ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 36


فَأَزَلَّهُمَا الشَّيْطَانُ عَنْهَا فَأخْرَجَهُمَا مِمَّا كاَنَا فِيْهِ وَقُلْنَا اهْبِطُوا بَعْضُكُمْ لِبَعْضٍ عَدُوٌّ وَلَكُمْ فِي الأرْضِ مُسْتَقَرٌّ وَمَتَاعٌ إلَى حِيْنٍ


แต่ชัยตอนได้ทำให้ทั้งสองพลั้งพลาดเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ จึงได้ทำให้ทั้งสองออกจากความผาสุขที่เคยได้รับ และเราได้กล่าวว่า พวกเจ้าจงลงไป โดยบางส่วนของพวกเจ้าเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน และสำหรับพวกเจ้าในแผ่นดินนั้นมีที่พำนักและปัจจัยจนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง


หลังจาก อิบลีสไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ ที่ให้แสดงคาราวะต่ออาดัม และแสดงความหยิ่งจองหอง โดยอ้างว่า “ข้าดีกว่าอาดัม, พระองค์สร้างข้าจากไฟ แต่สร้างอาดัมจากดิน” นอกจากนั้นแล้วมันยังได้ประกาศว่า “ข้าจะนั่งขวางพวกเขาซึ่งทางอันเที่ยงตรงของพระองค์อย่างแน่นอน” (ความหมายของซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 12 และ 16)

ปฏิบัติการของอิบลีส เริ่มตั้งแต่ล่อลวงบรรพบุรุษของมนุษย์ ซึ่งในซูเราะห์อัลอะอ์รอฟ พระองค์อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า فَوَسْوَسَ لَهُمَا الشَّيْطَانُ (แล้วชัยตอนได้กระซิบกระซาบแก่ทั้งสอง) ให้ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ที่สั่งห้ามเข้าใกล้ต้นไม้หนึ่งในสวรรค์ แต่อาดัมก็พลาดไปเข้าใกล้ต้นไม้และกินผลไม้ที่ถูกห้าม فَلَمَّا ذَاقاَ الشَّجَرَةَ (ครั้นเมื่อทั้งสองได้ลิ้มรสผลของต้นไม้) นี่เป็นเหตุที่ทำให้อาดัมและคู่ครองต้องออกจากสวรรค์ลงมาสู่โลกใบนี้

เราได้กล่าวไว้ในอายะห์ก่อนหน้านี้ว่า สวรรค์ที่อาดัมและคู่ครองเคยอาศัยอยู่ตามที่ระบุในอัลกุรอานนี้คือ สวรรค์ถาวรที่อยู่บนฟ้า ไม่ใช่สวรรค์บนดิน แต่กลุ่มแนวคิด “มัวอ์ตะซิละห์” และ “ก็อดรียะห์” ได้อ้างว่า คือสวรรค์บนดิน ด้วยเหตุผลที่ว่า หากเป็นสวรรค์ถาวรที่อยู่บนฟ้า แล้วเพราะเหตุใด อิบลีส จึงได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ และกระทำเรื่องเหลวไหล และผู้ที่ได้เข้าสวรรค์แล้วจะออกจากสวรรค์ได้อย่างไร แล้วพวกเขาก็แสวงหาหลักฐานมารองรับแนวคิดของพวกเขา โดยอ้างว่า
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

لاَ لَغْوٌ فِيْهَا وَلاَ تَأْثِيْمٌ

“ไม่มีเรื่องไร้สาระและไม่มีการทำบาปในสวรรค์” ซูเราะห์ อัตฏูร อายะห์ที่ 23

لاَ يَسْمَعُوْنَ فِيْهَا لَغْواً وَلاَ كِذَّاباً

“พวกเขาจะไม่ได้ยินคำพูดไร้สาระและคำกล่าวเท็จในสวรรค์” ซูเราะห์ อัลนะบะอ์ อายะห์ที่ 35

لاَ يَسْمَعُوْنَ فِيْهَا لَغْواً وَلاَ تَأْثِيْماً إلاَّ قِيْلاً سَلاَماً سَلاَماً

