ชี้แจงการแปลคำฟัตวา




หลังจากที่ผมได้แปลและชี้แจงคำฟัตวาของคณะกรรมการถาวรเพื่อการฟัตวา เกี่ยวกับกลุ่มอิควานตามที่มีพี่น้องได้ส่งข้อความให้ช่วยชี้แจงข้อเท็จจริง ตามความที่ปรากฏในบทความชื่อ “กลุ่มอิควานคืออะห์ลิสซุนนะห์หรือ” ตามลิงค์นี้ http://www.fareedfendy.com/alikwan3.php



หลังจากนั้น ผมก็ไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งมีผู้ส่งข้อความต่อไปนี้มาถึงผมคือ

อัสสลามุอาลัยกุมค่ะ
ประเด็นลุญจ์นะห์ที่ฟัตวาว่ากลุ่มที่ไกล้เคียงกับอะห์ลิซซุนนะห์หรือเปล่านั้น มีการถกเถียงกัน เเละมีคำอธิบายจากอาจารย์ฟารีด เฟนดี้ เเละนี้เป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นของอาจารย์ท่านนึงของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่กล่าวว่าอาจารย์ฟะรีดเเปลผิดพลาด เเละพี่น้องอัซซาบิกูนเราไม่มีความรู้ด้านภาษาอาหรับมาตีความฟัตวาค่ะ อยากให้พี่น้องได้อ่านดู เเละช่วยส่งให้อาจารย์ฟารีด อ่านด้วยค่ะ

https://www.facebook.com/isuemae/posts/641111852588361

หลังจากที่อ่านแล้วก็ยังงงอยู่ว่าใครคุยกับใคร และใครเถียงกับใคร เพระเป็นการคุยกันคนละที่สองที่ จึงต้องสืบหาต้นเรื่องแล้วก็พบว่ามีผู้โต้แย้งคำแปลของผม และมีอีกท่านหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าเป็นผู้ใดได้โต้แย้งผู้คัดค้านนี้เช่นเดียวกัน

แปลกใจกับเหตุการณ์นี้เหลือเกิน เนื่องจากคำชี้แจงของผมกรณีจดหมายเปิดผนึก ก็ยังไม่เห็นว่ามีผู้ใดชี้แจงทางวิชาการเพื่อแสดงการปกป้องสัจธรรมว่านำอัลกุรอานและฮะดีษไปใช้ถูกหรือผิดอย่างไร แต่เมื่อพูดถึงกรณี อิควาน กลับทำให้บางคนถึงกับนอนไม่หลับลุกขึ้นมาชี้แจงจ้าละหวั่น

อย่างไรก็ตาม ขออัลลอฮ์ได้ทรงตอบแทนท่านทั้งสองที่พยามชี้แจงเพื่อให้เกิดความกระจ่างในความหมายและวัตถุประสงค์ของคำฟัตวานี้

أقرب الجماعات الإسلامية إلى الحق وأحرصها على تطبيقيه أهل السنة وهم أهل الحديث وجماعة أنصار السنة ثم الاخوان المسلمون

“กลุ่มอิสลามที่ใกล้เคียงกับสัจธรรมที่สุดและเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นที่สุดในการปฏิบัติตามสัจธรรม คือ ชาวอะห์ลุซซุนนะหฮ์ พวกเขาคือ ชาวอะห์ลุลฮาดีษ และ ญะมาอะฮ์อันศอริซซุนนะฮ์ หลังจากนั้นก็เป็น ญะมาอะฮ์ อิควานนุนมุสลิมีน”

นี่คือคำแปลต้นเรื่องตามที่โพสต์ไว้ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนแปล และผมเองก็ไม่ได้ตำหนิผู้แปลแต่อย่างใด แต่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “ผู้ที่ได้อ่านข้อความนี้จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของฟัตวาผิดไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากการสื่อความหมายทางภาษาไม่ชัดเจน” ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้

เนื่องจากการตีความทางภาษานั้นเป็นไปได้หลายทาง และหากจะกล่าวในทางไวยากรณ์ก็กล่าวได้หลายกรณีด้วยกันดังนี้ (หากท่านผู้อ่านไม่มีพื้นฐานทางภาษาขอให้อ่านข้ามข้อความต่อไปนี้ก็ได้)

คำว่า “อักร๊อบ” เป็น มุบตะดา และเป็นมุฏอฟ “อัลญะมาอาต” เป็นมุฏอฟุอิลัยฮิ “อัลอิสลามียะห์” เป็น ซิฟะห์ ส่วนข้อความถัดมา มุตะอัลลิก กับข้อความก่อนหน้า และถัดมาคือ อะตอฟญุมละห์ ส่วน ค่อบัร ก็คือคำว่า “อะห์ลุสซุนนะห์” ซึ่งอยู่ในรูปของ มุฏอฟและมุฏอฟฟุอิลัยฮิ และประเด็นนี้มิใช่ปัญหาที่มีมุมมองต่างกันจึงขอละไว้

ส่วนข้อความถัดมาเป็นประเด็นที่มีมุมมองต่าง ซึ่งกล่าวได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง “วาว” ที่ตกหลังจากคำว่า “อะห์ลุสซุนนะห์” คือคำว่า วะฮุ้ม” นั้นเป็น “อะตอฟบะยาน” หรือเป็น “อิสตินาฟ” (เพื่อการเริ่มประโยคใหม่) ก็ได้ และอักษร “วาว” ถัดมาคือ “อะตอฟ” จากคำว่า “อะห์ลุ้ลฮะดีษ” ส่วนคำว่า “ซุมม่า” อะตอฟ จากคำว่า อันศอริสซุนนะห์ อีกทีหนึ่ง

