ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 78


وَمِنْهُمْ أُمِّيُّوْنَ لاَ يَعْلَمُوْنَ الْكِتَابَ إلاَّ أمَانِيَّ وَإنْ هُمْ إلاَّ يَظُنُّوْنَ


และส่วนหนึ่งในหมู่พวกเขานั้นเป็นผู้อ่านเขียนไม่เป็น พวกเขาไม่รู้คัมภีร์ นอกจากความเพ้อฝัน และพวกเขาไม่มีอะไรเลย นอกจากการคาดเดา



พระองค์อัลลอฮ์ทรงตีแผ่ให้ทราบว่า มีชาวยะฮูดกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เคยอ่านและไม่รู้เรื่องราวที่มีอยู่ในคัมภีร์อัตเตารอตที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่นบีมูซา แต่พวกเขาก็พูดถึงเรื่องราวที่มีอยู่ในคัมภีร์โดยที่พวกเขาก็ไม่เคยอ่านมัน พวกเขาจึงอยู่บนการสันนิฐานและคาดการณ์ ด้วยความหวังลมๆแล้งๆ

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (และส่วนหนึ่งในหมู่พวกเขานั้นเป็นผู้อ่านเขียนไม่เป็น) หมายถึง ส่วนหนึ่งของชาวยะฮูด เป็นผู้อ่านเขียนไม่เป็น ดังที่ อิบนุ ญะรีร ได้ชี้แจงไว้ว่า

“อัลมุซันนา เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อาดัม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อบู ญะอ์ฟัร เล่าให้เราฟังจาก อัรรอเบียะอ์ จาก อบี อัลอาลียะห์ ในถ้อยคำที่ว่า (และส่วนหนึ่งในหมู่พวกเขานั้นเป็นผู้อ่านเขียนไม่เป็น) เขากล่าวว่า หมายถึงชาวยะฮูด
อัลกอเซ็ม เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัลฮุซัยน์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ฮัจญาจญ์ เล่าให้ฉันฟัง จาก อิบนุ ญุรอยจญ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า (และส่วนหนึ่งในหมู่พวกเขานั้นเป็นผู้อ่านเขียนไม่เป็น) เขากล่าวว่า หมายถึง คนกลุ่มหนึ่งจากชาวยะฮูด” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 373

“คำว่า أُمِّيُّوْنَ เป็นคำพหูพจน์ จากคำว่า أُمِّي ซึ่ง อบู อัลอาลียะห์, อัรรอเบียะอ์, ก่อตาดะห์ และ อิบรอฮีม อัลนัคอีย์ ได้ให้ความหมายว่า คนที่อ่านเขียนไม่เป็น ซึ่งตามรูปประโยคของถ้อยคำที่ว่า (พวกเขาไม่รู้คัมภีร์) คือหมายถึง พวกเขาไม่รู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 167

“อบู ญะอ์ฟัร กล่าวว่า ความหมายของคำว่า أُمِّيُّوْنَ คือบรรดาผู้ซึ่งไม่สามารถเขียนอ่านได้ และส่วนหนึ่งจากคำพูดของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

إنَّا أُمَّةٌ أُمِّيَّةٌ لاَ نَكْتُبُ وَلاَ نَحْسُبُ الشَّهْرُ هَكَذَا وَهَكَذَا وَهَكَذَا

“พวกเราเป็นประชาชาติที่ไม่อ่านและไม่คำนวณ เดือนนั้นคือ อย่างนี้ อย่างนี้ และอย่างนี้” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 1780


คือคนส่วนใหญ่ในยุคนั้นเป็นผู้ที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น แต่ก็ยังมีผู้ที่อ่านออกและเขียนได้อยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก เช่นศอฮาบะห์ของนบีบางท่านที่สามารถอ่านและเขียนได้ และทำหน้าที่บันทึกอัลกุรอาน เช่น อับดุลลอฮ์ อิบนิ อัมร์ เป็นต้น หรือในเหตุการณ์ที่ “อบีชาฮ์ ซึ่งเป็นชาวยะมัน ได้ร้องทุกข์ต่อท่านนบีว่า ได้โปรดเขียนให้ฉันด้วย ท่านนบีจึงสั่งให้เหล่าศอฮาบะห์ที่อ่านออกเขียนได้ช่วยบันทึกให้ อบีชาฮ์” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 2254

ท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ก็เป็นบุคคลที่เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่า “อุมมีย์” เนื่องจากท่านไม่เคยอ่านเขียน ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

وَمَاكُنْتَ تَتْلُو مِنْ قَبْلِهِ مِنْ كِتَابٍ وَلاَ تَخُطُّهُ بِيَمِيْنِكَ إذاً لأرْتَابَ الْمُبْطِلُوْنَ


“และจ้าไม่เคยอ่านคัมภีร์ใดๆ ก่อนหน้านั้น และเจ้าก็ไม่เขียนมันด้วยมือขวาของเจ้า มิเช่นนั้นแล้วบรรดาผู้กล่าวเท็จก็จะต้องสงสัยอย่างแน่นอน” ซูเราะห์ อัลอังกะบูต อายะห์ที่ 48

هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِى أُمِّيِّيْنَ رَسُوْلاً مِنْهُمْ

“พระองค์คือผู้ทรงแต่งตั้งรอซูลในหมู่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นจากพวกเขา” ซูเราะห์ อัลญุมุอะห์ อายะห์ที่ 2


