ความจริงไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาเอง


อิสลามมิได้ปิดกั้นไม่ให้ผู้คนใช้สติปัญญา แต่ในทางตรงกันข้าม พระองค์อัลลอฮ์ทรงสร้างมนุษย์ให้แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ด้วยปัญญา และเรียกร้องมนุษย์ให้ใช้สติปัญญา ดังนั้นเราจึงพบข้อความลงท้ายอัลกุรอานในหลายอายะห์ด้วยกันว่า أفلا تعقلون หรือ أفلا تتفكرون แปลว่า ไม่ใช้สติปัญญาหรือ, ไม่พิจารณาหรือ อย่างนี้เป็นต้น

แต่การที่อิสลามเรียกร้องให้ใช้ปัญญานี้คือ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาถึงสิ่งถูกสร้างเพื่อให้รู้จักและศรัทธาต่อผู้สร้าง มิใช่ใช้ปัญญาพิจารณาในตัวตนหรือคุณลักษณะของผู้สร้างซึ่งแน่นอนว่า ปัญญาของมนุษย์ย่อมไปไม่ถึง

ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบาส กล่าวว่า

تفكروا في خلق الله ولا تفكروا في الله

“พวกท่านจงพิจารณาในการสรรสร้างของอัลลอฮ์แต่พวกท่านอย่าได้พิจารณาในอัล ลอฮ์” (รายงานโดยอบูนุอัยม์ และฮะดีษนี้มีชะวาฮิดอยู่ในหลายบันทึก ท่านอิบนุฮะญัร อัลอัสก่อลานีกล่าวไว้ในฟัตฮุ้ลบารีย์ว่า เป็นฮะดีษที่รายงานถึงระดับศอฮาบะห์มีสายรายงานที่ดี)

คำพูดของอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ข้างต้นนี้ทำให้เราได้รู้ถึงแนวทางของเหล่าศอฮาบะห์ในการเรียนรู้จักและทำ ความเข้าใจในเรื่องของอัลลอฮ์ นั่นคือการพิจารณาสิ่งถูกสร้างและการสรรสร้างของอัลลอฮ์ แต่ไม่พิจารณาในตัวตนและคุณลักษณะของพระองค์ ทั้งนี้เนื่องจากปัญญาของมนุษย์มีขอบเขตในการรับรู้เท่าที่พระองค์ทรงประทาน ให้เท่านั้น หรือกล่าวได้ว่า มนุษย์รู้ได้เท่าที่รู้ อย่าว่าแต่เรื่องที่ไกลตัวเลย แม้กระทั่งเรื่องตัวของมนุษย์เองก็ยังไม่สามารถใช้ปัญญารู้เองได้ทั้งหมด เช่นเรื่องวิญญาณ ที่มนุษย์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และในอนาคตไม่สามารถเอาปัญญาไปวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อให้ได้รับรู้ได้ด้วย ปัญญาของตนเอง

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

وَيَسْأَلُوْنَكَ عَنِ الرُّوْحِ قُلِ الرُّوْحُ مِنْ أَمْرِ رَبِّي وَمَا أُوْتِيْتُمْ مِنَ العِلْمِ إلاَّ قَلِيْلاً

“และพวกเขาเหล่านั้นจะถามเจ้า (มูฮัมหมัด) เกี่ยวกับวิญญาณ จงประกาศเถิดว่า วิญญาณนั้นเป็นเรื่ององค์อภิบาลของข้า และความรู้เรื่องของวิญญาณไม่ถูกนำมาตีแผ่นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ซูเราะห์อัลอิสรออ์ อายะห์ที่ 85

เมื่อปัญญาของมนุษย์มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะเอาปัญญาของตนเองไปตรัสรู้ในเรื่องตัว ตนและคุณลักษณะของพระเจ้า

คำว่าตรัสรู้ แปลว่า “รู้ด้วยปัญญา” ซึ่งไม่ใช่แนวทางของอิสลาม แต่บรรดาผู้ศรัทธาได้รู้และศรัทธาต่ออัลลอฮ์และคุณลักษณะของพระองค์ด้วย “วะฮ์ยุน” หรือ วะฮีย์ คือด้วยการที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวถึงตัวตนและลักษณะของพระองค์ด้วย พระองค์เอง และบรรรดาผู้ศรัทธาก็เชื่อไปตามนั้น นี่คือวิถีทางการศรัทธาของเหล่าศอฮาบะห์ และบรรดาบรรพชนในยุคต้น