“พวกเขาจะไม่ได้ยินคำพูดเหลวไหลและเป็นบาปในสวรรค์ นอกจากเป็นคำกล่าวอย่างศานติ” ซูเราะห์ อัลวากิอะห์ อายะห์ที่ 25-26

وَمَا هُمْ مِنْهَا بِمُخْرِجِيْنَ

“พวกเขาจะไม่ถูกนำออกจากสวรรค์” ซูเราะห์ อัลฮิจร์ อายะห์ที่ 48


หากเราไม่ทำความเข้าใจในข้ออ้างและหลักฐานสนับสนุนแนวคิดของพวกเขาที่นำมาแสดงข้างต้นนี้ ก็อาจทำให้เราเข้าใจผิดมหันต์

ความจริงแล้ว หลักฐานที่กลุ่มแนวคิด “มัวอ์ตะซิละห์” และ “ก็อดรียะห์” แสดงมาทั้งหมดนี้คือ สภาพของสวรรค์และผู้ที่อยู่ในสวรรค์ หลังจากเกิดกิยามะห์แล้วทั้งสิ้น คือหลังจากที่โลกดุนยานี้ล่มสลาย และมนุษย์ได้รับการชำระผลงานของพวกเขา ซึ่งเป็นผลของผู้ประกอบความดีขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
พระองค์อัลลอฮ์ กล่าวว่า

وَبَشِّرِ الَّذِيْنَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ أنَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ

“และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีว่า แท้จริงพวกเขาจะได้รับสวรรค์หลากหลาย” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 25


ข่าวดีคือสวรรค์ที่จะได้รับนั้น สำหรับผู้ศรัทธาที่มีความเชื่อถูกต้องและมีผลงานที่ดีตามคำสอนของศาสนาบนโลกใบนี้ ซึ่งท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

أدْخَلَهُ اللهُ الْجَنَّةَ عَلَى مَاكاَنَ مِنَ الْعَمَلِ

“พระองค์อัลลอฮ์จะให้เขาเข้าสวรรค์ตามแต่ผลงาน” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 3180


เพราะฉะนั้น สวรรค์ก่อนที่มนุษย์จะมาอยู่บนโลกนี้ กับสวรรค์ที่มนุษย์ผู้ศรัทธาจะได้รับหลังจากใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ จึงเป็นคนละกรณีกัน แต่กลุ่มแนวคิด “มัวอ์ตะซิละห์” และ “ก็อดรียะห์” ได้เอาสวรรค์หลังจากกิยามะห์มาฉายภาพก่อนที่นบีอาดัมและท่านหญิงฮาวาจะถูกส่งลงมาบนโลกใบนี้ จึงเป็นการอ้างหลักฐานผิดประเด็น

ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวไว้ในอายะห์นี้ว่า (พวกเจ้าจงลงไป) เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในซูเราะห์อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 24 ด้วยสำนวนเดียวกันนี้ หมายถึงพวกเจ้าจงลงจากสวรรค์ คือสวรรค์ที่อยู่บนฟ้ามิใช่สวรรค์บนดิน ฉะนั้นหากกลุ่มแนวคิด “มัวอ์ตะซิละห์” และ “ก็อดรียะห์” อ้างว่าคือสวรรค์บนดิน แล้วจะอธิบายคำว่า (พวกเจ้าจงลงไป) นี้อย่างไร

โดยเฉพาะข้อความถัดมาที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (และสำหรับพวกเจ้าในแผ่นดิน) นั้นเป็นข้อความที่ต่อเนื่องที่บ่งบอกว่า ให้ลงจากสวรรค์มาอยู่บนโลกใบนี้ และเป็นสำนวนเดียวกับที่กล่าวไว้ในซูเราะห์อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 24 เช่นเดียวกัน

ปัญหาที่กลุ่มแนวคิด “มัวอ์ตะซิละห์” และ “ก็อดรียะห์” พยายามจะอธิบายความว่าสวรรค์ในที่นี้คือ สวรรค์บนดินนั้นไม่น่าจะชี้ประเด็นไปที่นบีอาดัมและท่านหญิงฮาวา แต่น่าจะเป็นกรณีของอิบลีสมากกว่า ที่พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า อิบลีสจะเข้าไปอยู่ในสวรรค์ได้อย่างไร