ฉะนั้นความหมายของคำว่า أُمِّي และ أُمِّيُّوْنَ หรือ أُمِّيِّيْنَ จึงหมายถึงบุคคลที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น ซึ่งในอายะห์นี้นั้นได้กล่าวเจาะจงเฉพาะบรรดาชาวยะฮูดส่วนหนึ่งที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น

อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “มีนักวิชาการบางท่านได้อธิบายความหมายของคำนี้แตกต่างไปจากที่กล่าวมา คือเรื่องราวที่ อบู กุรัยบ์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อุสมาน บิน สะอี๊ด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า จาก บิชร์ บิน อิมาเราะห์ จาก อบีวัรก์ จาก อัตเฏาะฮ์ฮาก จาก อิบนิ อับบาส ในถ้อยคำที่ว่า (และส่วนหนึ่งในหมู่พวกเขานั้นเป็นผู้อ่านเขียนไม่เป็น) เขากล่าวว่า أُمِّيُّوْنَ คือกลุ่มคนที่ไม่เชื่อต่อท่านรอซูลที่พระองค์อัลลอฮ์ส่งมา และไม่เชื่อคัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานมา โดยพวกเขาเขียนคัมภีร์ขึ้นใหม่ด้วยมือของพวกเขา แล้วพวกเขาก็กล่าวแก่กลุ่มชนที่โฉดเขลาว่า (นี่คือสิ่งที่มาจากอัลลอฮ์) เขากล่าวว่า อัลลอฮ์ได้ทรงบอกว่าพวกเขาเขียนคัมภีร์ขึ้นด้วยมือของพวกเขา ซึ่งพวกเขาถูกเรียกว่า أُمِّيُّوْنَ เนื่องการขัดขวางของพวกเขาต่อคัมภีร์ของอัลลอฮ์และรอซูล ของพระองค์

การอธิบายเช่นนี้เป็นการอธิบายที่แตกต่างจากคำของอาหรับที่รับรู้กันโดยทั่วไป เพราะคำว่า أُمِّي สำหรับชาวอาหรับนั้นคือคนที่อ่านเขียนไม่ได้” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 374

ถ้อยคำที่ว่า (พวกเขาไม่รู้คัมภีร์) หมายถึง ไม่รู้เรื่องราวที่ถูกระบุอยู่ในคัมภีร์ว่าเป็นเช่นใดและมีอะไรบ้าง ซึ่ง ก่อตาดะห์ กล่าวว่า พวกเขาเปรียบดังเดรัจฉานที่ไม่รู้อะไรเลย พวกเขาไม่รู้จักคัมภีร์ และไม่รู้ว่ามีสิ่งใดอยู่ในคัมภีร์ ซึ่ง อบู อัลอาลียะห์ ก็กล่าวไว้ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน

รายงานจาก อิกริมะห์ จาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส ในถ้อยคำที่ว่า (พวกเขาไม่รู้คัมภีร์) เขากล่าวว่า หมายถึงไม่รู้เรื่องราวที่มีอยู่ในคัมภีร์
มุญาฮิด กล่าวว่า แท้จริงบรรดาผู้ไม่รู้จักการอ่านเขียนตามที่พระองค์อัลลอฮ์ได้แจ้งลักษณะในอายะห์นี้ คือผู้ที่พวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่นบีมูซาแต่อย่างใด

ถ้อยคำที่ว่า (นอกจากความเพ้อฝัน)

อิบนุ อบี ฏอลฮะห์ กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส หมายถึง เรื่องที่เล่าขานกันโดยเป็นความจริง
อัตเฏาะฮ์ฮาก กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า นอกจากถ้อยคำที่พวกเขากล่าวกันด้วยปากของพวกเขาที่มันเป็นเรื่องโกหก และมุญาฮิด ก็กล่าวไว้อย่างนี้เช่นเดียวกัน
อบู อัลอาลียะห์, อัรรอเบียะอ์ และ ก่อตาดะห์ กล่าวว่า หมายถึงพวกเขาหวังต่ออัลลอฮ์อย่างลมๆแล้ง

ถ้อยคำที่ว่า (และพวกเขาไม่มีอะไรเลย นอกจากการคาดเดา) คือคิดเอาเองในเรื่องของคัมภีร์ว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นหรือเช่นนี้

“มูฮัมหมัด บิน อิสฮาก กล่าวว่า มูฮัมหมัด อิบนุ อบี มูฮัมหมัด เล่าให้ฉันฟังจาก อิกริมะห์หรือจาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส ในถ้อยคำที่ว่า (พวกเขาไม่รู้คัมภีร์ นอกจากความเพ้อฝัน และพวกเขาไม่มีอะไรเลย นอกจากการคาดเดา) หมายถึง พวกเขาไม่รู้เรื่องใดๆที่มีอยู่ในคัมภีร์ และพวกเขาขัดขวางการเป็นนบีของเจ้าด้วยการคาดเดา
มุญาฮิด กล่าวว่า (และพวกเขาไม่มีอะไรเลย นอกจากการคาดเดา) หมายถึง นอกจากความมดเท็จ
ก่อตาดะห์, อบู อัลอาลียะห์ และ อัรรอเบียะอ์ กล่าวว่า หมายถึง พวกเขาคาดเดาในเรื่องของอัลลอฮ์โดยไม่เป็นความจริง” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 167-168