ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 55


وَإذْ قُلْتُمْ يَا مُوْسَى لَنْ نُؤْمِنَ لَكَ حَتَّى نَرَى اللهَ جَهْرَةً فَأَخَذَتْكُمُ الصَّاعِقَةُ وَأنْتُمْ تَنْظُرُوْنَ


และจงทบทวนขณะที่พวกเจ้าได้กล่าวว่า โอ้มูซาเอ๋ย เราจะยังไม่ศรัทธาต่อท่านจนกว่าเราจะเห็นอัลลอฮ์อย่างชัดเจนเสียก่อน แล้วเสียงกัมปนาทก็เอาชีวิตพวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าก็มองดูกันอยู่



หลังจากที่บนีอิสรออีลต้องโทษประหารกันเอง จากการสักการะลูกวัวแทนพระเจ้า และยังคงมีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวน 70 คน ตามที่ อิบนุ ญะรีร ได้ชี้แจงไว้ในตัฟซีรของท่าน

แต่การดื้อด้านและเนรคุณของบนีอิสรออีลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขาในความช่วยเหลือและความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์ ให้พวกเขาได้รอดพ้นและผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาหลายครั้งหลายครา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นคือมัวอ์ญีซาตที่แสดงให้รู้ถึงการมีอยู่จริงของพระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงเมตตา เช่นการที่ท่านนบีมูซาใช้ไม้เท้าฟาดน้ำทะเล แล้วมันก็แยกออกดั่งขุนเขา เป็นทางเดินให้พวกเขาข้ามผ่านไปได้ จนกระทั่งรอดพ้นจากการจมน้ำ และรอดพ้นจากการไล่ฆ่าของฟิรอูนและพรรค ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขาด้วยตัวเอง แต่แทนที่พวกเขาจะศรัทธาและขอบคุณแต่พวกเขากลับเนรคุณ มิหนำซ้ำพวกเขายังแสดงความโอหังและกังขาด้วยการเสนอข้อต่อรองกับนบีมูซาว่า จะยังไม่ศรัทธาจนกว่าจะได้เห็นรูปลักษณ์ของพระองค์อัลลอฮ์ด้วยสายตาของพวกเขาเองเสียก่อน

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (เราจะยังไม่ศรัทธาต่อท่านจนกว่าเราจะเห็นอัลลอฮ์อย่างชัดเจนเสียก่อน) คือได้เห็นตัวตนของพระองค์อัลลอฮ์ ด้วยสายตาของพวกเขาโดยไม่มีอะไรปิดบัง ซึ่งท่านอิบนิ อับบาส ได้อธิบายว่า หมายถึงพวกเขาต้องการเห็นด้วยสายตาอย่างเปิดเผย

เกี่ยวกับเรื่องการเห็นพระองค์อัลลอฮ์นั้น ชาวอะห์ลิสซุนนะห์เชื่อว่า บรรดาผู้ศรัทธาจะได้เห็นพระองค์อัลลอฮ์เมื่อได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ ซึ่งจะนำมาอธิบายในซูเราะห์ ยูนุส อินชาอัลลอฮ์ แต่ในดุนยานี้จะไม่มีผู้ใดได้เห็นพระองค์อัลลอฮ์โดยเด็ดขาด แม้กระทั่งท่านนบีมูซาเอง ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

قَالَ رَبِّ أَرِنِي أنْظُرْإلَيْكَ قَالَ لَنْ تَرَانِي وَلَكِن انْظُرْ إلَى الْجَبَلِ فَإنِ اسْتَقَرَّ مَكَانَهُ فَسَوْفَ تَرَانِي فَلَمَّا تَجَلَّى رَبُّهُ لِلْجَبَلِ جَعَلَهُ دَكًّا وَخَرَّ مُوْسَى صَعِقاً فَلَمَّا أَفَاقَ قَالَ سُبْحَانَكَ تُبْتُ إلَيْكَ وَأنَا أوَّلُ الْمُؤْمِنِيْنَ

“มูซากล่าวว่า องค์อภิบาลของข้าเอ๋ย โปรดให้ข้าได้เห็นด้วยเถิด ข้าจะมองดูพระองค์ พระองค์กล่าวว่า เจ้าจะไม่ได้เห็นข้า แต่ทว่าเจ้าจงมองไปยังภูเขานี้ หากมันยังมั่นคงอยู่ในที่ของมันเจ้าก็จะได้เห็นข้า ครั้นเมื่อองค์อภิบาลของเขาได้ปรากฏ ณ.ที่ภูเขานั้น ก็ทำให้มันพังทลายอย่างราบเรียบ และมูซาก็ล้มลงหมดสติ แต่เมื่อเขารู้สึกตัว ก็กล่าวว่า มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ ข้าขอสำนึกผิดต่อพระองค์ และข้าเป็นผู้แรกในหมู่ผู้ศรัทธา” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 143

มีผู้สร้างความสับสนในการนำข้อความทั้งสองอายะห์มาเปรียบเทียบว่า ท่านนบีมูซาก็เคยขอเห็นอัลลอฮ์ และบนีอิสรออีลก็เคยขอเห็นอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน แต่ทว่าทั้งสองกรณีนี้แตกต่างกัน คือท่านนบีมูซาคือศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮ์ คือผู้ที่ศรัทธามั่นต่อพระองค์ และทำหน้าที่ประกาศสาสน์ของพระองค์ ซึ่งการขอเห็นอัลลอฮ์นั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการศรัทธา ซึ่งต่างจากบนีอิสรออีล ที่ไม่ศรัทธาและเสนอข้อต่อรองเพื่อเป็นข้ออ้างในการเนรคุณ

ข้อความที่ว่า (แล้วเสียงกัมปนาทก็เอาชีวิตพวกเจ้า ขณะที่พวกเจ้าก็มองดูกันอยู่) คำว่า الصاعقة ในอายะห์นี้นั้น บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้ให้ความหมายที่แตกต่างกันเช่น
“อบู ญะอ์ฟัร รายงานจาก อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส ว่า : พวกเขาได้ยินเสียงกัมปนาทจึงทำให้พวกเขาเสียชีวิต
มัรวาน บิน อัลฮะกัม ได้กล่าวขณะคุตบะห์บนมิมบัรในนครมักกะห์ว่า คือเสียงกัมปนาทจากฟากฟ้า
อัสซุดดีย์ กล่าวว่า คือ ไฟ” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 132

ส่วนข้อความที่ว่า (ขณะที่พวกเจ้าก็มองดูกันอยู่) คือให้พวกเขาทยอยเสียชีวิตละทีคน โดยที่คนอื่นๆก็มองเห็นเหตุการณ์นี้ ซึ่ง อุรวะห์ บิน รุวัยม์ ได้กล่าวว่า “หมายถึงส่วนหนึ่งถูกเสียงกัมปนาทคร่าชีวิตและอีกส่วนหนึ่งก็มองดูอยู่ สลับกันไป” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 132