ชี้แจงคำตอบโต้ของ ญะมาอะห์ตั๊บลีควัลดะอ์วะห์


หลังจากที่ผมได้ตอบคำถามเรื่อง “ญะมาอะห์ตั๊บลีค” ผ่านรายการ “ถามมาซิจะตอบให้” ออกอากาศทางทีวีมุสลิม เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555
จนมาถึงวันอังคารที่ 31 มกราคม 2555 มีพี่น้องส่งบทความจากเว็บ “มุสลิมสองโลก” มาให้ผมชี้แจงออกอากาศทางรายการ เมื่ออ่านดูก็พบว่าเป็นบทความของกลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีค ที่ตอบโต้คำตอบของผม ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะไม่เคยได้รับคำชี้แจงทางวิชาการจากคนกลุ่มนี้มาก่อน แต่ผมก็ได้อ่านและชี้แจงออกอากาศสด และรับปากกับผู้ชมว่า จะทำบทความชี้แจงทางวิชาการให้ได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่งด้วย
บทความตอบโต้ของกลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีค ที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นข้อความเดิม มิได้ตัดถอน, ดัดแปลงข้อความหรืออักษรใดๆ ให้เพี้ยนไปจากต้นฉบับดังนี้

.......................................................................................................................

อาจารย์ฟารีดยังไม่เก็ท หลักฐานเรื่องห้ามพำนักนอกจากสามมัสยิด

ใครก็ได้ช่วยกระซิบบอกอาจารย์ฟาริดที ว่ากำลังอธิบายหะดีษนะบี ด้วยหัวสมองทึบๆของตัวเอง ลองดูว่าปราชญ์รุ่นก่อนให้คำอธิบายหะดีษนี้อย่างไร

ห้ามมิ ให้ผูกมัด(เจาะจง)การเดินทาง(ไปยังมัสยิดใดมัสยิดหนึ่ง)เว้นแต่สามมัสยิด คือ มัสยิดอัลฮารอม มัสยิดของท่านรอซูล(ซ.ล.)และมัสยิดอัลอักซอ
ท่าน อิบนุฮาญัร อัลอัซกอลานีย์ ได้กล่าวว่า"คำกล่าวของท่านนบี(ซ.ล.)"لاتشد الرحال" อ่านด้วยสระฎอมมะฮ์ ตัวแรกคือตัว ตาอฺ โดยเป็นคำห้ามและแท้จริงแล้ว จุดประสงค์ คือ การห้ามจากการเดินทางไปยังมัสยิดอื่น فتح البارى على شرح البخارى เล่ม 3 หน้า 383-384

ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้อธิบายหะดิษดังกล่าว ความว่า

‏وفي هذا الحديث : فضيلة هذه المساجد الثلاثة , وفضيلة شد الرحال إليها , لأن معناه عند جمهور العلماء : لا فضيلة في شد الرحال إلى مسجد غيرها . وقال الشيخ أبو محمد الجويني من أصحابنا : يحرم شد الرحال إلى غيرها وهو غلط

"ในหะดิษนี้ คือยืนยันถึงความประเสริฐของมัสยิดทั้งสามนี้ และยืนยันถึงความประเสริฐในการเดินทางไปยังมัสยิดทั้งสาม เพราะความหมายของหะดิษนี้ตามทัศนะของนักปราชญ์ส่วนมากคือ ไม่มีความประเสริฐ(ที่สมบูรณ์ยิ่ง)ในการเดินทางไปยังอื่นจากสามมัสยิดนี้ และท่านชัยค์ อบูมุฮัมมัด อัลญุวัยนีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์ของเรา กล่าวว่า หะรอมโดยการเดินทางไปยังมัสยิดอื่นจากสามมัสยิดนั้น เป็นทัศนะคำพูดที่ผิด" ดู ชัรห์ ซอฮิห์ มุสลิม เล่ม 5 หน้า 181 ตีพิมพ์ ดารุลหะดิษ