ขณะที่คนยุคหลังบางกลุ่มได้ใช้ปัญญาในการวิเคราะห์วิจารณ์ในเรื่องตัวตนและ คุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮ์ ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธก็ต้องให้สอดคล้องกับปัญญาของตนเอง จนกระทั่งบางคนกล่าวว่า

“เมื่อพูดต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริง”

ข้อความนี้ถ้านำไปใช้ในเรื่องอื่นก็พอทำเนา แต่ถ้านำมาใช้ในเรื่องของอะกีดะห์แล้ว มันคือความหายนะ เพราะคำสอนของศาสนาในบางเรื่องไม่สามารถที่จะเอาปัญญาไปพิสูจน์ได้

เราถามว่า สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่านี้คืออะไร

หากหมายถึงสิ่งที่ปัญญาและประสาทสัมผัสสามารถรับรู้ได้หรือเป็นสิ่งที่สม เหตุสมผล ดังนั้นเราคงต้องปฏิเสธในเรื่องมัวอ์ญีซาตทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงยกตัวอย่าง เช่นเหตุการณ์ที่ท่านนบีอิบรอฮีมถูกโยนลงในกองเพลิงที่กำลังลุกโชน แต่นบีอิบรอฮีมกลับไม่เป็นอะไรเลย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือการที่นบูมูซาเอาไม่เท้าฟาดน้ำทะเลแล้วน้ำทะเลก็แยกออกจนกระทั่งสองฝาก ฝั่งนั้นสูงดั่งขุนเขาทำให้นบีมูซาและพลพรรคข้ามผ่านไปได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเช่นเดียวกัน แต่บรรดาผู้ศรัทธาเชื่อมั่นต่อเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความจริง แต่เป็นเพราะ “วะฮีย์” ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอาน

คนที่ไม่รู้จักขอบเขตการใช้ปัญญานั้น เมื่อเอาปัญญามาวิเคราะห์วิจารณ์ในเรื่องตัวตนและคุณลักษณะของของอัลลอฮ์ก็ ธาตุไฟแตก จนนำไปสู่การปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮ์ที่พระองค์ได้ทรงยืนยันด้วยพระองค์ เอง ตัวอย่างเช่นฮะดีษที่ท่านนบีได้กล่าวถึงเรื่อง “พระองค์อัลลอฮ์ทรงเสด็จลงมาสู่ฟากฟ้าดุนยา” เป็นต้น

สถานะของฮะดีษที่รายงานในเรื่องนี้เป็นฮะดีษศอเฮียะห์ แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ต้องปฏิเสธการเสด็จลงมาของพระองค์อัลลอฮ์ หรือว่ามันไม่สมเหตุสมผล และไม่กินกับปัญญา จึงต้องตีความและอธิบายให้เข้ากับปัญญาของตนเอง มันไม่ใช่เป็นการเอาฮะดีษมาตามปัญญาของเราหรอกหรือ ประหนึ่งว่า เราเอาปัญญาของเราตั้งแล้วเอาฮะดีษมาอธิบายตาม

ก็ไหนเชื่อว่า พระองค์อัลลอฮ์ไม่ทรงเหมือนสิ่งใด แล้วจะเอาพระองค์อัลลอฮ์ไปเปรียบกับสิ่งถูกสร้างทำไม ท่านอาจจะปฏิเสธโดยทันทีว่า...เปล่า ไม่ได้เปรียบ แต่สิ่งที่นำมาอ้างและอธิบายความกันนั้นมันคือเรื่องของมัคลูคและเรื่องของ ดุนยาทั้งสิ้น เช่นการกล่าวว่า “โลกมันกลมและมันก็หมุน มันสว่างและมืดตามกันไป ถ้าที่นี่ตีสองเดี๋ยวที่อื่นก็ตีสองเรียงลำดับกันไป แล้วอัลลอฮ์จะเสด็จมาตอนไหน อย่างไร” นี่แหละคือเรื่องดุนยาล้วนๆที่ท่านนำไปเปรียบกับการเสด็จลงมาของอัลลอฮ์

ดังนั้นเมื่อนำเรื่องดุนยามาตั้งแล้วนำเอาการเสด็จลงมาของอัลลอฮ์มาเปรียบ มันก็เป็นความหายนะอย่างที่ปรากฏอยู่ และเป็นที่มาของการใช้ตรรกวิบัติวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของอัลลอฮ์ของบรรดา ผู้คร่ำเคร่งในอิลมุนกะลาม

ขออัลลอฮ์ทรงให้เราห่างไกลจากแนวคิดเหล่านี้ด้วยเถิด