ในประเด็นนี้ มีผู้พยายามแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่อิบลีสแอบหลบเข้าไปในสวรรค์ บ้างก็ว่า อิบลีสแปลงร่างเป็นงู หรือ อิบลีสแอบหลบซ่อนอยู่ในปากงูแล้วนำพามันเข้าสวรรค์ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ไม่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและฮะดีษศอเฮียะห์มายืนยัน นอกจากเป็นเรื่องเล่าจากชาวคัมภีร์ที่นำมาบอกกล่าวต่อๆ กัน หรือพวกเขาอ้างว่าได้รับการถ่ายทอดความรู้นี้มาจากคัมภีร์อัตเตารอต ซึ่งเราก็รับฟังแต่ไม่นำมาเป็นหลักฐานทางศาสนา เพราะคัมภีร์อัตเตารอตมีการปลอมปนจากความคิดของมนุษย์ แต่ผู้ที่ไม่สามารถจะสืบค้นได้ก็เข้าใจว่าเป็นคำสอนของศาสนาอิสลามที่ได้มาจากอัลกุรอานหรือฮะดีษของท่านนบี นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความพยายามของบางท่านที่จะนำเอาฮะดีษศอเฮียะห์ที่คล้ายคลึงกับกรณีนี้มาสำทับเพื่อขยายผล เช่น อ้างฮะดีษซึ่งเป็นคำกล่าวของของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

إنَّ بِالْمَدِيْنَةِ جِنّاً قَدْ أسْلَمُوا فَإذاَ رَأيْتُمْ مِنْهُمْ شَيْئاً فَآذِنُوْهُ ثَلاَثَةَ أيَّامٍ فَإنْ بَدَالَكُمْ بَعْد ذَلِكَ فَأقْتُلُوْهُ فَإنَّمَا هُوَ شَيْطَانٌ


“แท้จริง ณ.ที่นครมะดีนะห์มีญินที่เข้ารับอิสลาม ดังนั้นเมื่อพวกเจ้าได้เห็นตนใดจากพวกเขาในรูปใด ก็จงบอกให้เขาออกไปภายในสามวัน แต่ถ้าหลังจากนั้นพวกเจ้าก็จงฆ่ามันเสีย เพราะแท้จริงมันคือซัยตอน” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 4150

โดยข้อเท็จจริงแล้วเรื่องเช่นนี้ต้องมีหลักฐานโดยตรงมาบ่งบอก ขณะเดียวกันเราได้รับทราบสถานภาพของอิบลีสว่า ได้เคยอยู่ในสวรรค์มาก่อนที่จะถูกขับออกจากสวรรค์ ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

قَالَ فَأهْبِطْ مِنْهَا فَمَا يَكُوْنُ لَكَ أنْ تَتَكَبَّرَ فِيْهَا فَأخْرُجْ إنَّكَ مِنَ الصَّاغِرِيْنَ


“พระองค์กล่าวว่า จงลงไปจากสวรรค์ ไม่สมควรแก่เจ้าที่แสดงความหยิ่งผยองในสวรรค์ จงออกไป แท้จริงเจ้านั้นเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ต่ำต้อย” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 13

قَالَ أخْرُجْ مِنْهَا مَذْءُوْماً مَّدْخُوْراً

“พระองค์กล่าวว่า จงออกจากสวรรค์ในสภาพเป็นผู้ถูกตำหนิและผู้ถูกขับไส” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 18


เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ให้อิบสีสแสดงคาราวะต่ออาดัม, การที่อิบลีสฝ่าฝื่นคำสั่งของอัลลอฮ์ไม่ยอมแสดงคาราวะ, การให้อาดัมและคู่ครองอยู่ในสวรรค์และสั่งห้ามเข้าใกล้ต้นไม้, การที่อิบลีสล่อลวงอาดัมและคู่ครอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสวรรค์ก่อนที่มนุษย์และชัยตอนจะถูกขับให้ลงมาอยู่บนโลกใบนี้ ดังนั้นคำกล่าวอ้างของกลุ่มแนวคิด “มัวอ์ตะซิละห์” และ “ก็อดรียะห์” พร้อมทั้งหลักฐานที่พวกเขานำมาแสดงจึงเป็นการอ้างหลักฐานผิดประเด็น