ท่านชัยคุลอิสลาม อัลหาฟิซฺอิบนุหะญัร ได้กล่าวอธิบายเกี่ยวกับหะดิษไว้ตอนหนึ่งว่า

والصحيح عند إمام الحرمين وغيره من الشافعية أنه لا يحرم , وأجابوا عن الحديث بأجوبة منها أن المراد أن الفضيلة التامة إنما هي في شد الرحال إلى هذه المساجد بخلاف غيرها فإنه جائز

"ที่ถูกต้อง ตามทัศนะของท่านอิมามอัลหะรอมัยน์ และท่านอื่น ๆ จากบรรดานักปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์ คือ แท้จริงการ(เจาะจง)เดินทางนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หะรอม และพวกเขาได้ทำการตอบจากหะดิษ ด้วยหลายคำตอบด้วยกัน คือ แท้จริง จุดมุ่งหมาย(ของหะดิษนี้)คือ แท้จริง คุณความดีที่สมบูรณ์ คือ การเดินทางไปยังบรรดามัสยิด(ทั้งสาม)นี้ ซึ่งแตกต่างกับบรรดามัสยิดอื่นจากมัน(ทั้งสาม) เพราะว่าแท้จริง มัสยิดอื่นจากทั้งสามนั้น อนุญาต ให้เดินทางไปได้" เล่ม 3 หน้า 383-384

ตกลงว่าใครกันแน่ที่คิดเองเรื่องศาสนา

…………………………………………………………………………………………..

ผมอ่านข้อความข้างต้นนี้แล้วไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นข้อความของคนที่อ้างตนเองว่า ทำงานศาสนา เพราะมีข้อความบิดเบือน,กล่าวหา,ใส่ร้ายอย่างชัดเจน จึงได้ให้ทีมงานเข้าไปตรวจสอบในเว็บดังกล่าว ก็ปรากฏข้อความเป็นจริงตามที่พี่น้องได้ส่งมาให้ (ถ้าเจ้าของเวบไม่ลบหรือแก้ไขให้ต่างไปจากที่นำมาแสดง)

ก่อนที่ท่านจะได้อ่านคำชี้แจง ก็อยากให้ท่านได้ทราบข้อความที่เป็นจริงจากคำตอบของผมก่อนตามลิงค์ด้านล่างนี้

http://www.moradokislam.org/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&p=14884#14884


คำตอบของผมหลายประเด็นนั้น กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีคยังไม่มีการชี้แจง แต่ที่ได้ชี้แจงมาแล้วกลับเป็นการบิดเบือน ซึ่งข้อความของผมที่กล่าวเกี่ยวกับการตระเวนไปตามมัสยิดต่างๆ ตามที่บันทึกเทปไว้มีดังนี้

แกะข้อความจากเทปบันทึกวินาทีที่ 45.17 เป็นต้นไป

“การที่ไปพักค้างอ้างแรมกันตามมัสยิดต่างๆ มันก็ไม่ใช่สูตรของท่านนบี คือถ้าจะเอียะอ์ติกาฟ ไปเอียะอ์ติกาฟที่มัสยิด นั่นคือฮุก่มของการเอียะอ์ติกาฟ แต่ที่ไปนี่มันไม่ใช่เอียะอ์ติกาฟ จากมัสยิดนั้นไปมัสยิดนี้ จากมัสยิดนี้ไปมัสยิดนั้น ถามว่าไปทำไม ด้วยหลักฐานหรือด้วยเหตุผล ถ้าด้วยหลักฐานมันก็ต้องมีหลักฐาน แต่หลักฐานทางศาสนากลับไม่สนับสนุนส่งเสริมให้ตระเวนไปตามมัสยิดต่างๆ เปล่าเลย
ท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لاَ تُشَدُّ الرِّجَالُ إلاَّ بِثَلاَثَةِ مَسَاجِدٍ