ประการที่สอง “วาว” ที่ตกหลังจากคำว่า “อะห์ลุสซุนนะห์” คือคำว่า วะฮุ้ม” นั้นเป็น “อะตอฟบะยาน” หรือเป็น “อิสตินาฟ” (เพื่อการเริ่มประโยคใหม่) ก็ได้ และอักษร “วาว” ถัดมาหน้าคำว่า ญะมาอะห์ เป็น “อะตอฟ” จากคำว่า “อะห์ลุ้ลฮะดีษ” ส่วนคำว่า “ซุมม่า” อะตอฟ จากคำว่า อะห์ลุสซุนนะห์

ประการที่สาม “วาว” ที่ตกหลังจากคำว่า “อะห์ลุสซุนนะห์” คือคำว่า วะฮุ้ม” นั้นเป็น “อะตอฟบะยาน” หรือเป็น “อิสตินาฟ” (เพื่อการเริ่มประโยคใหม่) ก็ได้ และอักษร “วาว” ถัดมาหน้าคำว่า ญะมาอะห์ เป็น “อะตอฟ” จากคำว่า “อะห์ลุ้ลฮะดีษ” ส่วนคำว่า “ซุมม่า” อะตอฟ จากคำว่า อะห์ลุ้ลฮะดีษ เช่นเดียวกัน

นอกจากในสามวิธีดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว หากผู้ใดอยากได้วิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ก็อาจตั้งสมฐาน (ตักดีร) เอาก็ได้ ถ้าอ่านได้เอียะอ์รอบได้ก็ไม่มีปัญหาในทางภาษา แต่จะถูกหรือผิดวัตถุประสงค์ของฟัตวาหรือเปล่านั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง

อาจจะมีบางคนกล่าวว่าหลักเกณฑ์ของการ อะตอฟ นั้นจากเริ่มจากที่ใกล้ที่สุดก่อน ก็ขอตอบว่า ใช่ มันเป็นหลักเกณฑ์โดยทั่วไปแต่ไม่เสมอไป ตัวอย่างเช่นข้อความในอัลกุรอานเรื่องคำสั่งอาบน้ำละหมาดดังนี้

إذَا قُمْتُمْ إلَى الصَّلاَةِ فَاغْسِلُوا وُجُوْهَكُمْ وَأيْدِيَكُمْ إلَى المَرَافِقِ وَامْسَحُوا بِرُؤُسِكُمْ وَأرْجُلَكُمْ إلَى الكَعْبَيْنِ


“เมื่อพวกเจ้าจะยืนขึ้นละหมาด ก็จงล้างหน้าของพวกเจ้าและมือของพวกเจ้าจนถึงข้อศอก และจงเช็ดศีรษะของพวกเจ้า และ (ล้าง) เท้าทั้งสองจนถึงตาตุ่ม” ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 6

คำว่า “และเท้าทั้งสองของพวกเจ้า” คำนี้มิได้ อะตอฟจากตัวที่ใกล้สุด แต่ อะตอฟจากคำว่า “วุญูฮะกุ้ม” เพราะฉะนั้นคำนี้จึงไม่ได้สื่อความหมายว่าจงเช็ดศีรษะและเช็ดเท้า แต่สื่อความหมายว่า จงเช็ดศีรษะและล้างเท้าซึ่งเราได้รับความเข้าใจวัตถุประสงค์ของอายะห์นี้จากการกระทำและคำสอนของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม

ฉะนั้นเมื่อข้อความทางภาษา อาจจะสื่อถึงอย่างนั้นก็ได้หรืออย่างนี้ก็ได้ ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะทราบวัตถุประสงค์ของข้อความฟัตวานี้

ในฐานะที่ผมเองก็แปลตัฟซีรและฮะดีษบุคอรีและมุสลิมไว้เยอะ ในเวปไซต์ส่วนตัว www.fareedfendy.com ซึงหลักเกณฑ์ของผมมิใช่แค่แปลภาษาเท่านั้น แต่พยายามสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามวัตถุประสงค์ของตัวบท เช่นการจะแปลฮะดีษสักต้นหนึ่ง ก็ต้องนั่งไล่ดูฮะดีษบทอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าใช้หลักเกณฑ์ทางภาษาอย่างเดียวก็อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้

เพราะฉะนั้นเมื่อพี่น้องส่งคำฟัตวามาให้ชี้แจง ก็มิได้หมายความว่า ผมเห็นข้อความแล้วแปลเลย แต่ต้องตรวจค้นคำฟัตวาอื่นในเรื่องเดียวกันนี้ หรือคำฟัตวารายบุคคลของคณะกรรมการที่ออกฟัตวานี้ เพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง

แต่ไม่ว่าจะเป็นการแปลตรงตัว หรือแปลตามวัตถุประสงค์ของข้อความหรือด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้สถานะของกลุ่มอิควาน ดูดีหรือเทียบเท่า อะห์ลุสซุนนะห์ที่เป็น อะห์ลุ้ลฮะดีษหรือ ญะมาอะห์อันศอริสซุนนะห์ได้เลย


ฟารีด เฟ็นดี้
วันพุธที่ 18 กันยายน 2556