ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 61


وَإذْ قُلْتُمْ يَا مُوْسَى لَنْ نَصْبِرَ عَلَى طَعَامٍ وَاحِدٍ فَأدْعُ لَنَا رَبَّكَ يُخْرِجْ لَنَا مِمَّا تُنْبِتُ الأرْضُ مِنْ بَقْلِهَا وَقِثَائِهَا وَفُوْمِهَا وَعَدَسِهَا وَبَصَلِهَا قَالَ أتَسْتَبْدِلُوْنَ الَّذِي هُوَ أدْنَى بِالَّذِي هُوَ خَيْرٌ اهْبِطُوا مِصْراً فَإنَّ لَكُمْ مَّا سَأَلْتُمْ وَضُرِبَتْ عَلَيْهِمُ الذِّلَّةُ وَالْمَسْكَنَةُ وَبَاءُو بِغَضَبٍ مِّنَ اللهِ ذَلِكَ بِأنَّهُمْ كاَنُوا يَكْفُرُوْنَ بِآيَاتِ اللهِ وَيَقْتُلُوْنَ النَّبِيِّيْنَ بِغِيْرِ الْحَقِّ ذَلِكَ بِمَا عَصَوا وَّكَانُوا يَعْتَدُوْنَ


และจงทบทวนขณะที่พวกเจ้าได้กล่าวว่า โอ้มูซาเอ๋ย เราจะไม่อดทนต่ออาหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป จงวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่านให้แก่พวกเรา ให้ผลิออกแก่พวกเราซึ่งสิ่งที่แผ่นดินได้งอกเงยจากพืชผัก, แตงกวา, กระเทียม, ถั่ว, และหัวหอม เขากล่าวว่า พวกท่านจะขอเปลี่ยนเอาสิ่งที่ต่ำกว่าแทนสิ่งที่ดีกว่ากระนั้นหรือ พวกเจ้าจงลงไปอยู่ในเมืองเถิด แล้วสำหรับพวกเจ้าก็จะพบสิ่งที่พวกเจ้าร้องขอ และความตกต่ำและความขัดสนก็ถูกกระหน่ำลงบนพวกเขา และพวกเขาต้องกลับคืนไปด้วยความโกรธกริ้วจากอัลลอฮ์ ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธโองการต่างๆของอัลลอฮ์ และพวกเขาสังหารบรรดานบีโดยไม่เป็นธรรม ดังกล่าวนี้คือสิ่งที่พวกเขาฝ่าฝืน และพวกเขาได้ละเมิด



ขณะที่บนีอิสรออีล รอนแรมอยู่กลางทะเลทราย พระองค์อัลลอฮ์ทรงให้ปุยเมฆขาวลอยปกคลุมเหนือพวกเขา เพื่อกันแสงแดดและความร้อน ทรงให้ “อัลมัน” และ “อัสซัลวา” เป็นอาหาร อีกทั้งให้มีตาน้ำผุดออกมาจากซอกหินเพื่อพวกเขาจะได้ดื่ม แต่ความกรุณานี้พวกเขากลับมองไม่เห็นคุณค่า พวกเขาเบื่อหน่ายต่อความเมตตาที่ได้รับ โดยโอดครวญต่อนบีมูซาว่า (เราจะไม่อดทนต่ออาหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป) คำว่า อาหารเพียงอย่างเดียวหมายถึง กิน “อัลมัน” และ “อัสซัลวา” จำเจอยู่ทุกวันเพียงอย่างเดียว

ถ้อยคำที่ว่า (จงวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่านให้แก่พวกเรา) คือพวกเขารบเร้าต่อนบีมูซาให้ขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ให้แก่พวกเขา เนื่องจากพวกเขาได้เคยประจักษ์มาก่อนหน้านี้แล้วว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงตอบรับคำวิงวอนขอของนบีมูซา

