ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 45


وَاسْتَعِيْنُوا بِالصَّبْرِ وَالصَّلاَةِ وَإنَّهَا لَكَبِيْرَةٌ إلاَّ عَلَى الْخَاشِعِيْنَ

และพวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทนและการละหมาด เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากบรรดาผู้นบน้อม


หลังจากที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงใช้ให้วงศ์วานของอิสรออีล อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธาในประชาชาติของท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม โดยดีและใช้ให้พวกเขาร่วมละหมาดกับบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งระบุไว้ในซูเราะห์นี้ อายะห์ที่ 43

พอมาถึงอายะห์ พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงแนะให้พวกเขาวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อพระองค์
อิบนุ ญะรีร อัตฏอบะรีย์ ได้อธิบายอายะห์นี้ว่า “จงขอความช่วยเหลือต่อพระองค์อัลลอฮ์เถิด โอ้บาทหลวงชาวคัมภีร์เอ๋ย ด้วยการควบคุมจิตใจของพวกท่านให้อยู่บนการภักดีต่ออัลลอฮ์ และหักห้ามจิตใจจากการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญญัติของอัลลอฮ์ และด้วยการดำรงละหมาดซึ่งมันจะยับยั้งจากสิ่งลามากอนาจารและการประพฤติผิด และทำให้ใกล้ชิดต่อพระองค์อัลลอฮ์ โดยมันเป็นเรื่องใหญ่ที่จะดำรงไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย นอกจากบรรดาผู้นบน้อมต่อพระองค์อัลลอฮ์ และมั่นคงในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้ที่ยอมจำนนต่อพระองค์เท่านั้น” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 261
อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “สำนวนประโยคของอายะห์นี้ ถึงแม้จะอยู่ในรูปของการกล่าวเตือน บนีอิสรออีล แต่ก็มิได้จำกัดเฉพาะพวกเขาเท่านั้น แต่มีเป้าหมายครอบคลุมถึงพวกเขาทั้งหมดและบุคคลอื่นๆ ด้วย” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 125

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (และพวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทนและการละหมาด) มะกอติล บิน ฮัยยาน อธิบายข้อความนี้ว่า “พวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือในการแสวงหาอาคิเราะห์ด้วยความอดทนต่อการปฏิบัติศาสนกิจที่เป็นข้อบังคับ และการดำรงละหมาด”
ส่วน อบู อัลอาลียะห์ ได้อธิบายถ้อยคำที่ว่า (และพวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือ ด้วยความอดทนและการละหมาด) บนความพึงพอใจของพระองค์อัลลอฮ์ และพึงรู้เถิดว่า มันเป็นส่วนหนึ่งจากการภักดีต่อพระองค์อัลอฮ์

คำว่า “ความอดทน” นั้นบรรดานักวิชาการบางท่านกล่าวว่า หมายถึง การถือศีลอด โดยเฉพาะท่านมุญาฮิด ได้อ้างหลักฐานจากคำรายงานของ ซุฟยาน อัสเซารีย์ จาก อบี อิสฮาก จาก ญุรอย บิน กุลัยบ์ จาก ชายผู้หนึ่งใน บนีสุลัยม์ จากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าว่า : การถือศีลอดนั้นเป็นครึ่งหนึ่งของความอดทน
แต่นักวิชาการบางท่านก็อธิบายว่า เป้าหมายของคำว่า “ความอดทน” ในที่นี้คือ การควบคุมตนเองไม่ให้เป็นผู้ฝ่าฝืนบัญญัติศาสนา
อิบนุ อบีฮาติม ได้อ้างคำรายงานจากท่านอุมัร อิบนุล ค๊อตต๊อบ กล่าวว่า “ความอดทนนั้นมีสองประเภทคือ ความอดทนต่อภัยพิบัติที่มาประสบนั้นเป็นความดี แต่ที่ดีกว่าคือ การอดทนต่อสิ่งที่เป็นข้อห้ามของอัลลอฮ์” ซึ่งถูกรายงานจาก อัลฮะซัน อัลบัศรีย์ ในทำนองเดียวกับคำพูดของท่านอุมัร
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

وَلاَ تَسْتَوِى الْحَسَنَةُ وَلاَ السَّيِّئَةُ اِدْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أحْسَنُ فَإذَا الَّذِي بَيْنَكَ وَبَيْنَهُ عَدَاوَةٌ كَأَنَّهُ وَلِيٌّ حَمِيْمٌ وَمَا يُلَقَّاهَا إلاَّ الَّذِيْنَ صَبَرُوا وَمَا يُلَقَّاهَا إلاَّ ذُوْ حَظٍّ عَظِيْمٍ

“และความดีกับความชั่วนั้นจะไม่เท่าเทียมกัน จงผลักดันความชั่วด้วยสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้นเมื่อระหว่างเจ้ากับเขาได้เคยเป็นศัตรูกัน ก็จะกลับกลายประหนึ่งดั่งมิตรที่สนิทแน่น และไม่มีผู้ใดจะได้ประสบกับมันนอกจากบรรดาผู้อดทน และไม่มีผู้ใดจะได้ประสบกับมันนอกจากผู้มีโชคอันยิ่งใหญ่” ซูเราะห์ ฟุศิลัต อายะห์ที่ 34-35

ثَوَابُ اللهِ خَيْرٌ لِمَنْ آمَنَ وَعَمِلَ صَالِحاً وَلاَ يُلَقَّاهَا إلاَّ الصَّابِرُوْنَ

“ผลบุญของอัลลอฮ์นั้นดีกว่า แก่ผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติความดี และจะไม่มีผู้ใดรับมันนอกจากบรรดาผู้อดทน” ซูเราะห์ อัลก่อศ็อศ อายะห์ที่ 80


ส่วนคำว่า “การละหมาด” นั้นเป็นหน้าที่และภาระอันยิ่งใหญ่สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาในการที่จะรักษาไว้อย่างคงเส้นคงวา เช่นเดียวกับที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

وَأَقِمِ الصَّلاَةَ إنَّ الصَّلاَةَ تَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ وَلَذِكْرُ اللهِ أكْبَرُ وَاللهُ يَعْلَمُ مَا تَصْنَعُوْنَ


“และจงดำรงละหมาด แท้จริงการละหมาดนั้นจะยับยั้งจากสิ่งลามกอนาจารและการทำผิด และการรำลึกถึงอัลลอฮ์ (การละหมาด) นั้นยิ่งใหญ่กว่า และอัลลอฮ์ทรงรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” ซูเราะห์ อัลอังกะบูต อายะห์ที่ 45

และข้อความที่ว่า (เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากบรรดาผู้นบน้อม) คือบรรดาผู้ศรัทธาและมีความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ ที่สามารถรักษาการละหมาดได้อย่างสม่ำเสมอ
อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “อัลมุซันนา บิน อิบรอฮีม ได้เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อับดุลลอฮ์ บิน ศอและห์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า มุอาวียะห์ บิน ศอและห์ เล่าให้ฉันฟัง จาก อาลี บิน อบีฏอลฮะห์ จาก อิบนิ อับบาส ในการอธิบายข้อความที่ว่า (นอกจากบรรดาผู้นบน้อม) หมายถึงบรรดาผู้ที่มั่นต่อสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานมา” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 261