กล่าวกันว่า ช่วงระยะเวลาที่ท่านนบีอาดัมและท่านหญิงฮาวาใช้ชีวิตอยู่ในสวรรค์นั้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่ง อัลฮากิม ได้กล่าวว่า อบูบักร์ บิน บาลูยะห์ เล่าให้เราฟัง จาก มูฮัมหมัด บิน อะห์หมัด บิน อัลนัดร์ จาก มุอาวียะห์ บิน อัมร์ จาก ซาอิดะห์ จาก อัมมาร บิน มุอาวียะห์ อัลบะญะลีย์ จาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า “อาดัมไม่ได้พำนักในสวรรค์เป็นเวลานานนอกจากชั่วระยะเวลาละหมาดอัศริถึงตะวันลับขอบฟ้า” อัลฮากิม กล่าวว่า ข้อความนี้ถูกต้องตามเงื่อนไขของศอเฮียะห์บุคอรีและมุสลิม

ส่วนวันที่ท่านนบีอาดัมและท่านหญิงฮาวาถูกให้ลงจากสวรรค์มาอยู่บนโลกใบนี้นั้น เราได้รับคำยืนยันจากฮะดีษศอเฮียะห์ว่า เป็นวันศุกร์ ดังนี้
ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

خَيْرُ يَوْمٍ طَلَعَتْ فِيْهِ الشَّمْسُ يَوْمُ الْجُمُعَةِ فِيْهِ خُلِقَ آدَمُ وَفِيْهِ أُدْخِلَ الْجَنَّةَ وَفِيْهِ أُخْرِجَ مِنْهَا


“วันที่ดีที่สุดในวันดวงอาทิตย์ขึ้นคือวันศุกร์ เป็นวันที่อาดัมถูกสร้าง เป็นวันที่ให้อาดัมเข้าสวรรค์และเป็นวันที่ให้อาดัมออกจากสวรรค์” ศอเฮียะห์ มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1410

สรุปความได้ว่า วันที่อัลลอฮ์ให้นบีอาดัมเข้าสวรรค์และให้นบีอาดัมออกจากสวรรค์เป็นวันเดียวกันคือวันศุกร์ และอยู่ในช่วงเวลาระหว่างอัศริถึงมัฆริบ ตามที่ อัลฮากิมได้รายงานไว้

ส่วนสถานที่ที่นบีอาดัมและท่านหญิงฮาวาได้ลงมาบนโลกใบนี้นั้น มีการกล่าววิจารณ์กันมาก บ้างก็ว่า แถบอินเดีย, และบ้างก็กล่าวว่า บริเวณระหว่างเมืองมักกะห์กับฏออีฟ, บ้างก็กล่าวว่า ท่านนบีอาดัมลงมาแถบอินเดีย และท่านหญิงฮาวาลงมาที่เมืองญิดดะห์ และบ้างก็ว่า ท่านนบีอาดัมลงมาที่เนินเขาศอฟา ส่วนท่านหญิงฮาวาลงมาที่มัรวะห์

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (โดยบางส่วนของพวกเจ้าเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน) คือชาติพันธ์ของมนุษย์และชาติพันธ์ของชัยตอน ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

إنَّ الشَّيْطَانَ لَكُمْ عَدُوٌّ فَاتَّخِذُوْهُ عَدُوّاً

“แท้จริงซัยตอนนั้นเป็นศัตรูกับพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงยึดมันเป็นศัตรู” ซูเราะห์ ฟาฏิร อายะห์ที่ 6


ข้อความที่ว่า (และสำหรับพวกเจ้าในแผ่นดินนั้นมีที่พำนักและปัจจัยจนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง) คือทั้งชาติพันธ์ของมนุษย์และญินจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ในชั่วระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น คือตามอายุขัยของแต่ละคนที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

هُوَ الَّذِي خَلَقَكُمْ مِنْ طِيْنٍ ثُمَّ قَضَى أَجَلاً

“พระองค์ผู้ทรงสร้างพวกเจ้ามาจากดิน และได้ทรงกำหนดอายุขัย” ซูเราะห์ อัลอันอาม อายะห์ที่ 2