ถ้อยคำที่ว่า (ให้ผลิออกแก่พวกเราซึ่งสิ่งที่แผ่นดินได้งอกเงยจากพืชผัก, แตงกวา, กระเทียม, ถั่ว, และหัวหอม) คำว่า فوم ในอายะห์นี้นั้น นักอรรถาธิบายอัลกุรอานในอดีตได้ให้ความหมายที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่า กระเทียม, บ้างก็ว่า ข้าวสาลี, บ้างก็ว่า ขนมปัง ตัวอย่างเช่น

“มูฮัมหมัด บิน บัซซาร เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อบู อะห์หมัด และ มุอัมมัล ได้เล่าให้เราฟังโดยทั้งสองกล่าวว่า ซุฟยาน เล่าให้เราฟัง จาก อบี นะญิฮ์ จาก อะฏออ์ กล่าวว่า มันคือ ขนมปัง
ซะกะรียา บิน ยะห์ยา บิน อบีซาอิดะห์ และ มูฮัมหมัด บิน อัมร์ ทั้งสองได้กล่าวว่า อบูอาศิม เล่าให้เราฟัง จาก อีซา บิน มัยมูน จาก อิบนุ อบีนะญิฮ์ จาก มุญาฮิด กล่าวว่า มันคือ ขนมปัง
บิชร์ บิน มุอาซ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ยะซีด เล่าให้เราฟังจาก สะอี๊ด จาก ก่อตาดะห์ และ อัลฮะซัน กล่าวว่า หมายถึงเมล็ดที่ผู้คนเอาไปบดทำขนมปัง
ยะอ์กู๊บ บิน อิบรอฮีม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ฮุซัยม์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ฮุศ็อยน์ บอกกับเราโดยกล่าวว่า จาก อบีมาลิก กล่าวว่า หมายถึง ข้าวสาลี
มูซา บิน ฮารูณ เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อัมร์ บิน อัมมาร เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัสบาฏ บิน นัศร์ เล่าให้เราฟังจาก อัสซุดดีย์ กล่าวว่า หมายถึง ข้าวสาลี
อะห์หมัด บิน อิสฮาก อัลอะฮ์วะซีย์ เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อบู อะห์หมัด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ซะรีก เล่าให้เราฟังจาก ลัยซ์ จาก มุญาฮิด กล่าวว่า มันคือ กระเทียม
อัลมุซันนา บิน อิบรอฮีม เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อิสฮาก เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อิบนุ อบีญะอ์ฟัร เล่าให้เราฟังจากพ่อของเขา จาก อัรรอเบียะอ์ กล่าวว่า الفوم ก็คือ الثوم แปลว่า กระเทียม ซึ่งเป็นการอ่านอีกสำเนียงหนึ่งคืออ่านว่า وَثُوْمِهَا (คือหนึ่งในเจ็ดของสำเนียงการอ่านอัลกุรอานอย่างถูกต้อง)” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 311-312

“นักวิชาการในยุคสะลัฟ มีความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในความหมายของคำว่า الفوم แต่ในสำเนียงการอ่านของ อับดุลลอฮ์ อิบนิ มัสอู๊ด อ่านว่า وَثُوْمِهَا ด้วยอักษร “ซาอ์” (แปลว่า กระเทียม) เช่นเดียวกับ มุญาฮิด ที่ได้อธิบายความไว้ ในคำรายงานของ ลัยซ์ บิน สุลัยม์ ว่าความหมายของมันคือ กระเทียม และ อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส กับ สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ ได้กล่าวไว้อย่างนี้เช่นเดียวกัน

อิบนุ อบีฮาติม กล่าวว่า พ่อของฉันเล่าให้เราฟังว่า อัมร์ บินรอเฟียะอ์ เล่าให้เราฟังว่า อบูอัมมาเราะห์ ยะอ์กู๊บ บิน อิสฮาก อัลบัศรีย์ จาก ยูนุส จาก อัลฮะซัน กล่าวว่า อิบนิ อับบาส กล่าวว่า มันคือ กระเทียม” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่

การที่ชาวสะลัฟมีความเข้าใจที่แตกต่างกันในความหมายของคำว่า فوم นั้นมิได้ทำให้วัตถุประสงค์ของอายะห์นี้ต้องเปลี่ยนไป เนื่องจากบนีอิสรออีลร้องขออาหารประเภทอื่นๆที่นอกเหนือจาก “อัลมัน” และ “อัสซัลวา” ที่พวกเขากินอยู่จำเจจนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย

