ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 108


أمْ تُرِيْدُوْنَ أنْ تَسْأَلُوا رَسُوْلَكُمْ كَمَا سُئِلَ مُوْسَى مِنْ قَبْلُ وَمَنْ يَتَبَدَّلِ الْكُفْرَ بِالإيْمَانِ فَقَدْ ضَلَّ سَوَآءَ السَّبِيْلِ


หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะร้องขอต่อรอซูลของพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มูซาเคยถูกร้องขอก่อนหน้านี้ และผู้ใดที่เปลี่ยนเอาการปฏิเสธด้วยการศรัทธา แน่นอนว่าเขาหลงออกจากทางเที่ยงตรง



อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “บรรดานักวิชาการมีมุมมองที่ต่างกันเกี่ยวสาเหตุของการประทานอายะห์นี้ โดยบางคนอ้างถึงคำรายงานที่ อบู กุรัยบ์ ได้เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ยูนุส บินบุกัยร์ และ อิบนุ ฮุมัย เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า ซะละมะห์ บิน อัลฟัฏล์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อิบนุ อิสฮาก เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า มูฮัมหมัด บิน อบี มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นคนรับใช้ของ เซด บิน ซาบิต เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ หรือ อิกริมะห์ เล่าให้ฉันฟังจาก อิบนิ อับบาส ว่า รอเฟียะอ์ บิน ฮุรอยมะละห์ และ วะฮบ์ บิน เซด ได้กล่าวแก่ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่า จงนำคัมภีร์จากฟากฟ้ามาให้แก่พวกเรา เพื่อพวกเราจะได้อ่านมัน และจงทำให้มีแม่น้ำหลายสายพวยพุ่งแก่พวกเรา แล้วเราก็จะปฏิบัติตามท่านและเชื่อท่าน ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์ จึงได้ประทานอายะห์นี้มาเนื่องจากถ้อยคำของพวกเขาว่า (หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะร้องขอต่อรอซูลของพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มูซาเคยถูกร้องขอก่อนหน้านี้ และผู้ใดที่เปลี่ยนเอาการปฏิเสธด้วยการศรัทธา แน่นอนว่าเขาหลงออกจากทางเที่ยงตรง)

และบางคนก็อ้างคำรายงานที่ บิชร์ บิน มุอาซ เล่าให้เราฟังว่า ยะซีด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า สะอี๊ด เล่าให้เราฟังจาก ก่อตาดะห์ ในถ้อยคำที่ว่า (หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะร้องขอต่อรอซูลของพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มูซาเคยถูกร้องขอก่อนหน้านี้) คือการที่นบีมูซาถูกถามโดยมีผู้กล่าวแก่ท่านว่า (โปรดให้เราเห็นอัลลอฮ์อย่างชัดเจนด้วยเถิด)
มูซา บิน ฮารูณ เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อัมร์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัสบาฏ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า จาก อัสซุดดีย์ ในถ้อยคำที่ว่า (หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะร้องขอต่อรอซูลของพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มูซาเคยถูกร้องขอก่อนหน้านี้) คือทำให้พวกเขาได้เห็นอัลลอฮ์อย่างชัดเจน โดยอาหรับได้ร้องขอต่อท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ในการนำอัลลอฮ์มาให้พวกเขาเห็นอย่างชัดเจน

บางคนอ้างคำรายงานที่ มูฮัมหมัด บิน อัมร์ เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อบูอาศิม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อีซา เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า จาก อิบนุ อบีนะญิฮ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า (หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะร้องขอต่อรอซูลของพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มูซาเคยถูกร้องขอก่อนหน้านี้) คือการให้พวกเขาเห็นอัลลอฮ์อย่างชัดเจน โดยชาวกุรอยซ์ ได้ร้องขอต่อท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ให้อัลลอฮ์ทำให้เนินเขาศอฟาเป็นทองคำ ท่านตอบว่า ได้ซิ มันจะเป็นดังที่พวกท่านต้องการ เช่นเดียวกับสำรับอาหารที่บนีอิสรออีลร้องขอหากพวกเจ้าปฏิเสธ แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการแล้วก็กลับไป
อัลกอเซ็ม เล่าให้เราฟังว่า อัลฮุเซน เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ฮัจญาจญ์ เล่าให้ฉันฟังจาก อิบนุ ญุรอยญ์ จาก มุญาฮิด กล่าวว่า พวกกุรอยซ์ ได้ร้องขอต่อท่านนบีมูฮัมหมัด ที่จะทำให้เนินเขาศอฟาเป็นทองคำสำหรับพวกเขา ท่านตอบว่า ได้ซิ พวกท่านจะได้รับสิ่งนั้นเหมือนดังสำรับอาหารที่บนีอิสรออีลร้องขอ หากพวกท่านปฏิเสธ พวกเขาจึงไม่ต้องการแล้วก็กลับไป พระองค์อัลลอฮ์ จึงได้ประทานอายะห์นี้มาว่า (หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะร้องขอต่อรอซูลของพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มูซาเคยถูกร้องขอก่อนหน้านี้) ในการให้พวกเขาได้เห็นอัลลอฮ์อย่างเปิดเผย” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 483-484

