปราชญ์มีมติเอกฉันท์ว่าเสียบวชสำหรับผู้ที่อาเจียนโดยตั้งใจ” (อัลอิจมาอ์ หน้าที่ 49)

บรรดานักวิชาการได้วิจารณ์และคัดค้านคำอ้างของ อิบนุลมุนซิรโดยเสนอหลักฐานโต้แย้งหลายท่านด้วยกันเช่น

وقد ذهب ابن مسعود وابن عباس وعكرمة وطاوس ومالك في رواية إلى ان القئ عمدا لا يفطر ولا يوجب قضاءا ولا كفارة

“ท่านอิบนุมัสอู๊ด ท่านอิบนุอับบาส ท่านอิกริมะห์ ท่านฏอวูส และในรายงานหนึ่งของอิหม่ามมาลิก มีทัศนะว่า การอาเจียนโดยตั้งใจไม่ทำให้เสียบวชและไม่จำเป็นต้องชดใช้และไม่ต้องจ่ายกัฟ ฟาเราะห์” (ดูบิดายะตุ้ลมุจตะฮิต ของอิบนิรุชด์)

ศ็อนอานีย์ กล่าวว่า

ونقل ابن المنذر الإجماع على أن تعمد القئ يفطر قلت ولكنه روي عن ابن عباس ومالك وربيعة والهادي أن القئ لا يفطر مطلقا إلا إذا رجع منه شيئ

“อิบนุลมุนซิรได้รายงานอิจมาอ์ว่า การตั้งใจอาเจียนนั้นทำให้เสียบวช ฉัน (ศ็อนอานีย์) ขอกล่าวว่า แต่ทว่ามีรายงานจาก อิบนิอับบาส จากมาลิก จากรอบีอะห์ และอัลฮาดีว่า การอาเจียนไม่ได้ทำให้เสียบวชแต่อย่างใด นอกจากเขาจะกลืนสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป” ดูสุบุลุสสลาม ญุชที่ 2 หน้าที่ 161

เพราะฉะนั้นการอาเจียนแล้วเสียบวช จึงไม่ใช่อิจมาอ์ของนักวิชาการในยุคใดตามที่อิบนุลมุนซิร ได้กล่าวอ้าง

ส่วนตัวอย่างการรายงานอิจมาอ์ของ อิบนุกุดามะห์ที่ผิดพลาดเช่น เขากล่าวว่าบรรดามุสลิมมีมติเอกฉันท์ในการอ่านอัลกุรอ่านอุทิศผลบุญให้คนตาย ดังนี้

لأنه إجماع المسلمين، فإنهم في كل عصر ومصر يجتمعون ويقرأون القرآن ويهدون ثوابه إلى موتاهم من غير نكير

“เนื่องจากเป็นมติเอกฉันท์ของบรรดามุสลิม โดยที่พวกเขาในแต่ละยุคแต่ละถิ่นต่างก็รวมตัวกันอ่านอัลกุรอานแล้วอุทิศผล บุญของการอ่านให้แก่ผู้ตายโดยที่ไม่มีข้อรังเกียจแต่อย่างใด” อัลมุฆนี ของ อิบนิกุดามะห์ ญุซที่ 2 หน้าที่ 568

คำรายงานของอิบนิกุดามะห์ข้างต้นนี้เป็นจริงหรือ การรวมตัวกันอ่านอัลกุรอานแล้วอุทิศผลบุญให้คนตายเป็นอิจมาอ์ของบรรดามุสลิม ทุกยุคทุกสมัยจริงหรือ ถึงแม้เราจะให้ความหมายคำว่า “อิจมาอ์” ที่เขาอ้างว่า “การเห็นพ้องต้องกัน” หรือ “ มติเอกฉันท์” ก็ตาม ก็ยังเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการอ่านอัลกุรอานแล้วอุทิศผลบุญให้ผู้ตายนี้มีการคิลาฟกันในระดับ มัซฮับและเหล่านักวิชาการอย่างมากมาย แล้วมันจะเป็นมติเอกฉันท์ได้อย่างไร

ที่จริงแล้วบรรดาผู้คนจะรู้จัก อิบนุกุดามะห์ ในฐานะนักฟิกฮ์ ในมัซฮับฮัมบาลี แต่สถานะของเขาทางด้านการรายงานฮะดีษหรือรายงานเรื่องราวใดๆนั้น บรรดานักฮะดีษถือว่าเขาเป็นคนฏออีฟ ตัวอย่างเช่นคำรายงานที่ผิดพลาดของเขาว่า ท่านอิหม่ามอะห์หมัดกลับคำฟัตวาเรื่อง การอ่านอัลกุรอ่านที่กุโบร ซึ่งเราได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้นานแล้วตามลิงค์ที่แนบมาด้านล่างนี้

http://www.fareedfendy.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=185

สถานะของ อิบนุกุดามะห์ ในมุมมองของนักฮะดีษมีดังนี้ เขาคือมูฮัมหมัด อิบนุกุดามะห์ อัลบัฆดาดีย์ มีฉายาว่า อบูญะอ์ฟัร อัลเญาฮะรีย์ อัลลุอ์ลุอีย์ เขาเป็นบุคคลที่ฏออีฟ ซึ่งท่านยะห์ยา อิบนุมะอีน กล่าวถึงเขาว่า เชื่อถือไม่ได้, และท่านอบูดาวูด กล่าวว่า เขาฏออีฟ ฉันไม่เคยบันทึกเรื่องใดๆจากเขาเลยแม้แต่น้อย (ดูมีซานุลเอียะอ์ติดาล เล่มที่ 4 หน้าที่ 15 ลำดับที่ 8083)

ฉะนั้นเมื่อพบเห็นคำว่าอิจมาอ์ในตำราเล่มใดก็อย่าเพิ่งรีบร้อนนำไปกล่าวอ้าง แต่ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ หรือตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน และถึงแม้ว่าอิจมาอ์ที่ท่านพบจะเป็นอิจมาอ์เด็ดขาด (ก็อฏอีย์) ก็ตาม แต่ท่านก็ต้องพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งการอิจมาอ์ด้วย หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องที่บรรดานักวิชาการเห็นต่างกัน ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาประเด็นที่จะนำอิจามาอ์ไปอ้างอิงว่าตรงกับประเด็น ของปัญหานั้นจริงหรือไม่

ฟารีด เฟ็นดี้
25 มีนาคม 58