ถ้อยคำที่ว่า (พวกท่านจะขอเปลี่ยนเอาสิ่งที่ต่ำกว่าแทนสิ่งที่ดีกว่ากระนั้นหรือ) แม้ว่านบีมูซาจะตักเตือนพวกเขาว่า เป็นอาหารดีที่พระเจ้าทรงมอบให้ แล้วเพราะเหตุใดจึงร้องขออาหารที่ต่ำกว่า แต่พวกเขาก็รบเร้าอยากได้ในสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามันดีกว่า
“บิชร์ บิน มุอาซ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ยะซีด บิน ซุรอยอ์ เล่าให้เราฟังจาก สะอี๊ด จาก ก่อตาดะห์ กล่าวว่า พวกท่านจะขอเปลี่ยนเอาสิ่งที่เลวด้วยกับสิ่งที่ดีกว่ามันหรือ
อัลกอเซ็ม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัลฮุเซน เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ฮัจญาจญ์ เล่าให้ฉันฟังจาก อิบนุ ญุรอยญ์ จาก มุญาฮิด กล่าวว่า หมายถึง สิ่งที่เลวสุด” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 313

ถ้อยคำที่ว่า (พวกเจ้าจงลงไปอยู่ในเมืองเถิด แล้วสำหรับพวกเจ้าก็จะพบสิ่งที่พวกเจ้าร้องขอ) คำว่า พวกเจ้าจงลงไปในอายะห์คือ คำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ที่กล่าวผ่านนบีมูซา ไม่ใช่คำพูดของท่านนบีมูซาเองที่ชี้แนะแก่พวกเขา ซึ่ง อิบนุ ญะรีร อัตฏอบะรีย์ อธิบายว่า “ท่านนบีมูซาได้กล่าวแก่พวกเขาว่า พวกท่านจะขอเปลี่ยนเอาสิ่งที่แย่กว่า,เลวกว่าด้วยสิ่งที่กว่ากระนั้นหรือ ดังนั้นท่านนบีมูซาจึงวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่าน เพื่อให้ทรงประทานสิ่งที่พวกเขาร้องขอ และอัลลอฮ์ก็ตอบรับคำวิงวอนของท่านนบีมูซา และก็ให้แก่พวกเขาตามที่พวกเขาต้องการ โดยพระองค์ได้กล่าวแก่พวกเขาว่า พวกเจ้าจงลงไปอยู่ในเมืองเถิดแล้วสำหรับพวกเจ้าก็จะพบสิ่งที่พวกเจ้าร้องขอ” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 313

คำว่า “มิศร์” ในทางภาษาหมายถึง หัวเมือง แต่เมื่อกล่าวคำนี้โดยทั่วไปก็จะเข้าใจว่า อียิปต์หรือกรุงไคโรที่เป็นเมืองหลวงของอียิปต์ในปัจจุบัน ซึ่งนักอธิบายอัลกุรอานได้ให้ความหมายทั้งสองอย่างนี้ คือบางท่านกล่าวว่า อัลลอฮ์ใช้ให้พวกเขาย้อนลงไปที่หัวเมือง และบางท่านก็กล่าวว่า อัลลอฮ์ใช้ให้พวกเขาย้อนกลับไปที่อียิปต์ เช่น