“อย่าจัดเตรียมสัมภาระตระเวนไปตามมัสยิดต่างๆ ยกเว้นสามมัสยิด”
ก็คือมัสยิดฮะรอม,มัสยิดอักศอ,และมัสยิดของฉัน ท่านนบีพูดตอนที่อยู่ที่มัสยิดนบี


สามมัสยิดจะมีคุณค่าการปฏิบัติที่ลดหลั่นกันไป นอกเหนือจากสามมัสยิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดที่ไหนในโลกนี้ก็เหมือนกัน อ.รอชีดีน (ผู้ซักถาม) อยู่มัสยิดไหนก็ละหมาดมัสยิดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ละหมาดมัสยิดทางใต้ผลบุญจะเยอะกว่าละหมาดมัสยิดทางเหนือ หรือไปละหมาดที่มัสยิดปากีผลบุญจะเยอะกว่า แต่เขาก็อ้างว่า ถ้าอยู่นิ่งๆ มันไม่เกิดอีหมาน ก็ต้องมุญาฮะดะห์ มันต้องมุญาฮะดะห์ ปัญหาก็คือใช้วิธีคิดกันเอง มันไม่ใช่สูตรของอิสลาม”

คำตอบของผมในประเด็นนี้มีทั้งการแสดงหลักฐาน หมายถึงตัวบทฮะดีษเป็นภาษาอาหรับและแปลเป็นภาษาไทยพร้อมคำอธิบายควบคู่กัน ซึ่งในด้านตัวบทฮะดีษนั้นไม่มีข้อสงสัยใดๆ เพราะเป็นฮะดีษที่ถูกบันทึกใน ศอเฮียะห์บุคอรี, ศอเฮียะห์มุสลิม และบันทึกอื่นๆ

ส่วนในด้านการให้ความหมายนั้น ผมได้แปลฮะดีษบทนี้ว่า “อย่าจัดเตรียมสัมภาระตระเวนไปตามมัสยิดต่างๆ ยกเว้นสามมัสยิด” ซึ่งการแปลเช่นนี้สอดคล้องกับการให้ความหมายของ อิบนิฮะญัร อัลอัสกอลานี ดังที่กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีคได้นำมาแสดงคือ

“ท่าน อิบนุฮาญัร อัลอัซกอลานีย์ ได้กล่าวว่า"คำกล่าวของท่านนบี(ซ.ล.)"لاتشد الرحال" อ่านด้วยสระฎอมมะฮ์ ตัวแรกคือตัว ตาอฺ โดยเป็นคำห้ามและแท้จริงแล้ว จุดประสงค์ คือ การห้ามจากการเดินทางไปยังมัสยิดอื่น فتح البارى على شرح البخارى เล่ม 3 หน้า 383-384”

ข้อความที่กลุ่มดะอ์วะห์นำมาแสดงนี้ไม่ได้อ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอาหรับและมีการแปลคลาดเคลื่อนจากวัตถุประสงค์ของผู้กล่าว ดังนั้นจึงต้องนำเอาข้อความภาษาอาหรับซึ่งเป็นคำของอิบนิฮะญัร ผู้เป็นเจ้าของคำพูดมาแสดงดังนี้

قوله : لا تشد الرحال بضم أوله بلفظ النفي ، والمراد النهي عن السفر إلى غيرها


“คำพูดของท่านนบีที่ว่า : (สัมภาระจะไม่ถูกจัดเตรียมตระเวนไปตามที่ต่างๆ) โดยการใส่สระดอมมะห์อักษรแรก (คืออักษร ตาอ์) ด้วยคำที่แสดงถึง การปฏิเสธ แต่วัตถุประสงค์คือ การห้าม การเดินทางไปยังมัสยิดนอกจากนี้” จากหนังสือฟัตฮุ้ลบารีย์ โดย อิบนิ ฮะญัร อัลอัสกอลานีย์ ตามที่ญะมาอะห์ตั๊บลีคได้นำมาอ้าง

