ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 104


يَأَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا لاَ تَقُوْلُوا رَاعِنَا وَقُولُوا انْظُرْنَا وَاسْمَعُوا وَلِلْكَافِرِيْنَ عَذَابٌ أَلِيْمٌ


โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่ากล่าวคำว่า โปรดฟังพวกเราแล้วเราก็จะฟังท่าน แต่พวกเจ้าจงกล่าวว่า โปรดช่วยเหลือพวกเราด้วย และพวกเจ้าจงฟังให้ดี และสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นคือการลงโทษอันเจ็บปวด



ถ้อยคำที่ว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย) พระองค์อัลลอฮ์ทรงขึ้นต้นอายะห์นี้ด้วยการเจาะจงเรียก “บรรดาผู้ศรัทธา” เป็นการเฉพาะ และเมื่อพบข้อความดังกล่าวนี้ในอัลกุรอานจะสังเกตได้ว่า ข้อความถัดมาจะเป็นบัญญัติใช้หรือห้าม หรือข้อแนะนำแก่บรรดาผู้ศรัทธาเสมอ ต่างกับคำว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย” ซึ่งข้อความถัดมามักจะเป็นการเรียกร้องสู่ศรัทธา

“อับดุลลอฮ์ อิบนิ มัสอู๊ด กล่าวว่า เมื่อท่านได้ยินพระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย) ก็จงสดับรับฟังให้ดีเถิด เพราะคือข้อความที่กล่าวถึงความดีที่ใช้ให้ปฏิบัติหรือไม่ก็เป็นความชั่วที่ห้ามปฏิบัติ” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 213

ถ้อยคำที่ว่า (พวกเจ้าจงอย่ากล่าวคำว่า โปรดฟังพวกเราแล้วเราก็จะฟังท่าน) พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวห้ามบรรดาผู้ศรัทธาว่า อย่าได้แสดงพฤติกรรมสิ่งยโสโอหัง และพฤติกรรมดูแคลนต่อท่านนบี ดังเช่นบนีอิสรออีลเหล่ายะฮูด ได้กล่าวคำว่า “รออินา” กับท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แม้ว่าคำนี้จะถูกใช้ในภาษาอาหรับมีความหมายในทำนองว่า “เห็นใจเราหน่อย”หรือ “โปรดฟังเราหน่อย” ก็ตาม
ขณะที่ความหมายของคำนี้ในภาษายิวจะสื่อถึงการดูแคลน,เยาะเย้ย,ถากถางและสบถเช่นคำว่า “ไอ้ทึ่ม” หรือ “โง่เง่า” อย่างนี้เป็นต้น
นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า คำว่า “รออินา” เป็นภาษาดั่งเดิมของชาวอันศอร ก่อนเข้ารับอิสลาม ดังเช่นที่ อิบนุ ญะรีร ได้นำมาตีแผ่ไว้ในตัฟซีรของท่าน
แต่ความเข้าใจของนักวิชาการทั้งสองกรณีนี้ไม่ค้านกัน คือไม่ว่าจะเป็นภาษายิวหรือภาษาถิ่นของชาวอันศอรในอดีตก็ตาม เนื่องจากรอบๆ นครยัษริบ หรือนคนมะดีนะห์ นั้นเคยเป็นถิ่นฐานของยิวหลายตระกูล เช่น บนีก็อยนุกออ์, บนีนะดีร, บนีกุรอยเซาะห์ และนบีมุสฏอลิก ดังนั้นคำนี้จึงแพร่กระจายกลายเป็นภาษาถิ่นของชาวอันศอรก่อนเข้ารับอิสลามด้วย

อิบนุ ญะรีร ได้กล่าวว่า “บรรดานักวิชาการมีมุมมองที่ต่างกันในการให้ความหมายคำว่า “รออินา” ในภาษาอาหรับ