อิบนุ กะษีร ได้อ้างคำรายงานอีกสายหนึ่งตามที่ระบุอยู่ในตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ ซึ่งเป็นคำรายงานของ อบูญะอ์ฟัร อัรรอซีย์ แต่อยู่ในสถานะฏออีฟ เราจึงไม่นำมาแสดง ณ.ที่นี้

อิบนุ กะษีร ได้แจ้งวัตถุประสงค์ของอายะห์นี้ว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงห้ามบรรดาผู้ศรัทธาในการถามท่านนบีอย่างพร่ำเพรื่อ ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

يَا أيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا لاَ تَسْأَلُوا عَنْ أشْيَاءَ إنْ تُبْدَلَكُمْ تَسُؤْكُمْ وَإنْ تَسْأَلُوا عَنْهَا حِيْنَ يُنَزَّلُ القُرْآنُ تُبْدَلَكُمْ


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าจงอย่าถามสิ่งต่างๆ หากสิ่งนั้นถูกเปิดเผยแล้วมันจะก่อให้เกิดความเลวร้ายแก่พวกเจ้า และถ้าพวกเจ้าถามถึงสิ่งเหล่านั้นขณะที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา มันก็ถูกเปิดเผยขึ้นแก่พวกเจ้า” ซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 101

เช่นเดียวกับข้อบัญญัติเรื่อง “ลิอาน” คือการสาบานให้ตัวเองพบกับความหายนะ ที่ถูกประทานลงมาจากการที่สามีหรือภรรยากล่าวโทษซึ่งกันและกันว่า มีชู้ ซึ่งบัญญัติไว้ในซูเราะห์ อันนูร ตั้งแต่อายะห์ที่ 6 เป็นต้นไป

ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إنَّ أعْظَمَ الْمُسْلِمِيْنَ جُرْماً مَنْ سَأَلَ عَنْ شَيْئٍ لَمْ يُحَرَّمْ فَحُرِّمَ مِنْ أجْلِ مَسْأَلَتِهِ


“แท้จริงบรรดามุสลิมใหญ่ที่เป็นผู้กระทำบาป คือ ผู้ที่ถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่ไม่ได้ถูกห้ามมาก่อน แต่มันเป็นที่ต้องห้ามเนื่องจากการถามของเขา” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 6745

إنَّ اللهَ كَرِهَ لَكُمْ ثَلاَثاً قَيْلَ وَقاَلَ وَإضَاعَةَ الْمَالِ وَكَثْرَةِ السُؤَالِ


“แท้จริงอัลลอฮ์รังเกียจการกระทำของพวกเจ้าสามประการคือ การพูดว่า เขาว่ากันว่า, การทำลายทรัพย์, และการถามพร่ำเพรื่อ” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 1383

ذَرُوْنِي مَا تَرَكْتُكُمْ فَإنَّمَا هَلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ بِكَثْرَةِ سُؤَالِهِمْ وَاخْتِلاَفِهِمْ عَلَى أنْبِيَائِهِمْ فَإذَا أَمَرْتُكُمْ بِشَيْئٍ فَأْتُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ فَإذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَيْئٍ فَدَعُوْهُ

“ปล่อยฉันตามลำพัง สิ่งที่ฉันได้ทิ้งไว้ให้พวกเจ้าเพียงพอแล้ว แท้จริงชนก่อนหน้าพวกเจ้าได้พบกับความหายนะเนื่องจากการถามพร่ำเพรื่อของพวกเขา และการแย้งต่อนบีของพวกเขา ดังนั้นสิ่งใดที่ฉันใช้ พวกเจ้าก็จงปฏิบัติมันตามความสามารถ และเมื่อฉันห้ามสิ่งใดแก่พวกเจ้า ก็จงละทิ้งมันเสีย” ศอเฮียะห์ มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2380

ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ปรามบรรดาศอฮาบะห์ของท่าน เกี่ยวกับการถามข้อบัญญัติของศาสนาที่ยังไม่ได้ถูกบัญญัติขณะนั้น เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่อัลกุรอานถูกทยอยประทานลงมา โดยท่านเกรงว่า เรื่องที่ถามนั้นจะเป็นบัญญัติใช้หรือห้ามแก่พวกเขา ในสิ่งที่เป็นความยากลำบากแก่อุมมะห์ของท่าน และจะเป็นการวางเงื่อนไขให้แก่ตัวเอง ดังเช่นบนีอิสรออีลได้เคยร้องขอหรือถามแก่นบีของพวกเขามาก่อนหน้านี้

ถ้อยคำที่ว่า (และผู้ใดที่เปลี่ยนเอาการปฏิเสธด้วยการศรัทธา แน่นอนว่าเขาหลงออกจากทางเที่ยงตรง) คือการถามหรือการร้องขอเพื่อตั้งเงื่อนไขในการศรัทธา หรือถามเพื่อหลบหลีก มิใช่ถามเพื่อเพิ่มพูนการศรัทธาหรือการปฏิบัติที่ถูกต้องดังเช่นการกระทำของบนีอิสรออีลนั้น เป็นการนำพาตัวเองออกจากทางตรงไปสู่ทางหลง และเป็นเหตุทำให้ตกศาสนา