ข้างต้นนี้คือข้อความจากต้นฉบับภาษาอาหรับ โดยแปลความหมายตามวัตถุประสงค์ของผู้กล่าว จะเห็นได้ว่ามีความหมายต่างจากแปลของ ญะมาอะห์ตั๊บลีค

ขอชี้แจงด้านภาษาสักเล็กน้อยว่า อักษร لا ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า “ไม่” ซึ่งเป็นคำปฏิเสธ ก็ได้ หรือมีความหมายว่า “ อย่า” ซึ่งเป็นคำห้าม ก็ได้เช่นเดียวกัน แต่อิบนิฮะญัรได้กล่าวว่า คำกริยาถัดมาใส่สระดอมมะห์ที่อักษรแรกคือ “ตาอ์” อ่านว่า ตุชัดดุ (อ่านเป็นมับนีลิ้ลมัจฮุ้ล และคำว่า อัรริฮาลุ ตกตำแหน่ง นาอิบุ้ลฟาอีล) ดังนั้นอักษร لا ในฮะดีษนี้จึงมีความหมายแสดงถึงการปฏิเสธ ถ้าจะให้ความหมายของประโยคนี้ตรงตามภาษาโดดๆ ก็จะแปลความได้ว่า “สัมภาระจะไม่ถูกจัดเตรียมตระเวนไปตามที่ต่างๆ” แต่ท่านอิบนิฮะญัรก็แจ้งว่า คำพูดนี้แม้จะใช้ถ้อยคำปฏิเสธแต่ก็สื่อถึงการห้าม
ดังนั้นคำแปลฮะดีษของผมที่ว่า “อย่าจัดเตรียมสัมภาระตระเวนไปตามมัสยิดต่างๆ ยกเว้นสามมัสยิด” ก็เป็นการแปลตามวัตถุประสงค์ดังที่อิบนิฮะญัร ได้กล่าวไว้ มิได้เป็นการแปลที่ออกนอกกรอบวิชาการแต่อย่างใด
สรุปว่า ในประเด็นนี้ กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีค ยกคำพูดของอิบนิ ฮะญัร มาแปลผิดและสื่อผิดวัตถุประสงค์

ประการต่อมา ในด้านการอธิบายฮะดีษนั้น หากกลุ่มญามอะห์ตั๊บลีคไม่กล่าวเท็จและบิดเบือนแล้ว ก็คงประจักษ์ในคำอธิบายของผมที่กล่าวว่า

“แต่หลักฐานทางศาสนากลับไม่สนับสนุนส่งเสริมให้ตระเวนไปตามมัสยิดต่างๆ เปล่าเลย” หรือคำว่า
“สามมัสยิดจะมีคุณค่าการปฏิบัติที่ลดหลั่นกันไป นอกเหนือจากสามมัสยิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดที่ไหนในโลกนี้ก็เหมือนกัน อ.รอชีดีน อยู่มัสยิดไหนก็ละหมาดมัสยิดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ละหมาดมัสยิดทางใต้ผลบุญจะเยอะกว่าละหมาดมัสยิดทางเหนือ หรือไปละหมาดที่มัสยิดปากีผลบุญจะเยอะกว่า”

คำอธิบายเหล่านี้สอดคล้องกับคำอธิบายของอิหม่ามนะวาวีย์ ดังที่กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีคได้ยกมาอ้าง แต่ที่แปลกก็คือ กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีค ได้แปลเพื่อที่จะบิดเบือนคำของอิหม่ามนะวาวีย์ที่อ้างถึงญุมฮูรอุลามาอ์ในประโยคที่ว่า

لا فضيلة في شد الرحال إلى مسجد غيرها


ญะมาอะห์ตั๊บลีคได้แปลประโยคนี้ว่า “ไม่มีความประเสริฐ (ที่สมบูรณ์ยิ่ง) ในการเดินทางไปยังอื่นจากสามมัสยิดนี้”