บางท่านกล่าวว่า หมายถึง “พวกเจ้าอย่าได้กล่าวคำแย้ง” ดังคำรายงานว่า
มูฮัมหมัด บิน ยะซาร เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า มุอัมมัล เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ซุฟยาน เล่าให้เราฟังจาก อิบนุ ญุรอยจญ์ จาก อะฏออ์ ในถ้อยคำที่ว่า (พวกเจ้าจงอย่ากล่าวคำว่า รออินา) หมายถึงพวกเจ้าอย่ากล่าวคำแย้ง
มูฮัมหมัด บิน อัมร์ เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อบูอาศิม เล่าให้เราฟังจาก อีซา จาก อิบนุ อบีนะญิฮ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า (พวกเจ้าจงอย่ากล่าวคำว่า รออินา) หมายถึงพวกเจ้าอย่าได้กล่าวคำแย้ง ซึ่งในสายรายงานอื่นๆ อีกหลายสายที่อ้างถึง มุญาฮิด ก็ให้ความหมายทำนองนี้เช่นเดียวกัน

แต่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “รออินา” หมายถึง“อัรอินา ซัมอัก” แปลว่า “โปรดฟังพวกเราแล้วพวกเราก็จะฟังท่าน” ดังคำรายงานที่ว่า
อิบนุ ฮุมัยด์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ซะละมะห์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อิบนุ อิสฮาก เล่าให้ฉันฟังจาก มูฮัมหมัด อิบนุ อบี มูฮัมหมัด จาก อิกริมะห์ หรือ จาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส ในถ้อยคำที่ว่า “รออินา” หมายถึง โปรดฟังเราแล้วเราก็จะฟังท่าน
มูฮัมหมัด บิน อัมร์ เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อบูอาศิม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อีซา เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า จาก อิบนุ อบีนะญิฮ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้กล่าวคำว่า รออินา) หมายถึง พวกเจ้าอย่าได้กล่าวว่า โปรดฟังพวกเราแล้วเราก็จะฟังท่าน” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 469

แต่คำว่า “รออินา” ในภาษายิวนั้นสื่อความหมายถึงการดูแคลน ดังคำรายงานว่า

“บิชร์ บิน มุอาซ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ยะซีด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า สะอี๊ด เล่าให้เราฟังจาก ก่อตาดะห์ ในถ้อยคำที่ว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่ากล่าวคำว่า “รออินา”) คือคำที่บรรดาชาวยะฮูดได้กล่าวเยาะเย้ยถากถาง อัลลอฮ์จึงได้ห้ามบรรดาผู้ศรัทธาที่จะกล่าวด้วยถ้อยคำของพวกเขา
อะห์หมัด บิน อิสหาก เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อะห์หมัด อัสซุบัยรี่ย์ เล่าให้เราฟังจาก ฟุฏอยล์ บิน มัรซูก จาก อะฏียะห์ ในถ้อยคำที่ว่า (พวกเจ้าอย่าได้กล่าวคำว่า “รออินา”) เขากล่าวว่า ชาวยะฮูดนั้นได้กล่าวว่า “อัรอินา ซัมอัก” หมายถึง โปรดฟังเราหน่อยแล้วเราก็จะฟังท่าน จนกระทั่งบรรดามุสลิมได้กล่าวตามถ้อยคำของพวกเขา พระองค์อัลลอฮ์ทรงรังเกียจถ้อยคำที่พวกเขาได้กล่าวเช่นเดียวกับถ้อยคำที่ชาวยะฮูดได้กล่าว ดังนั้นพระองค์จึงกล่าวว่า (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่ากล่าวคำว่า “รออินา”) ดังเช่นชาวยะฮูดและนะศอรอได้กล่าวกัน” ตัฟซีร อัฏตอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 469

ถ้อยคำที่ว่า (แต่พวกเจ้าจงกล่าวว่า โปรดช่วยเหลือพวกเราด้วย) พระองค์อัลลอฮ์ทรงใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธาให้กล่าวถ้อยคำที่แสดงถึงการให้เกียรติต่อท่านรอซูล ด้วยคำว่า “อุนซุรนา” แปลว่า โปรดให้ความช่วยเหลือพวกเขา

อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “ความหมายของข้อความนี้คือ : โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจงกล่าวแก่นบีของพวกเจ้าด้วยคำว่า โปรดให้ความช่วยเหลือพวกเรา โปรดให้ความเข้าใจแก่พวกเราในสิ่งที่ท่านได้กล่าวแก่พวกเรา และได้โปรดสอนเรา ดังเช่นคำรายงานจาก
มูฮัมหมัด บิน อัมร์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อบูอาศิม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อีซา เล่าให้เราฟังจาก อิบนุ อบี นะญิฮ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า ( แต่พวกเจ้าจงกล่าวว่า โปรดช่วยเหลือพวกเรา) โปรดชี้แจงและให้ความเข้าใจแก่พวกเราโอ้มูฮำหมัด” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 473

