ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 56


ثُمَّ بَعَثْنَاكُمْ مِنْ بَعْدِ مَوْتِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَشْكُرُوْنَ

ต่อมา เราได้ให้พวกเจ้าฟื้นหลังจากการตายของพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ


หลังจากบนีอิสรออีล เสียชีวิตจากเสียงกัมปนาทตามที่ได้ระบุในอายะห์ก่อนหน้านี้ พระองค์อัลลอฮ์ได้ให้พวกเขามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง คือให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นมนุษย์ปกติเหมือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

อิบนุ ญะรีร อัตฏอบะรีย์ กล่าวว่า คำว่า البعث มีความหมายในทางภาษาว่า “การนำสิ่งใดส่งคืนที่ของมัน” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 290

เพราะฉะนั้นการตายก็คือการเอาวิญญาณออกจากร่าง และการให้ฟื้นคืนชีพก็คือเอาวิญญาณกลับสู่ร่าง ส่วนการสลบ ก็คือการเอาสติสัมปชัญญะออกจากร่าง และการให้ฟื้นจากสลบก็คือการที่สติสัมปชัญญะกลับคืนร่าง เช่นการนอนหลับเป็นต้น

แม้ว่าความหมายในทางภาษาของคำว่า البعث อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า อาจจะเป็นการฟื้นจากตาย หรืออาจจะเป็นการฟื้นจากสลบ หรือตื่นจากการนอนหลับก็ได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของอายะห์นี้คือการฟื้นมีชีวิตจากการตายจริงๆ มิใช่เป็นการฟื้นหลังจากสลบไป หรือตื่นจากการนอนหลับ โดยเฉพาะถ้อยคำถัดมาที่ระบุชัดเจนว่า موتكم แปลว่า การตายของพวกเจ้า โดยคำนี้ไม่ได้ถูกใช้ในแง่ของการยืมคำหรือการเปรียบเปรยแต่อย่างใด ดังนั้นไม่ว่าจะมองในแง่มุมของภาษาก็ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจากการฟื้นมีชีวิตหลังจากการตายจริงๆ ซึ่ง อิบนุ ญะรีร ได้กล่าวว่า “คำว่า بعثناكم หมายถึง أخييناكم แปลว่า “เราได้ทำให้พวกเจ้ามีชีวิต” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้า 290

อย่างไรก็ตามยังมีนักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางท่าน เช่น อัสซุดดีย์ ให้ความหมายที่แตกต่างไปจากประเด็นที่กล่าวมาแล้วคือคำว่า بعثناكم ในที่นี้คือ بعناكم أنبياء หมายถึง เราได้ส่งบรรดานบีมายังพวกท่าน

ในขณะที่ท่านมุญาฮิด กล่าวว่า “เสียงกัมปนาทได้ทำให้พวกเขาเสียชีวิต หลังจากนั้นพระองค์อัลลอฮ์ได้ให้เขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อทำให้อายุขัยของเขาที่เหลืออยู่ครบถ้วน” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 292

“อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส กล่าวว่า : การตายของพวกเขาคือการลงโทษ แล้วการให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหลังจากการตายเพื่อทำให้อายุขัยของพวกเขาครบถ้วนสมบูรณ์ และ ก่อตาดะห์ ก็กล่าวอย่างนี้เช่นเดียวกัน” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 133