ท่านจะเห็นได้ว่ามีข้อความในวงเล็บซึ่งเป็นคำของผู้แปลเองที่สอดแทรกเข้ามา
เพื่อต้องการจะสื่อถึงอะไร หรือต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ยังมีความประเสริฐนอกจากสามมัสยิดนี้อีกแต่ไม่สมบูรณ์เท่าสามมัสยิดกระนั้นหรือ
ความจริงแล้วประโยคนี้ต้องให้ความหมายว่า “ไม่มีความประเสริฐใดๆในการเดินทางไปยังอื่นจากสามมัสยิดนี้” จึงจะถูกต้อง เนื่องจากอักษร لا ข้างหน้าประโยคเจาะจงปฏิเสธถ้อยคำถัดมาคือคำว่า فضيلة นั่นเอง

ส่วนข้อความในประเด็นสุดท้ายที่กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีคนำมาอ้างคือ

“จุดมุ่งหมาย(ของหะดิษนี้)คือ แท้จริง คุณความดีที่สมบูรณ์ คือ การเดินทางไปยังบรรดามัสยิด(ทั้งสาม)นี้ ซึ่งแตกต่างกับบรรดามัสยิดอื่นจากมัน(ทั้งสาม) เพราะว่าแท้จริง มัสยิดอื่นจากทั้งสามนั้น อนุญาต ให้เดินทางไปได้"

ในกรณีของมัสยิดอื่นๆ นั้นเราไม่ได้วิจารณ์ว่าไปได้หรือไม่ได้, ฮารอม หรืออนุญาต แต่เราชี้ให้เห็นว่าไม่มีความประเสริฐใดๆจากการตระเวนไปตามมัสยิดต่าง ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดในภาคเหนือหรือภาคใต้, ในอินเดียหรือปากีสถาน หรือมัสยิดใดในโลกก็ตาม

ทั้งๆที่ผมได้แปลฮะดีษนี้ตามคำชี้แจงของ อิบนิฮะญัร
ทั้งๆที่ผมได้อธิบายฮะดีษนี้ตามการอธิบายของอิหม่ามนะวาวีย์
แต่ทำไม ญะมาอะห์ตั๊บลีคถึงกล่าวหาว่า ผมเอาปัญญาทึบๆของตัวเองอธิบายฮะดีษ
คำตอบคือ ญะมาอะห์ตั๊บลีคได้ตั้งหัวข้อในสิ่งที่ผมไม่ได้พูด แล้วก็จับผมเป็นจำเลย เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ แต่ก็ทำได้ไม่แนบเนียน เพราะแค่หัวข้อที่ตั้งไว้กับข้อความขึ้นต้นก็ไม่ตรงกันเสียแล้ว
หัวข้อตั้งไว้ว่า ห้ามพำนักนอกจากสามมัสยิด
ข้อความจั่วหัวว่า ห้ามมิ ให้ผูกมัด(เจาะจง)การเดินทาง
ตกลงว่า ห้ามอะไรกันแน่ ท่านมั่วของท่านเอง แล้วก็ยัดเยียดใส่ความผู้อื่น

มาถึง ณ.ตรงนี้คงต้องถามว่า
ผมหรือญะมาอะห์ตั๊บลีคที่ไม่เข้าใจฮะดีษ
ผมหรือญะมาอะห์ตั๊บลีคที่บิดเบือนคำอธิบายของปราชญ์รุ่นก่อน
ดังนั้น คำถามที่กลุ่มญะมาอะห์ตั๊บลีคทิ้งท้ายไว้ว่า “ตกลงว่าใครกันแน่ที่คิดเองเรื่องศาสนา”
ญะมาอะห์ตั๊บลีคคงต้องตอบกันเองแล้วละ