ถ้อยคำที่ว่า (และพวกเจ้าจงฟังให้ดี) คือน้อมรับและปฏิบัติตามถ้อยคำที่ถูกบัญญัติให้แก่พวกเจ้าจากคัมภีร์แห่งองค์อภิบาลของพวกเจ้า

ถ้อยคำที่ว่า (และสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นคือการลงโทษอันเจ็บปวด) คือบรรดาเหล่ายะฮูดที่สบโอกาสใช้ถ้อยคำที่ผู้คนกล่าวกันโดยทั่วไปว่า “รออินา” แต่แฝงความหมายดูแคลนในภาษาของพวกเขา ซึ่งเท่ากับพวกเขาได้กล่าวดูแคลนท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่าเป็นคนโง่เงา ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์ทรงรู้ถึงเจตนาในถ้อยคำที่พวกเขากล่าวกันเป็นอย่างดี

อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “เป้าหมายของอายะห์นี้คือ การที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงห้ามบรรดาผู้ศรัทธาในการเลียนแบบผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ
อิบนุ กะษีร ได้อ้างอิงการอธิบายประเด็นนี้ด้วยการนำเอาฮะดีษจาก อิหม่ามอะห์หมัด และจากบันทึกของ อบีดาวู๊ด ที่กล่าวถึงการเลียนแบบมาระบุว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ

“ผู้ใดเลียนแบบชนกลุ่มใด เขาก็เป็นหนึ่งในชนกลุ่มนั้นด้วย” สุนัน อบีดาวู๊ด ฮะดีษเลขที่ 3512


ข้อความของฮะดีษบทนี้เป็นหลักฐานห้ามอย่างรุนแรง อีกทั้งเป็นการประณาม,คาดโทษและแจ้งเตือนถึงสัญญาร้ายต่อผู้ที่เลียนแบบผู้ปฏิเสธศรัทธาในคำพูดของพวกเขา,การกระทำของพวกเขา,อาภรณ์ของพวกเขา,การเฉลิมฉลองในอีดต่างๆของพวกเขา, การอิบาดะห์ของพวกเขา และอื่นๆในเรื่องราวของพวกเขาที่ไม่ได้ถูกบัญญัติให้แก่เราและไม่ถูกกำหนดให้เราปฏิบัติมัน” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 213

พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

لاَ تَجْعَلُوا دُعَاءَ الرَّسُوْلِ بَيْنَكُمْ كَدُعَاءِ بَعْضِكُمْ بَعْضاً

“พวกเจ้าอย่าได้ทำให้การเรียกรอซูลในหมู่พวกเจ้า เป็นเช่นเดียวกับการเรียกในหมู่พวกเจ้าด้วยกัน” ซูเราะห์ อันนูร อายะห์ที่ 63


ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ศรัทธาจึงต้องระมัดระวังถ้อยคำที่เรียกขานหรือกล่าวถึงท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เพราะหากถ้อยคำดังกล่าวสื่อความหมายที่แสดงถึง ความน่ารังเกียจ, ตำหนิ, ดูแคลน,หยาบโลน และ ฯลฯ ผู้ศรัทธาก็ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำนั้นแก่ท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เช่นการสะกดชื่อของท่านนบีในภาษาไทยว่า “มุหำหมัด” หรือ “มูหำมัด” อย่างนี้เป็นต้น เพราะคำว่า “หำ” หรือถ้อยคำที่สะกดออกสำเนียงเช่นนี้ คนไทยจะใช้แสดงถึงการตำหนิ,ดูแคลน และสื่อความหมายในทางหยาบโลน ดังนั้นจึงไม่ควรนำคำนี้หรือคำที่สะกดออกสำเนียงเช่นนี้ มาสะกดชื่อของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เพราะจะเป็นช่องทางที่เหล่าผู้ปฏิเสธศรัทธา ใช้กล่าวถึงท่านนบีในเชิงดูแคลนและขบขัน เหมือนดังที่ชาวยะฮูดได้กล่าวดูแคลนท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ด้วยคำว่า “รออินา” ตามที่พระองค์อัลลอฮ์ได้สั่งห้ามไว้ในอายะห์นี้