อิบนุ ญะรีร ได้กล่าวว่า “อัลมุซันนา เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อาดัม เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อบูญะอ์ฟัร เล่าให้เราฟังจาก ก่อตาดะห์ กล่าวว่า หมายถึงหัวเมืองหนึ่งจากบรรดาหัวเมืองทั้งหลาย
อัลกอเซ็ม บิน อัลฮะซัน เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัลฮุซัยน์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ฮัจญาจญ์ เล่าให้ฉันฟังจาก อิบนุ ญูรอยจญ์ จาก มุญาฮิด กล่าวว่า หมายถึงหัวเมืองหนึ่งจากหัวเมืองทั้งหลาย โดยพวกเขาไม่ได้ย้อนกลับไปที่อียิปต์
อัลมุซันนา เล่าให้ฉันฟังว่า อาดัม เล่าให้เราฟังว่า อบูญะอ์ฟัร เล่าให้เราฟังจาก อัรรอเบียะอ์ จาก อบี อัลอาลียะห์ กล่าวว่า หมายถึงอียิปต์ดินแดนแห่งฟิรเอาน์
ถูกเล่าให้ฉันฟังจาก อัมมาร บิน อัลฮุซัยน์ จาก อิบนุ อบีญะอ์ฟัร จากพ่อของเขา จาก อัรรอเบียะอ์ กล่าวว่า คืออียปต์เช่นเดียวกัน” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 313-314
แต่อิบนุ ญะรีร ได้สรุปในตอนท้ายว่า คำอธิบายที่ดีที่สุดตามความเข้าใจของท่านคือ หัวเมืองต่างๆ

ถ้อยคำที่ว่า (และความตกต่ำและความขัดสนก็ถูกกระหน่ำลงบนพวกเขา และพวกเขาต้องกลับคืนไปด้วยความโกรธกริ้วจากอัลลอฮ์) คือ พวกเขาต้องเผชิญกับความต่ำต้อย,ความอดสู,และแร้นแค้น ซึ่งนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ความต่ำต้อยที่พวกเขาได้รับคือ การที่พวกเขาต้องจ่ายภาษีหัวให้กับรัฐอิสลาม และอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม แต่การอธิบายเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะการจ่ายภาษีหัวและอยู่ภายใต้รัฐอิสลามนั้นเกิดขึ้นในยุคของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แต่ในอายะห์นี้ได้กล่าวถึงบนีอิสรออีลในยุคของท่านนบีมูซา อลัยฮิสสลาม วัลลอฮุอะอ์ลัม

ถ้อยคำที่ว่า (ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธโองการต่างๆของอัลลอฮ์ และพวกเขาสังหารบรรดานบีโดยไม่เป็นธรรม) ข้อความนี้ชี้ถึงมูลเหตุที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงโกรธกริ้วพวกเขา เนื่องจากพวกเขาได้ปฏิเสธโองการต่างๆของอัลลอฮ์ที่เป็นสัจธรรม หรือปฏิเสธความจริงที่มาจากพระเจ้าด้วยความหยิ่งยโสโอหัง และสังหารนบีที่ถูกส่งมาประกาศสัจธรรมโดยไม่เป็นธรรม ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

اَلْكِبْرُ بَطَرُ الْحَقِّ وَغَمْطُ النَّاسِ

“ความยโสโอหังนั้นคือการปฏิเสธความจริงและการดูแคลนผู้คน” ศอเฮียะห์ มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 131


أَشَدُّ النَّاسِ عَذَاباً يَوْمَ الْقِيَامَةِ رَجُلٌ قَتَلَهُ نَبِيٌّ أَوْ قَتَلَ نَبِيّاً وَإمَامُ ضَلاَلَةٍ وَمُمَثِّلُ مِنَ الْمُمَثِّلِيْنَ


“มนุษย์ที่โดนลงโทษรุนแรงที่สุดในวันกิยามะห์คือผู้ที่ บนีได้สังหารเขา หรือเขาได้สังหารนบี, ผู้นำที่หลงผิด และผู้เป็นต้นแบบให้คนอื่นเอาอย่างในทางที่ผิด” มุสนัด อิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 3674

ถ้อยคำที่ว่า (ดังกล่าวนี้คือสิ่งที่พวกเขาฝ่าฝืน และพวกเขาได้ละเมิด) ท่านอิบนิ กะษีร ได้อธิบายความคำว่า “ฝ่าฝืน” คือการทำในสิ่งที่ถูกห้าม ส่วนคำว่า “ละเมิด” คือการทำเลยขอบเขตที่อนุมัติหรือเลยขอบเขตที่พวกเขาถูกใช้ให้กระทำ” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 147