ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 87


وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوْسَى الْكِتَابَ وَقَفَّيْنَا مِنْ بَعْدِهِ بِالرُّسُلِ وَآتَيْنَا عَيْسَى ابْنَ مَرْيَمَ الْبَيِّنَاتِ وَأَيَّدْنَاهُ بِرُوْحِ الْقُدُسِ أَفَكُلَّمَا جَاءَكُمْ رَسُوْلٌ بِمَا لاَ تَهْوَى أنْفُسُكُمُ اسْتَكْبَرْتُمْ فَفَرِيْقاً كَذَّبْتُمْ وَفَرِيْقاً تَقْتُلُوْنَ


และแน่นอน เราได้ให้คัมภีร์แก่มูซา และเราได้ให้บรรดารอซูลติดตามมาหลังจากเขา และเราได้ให้หลักฐานต่างๆอันชัดเจนแก่อีซา บุตรของ มัรยัม และเราได้สนับสนุนเขาด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์ แล้วเมื่อใดก็ตามที่รอซูลคนใดนำสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ของพวกเจ้ามายังพวกเจ้า พวกเจ้าก็แสดงความหยิ่งยโสกระนั้นหรือ แล้วพวกเจ้าก็ปฏิเสธกลุ่มหนึ่ง แล้วอีกกลุ่มหนึ่งพวกเจ้าก็จะสังหาร



พระองค์อัลลอฮ์ทรงแต่งตั้งนบีมูซา อลัยฮิสสลาม เป็นผู้ประกาศอิสลามแก่กลุ่มชนชาวยะฮูด ขอย้ำว่า นบีมูซา ประกาศอิสลามแก่กลุ่มชนชาวยะฮูด มิใช่ประกาศศาสนายิว และพระองค์ได้ทรงประทานคัมภีร์อัตเตารอตให้แก่นบีท่าน
และพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งบรรดานบีอีกหลายท่านต่อจากนบีมูซา ซึ่งทั้งหมดต่างเป็น บนีอิสรออีล หรือลูกหลานของนยียะอ์กู๊บทั้งสิ้น จนกระทั่งมาถึงท่านนบี อีซา อลัยฮิสสลาม ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกาศอิสลามแก่ชนชาวนะศอรอ ขอย้ำอีกครั้งว่า นบีอีซาประกาศอิสลาม มิใช่ประกาศศาสนาคริสต์ และได้ทรงประทานคัมภีร์อินญีลให้แก่ท่าน
ทั้งนบีมูซาและนบีอีซา ต่างเรียกร้องไปสู่หลักความเชื่อเดียวกัน คือการศรัทธาและสักการะต่อพระองค์อัลลอฮ์เพียงองค์เดียว ซึ่งได้อธิบายผ่านมาแล้วในซูเราะห์นี้ อายะห์ที่ 40 และ 47

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (และเราได้ให้บรรดารอซูลติดตามมาหลังจากเขา) คำว่าบรรดารอซูลนั้นแปลความหมายจากคำว่า رُسُل ซึ่งเป็นคำพหูพจน์มาจากคำว่า رسول ที่หมายถึงรอซูลคนหนึ่ง ในบรรดารอซูลที่มาต่อจากนบีมูซานี้ เราทราบชื่อและเรื่องราวของพวกเขาตามที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงนำมากล่าวให้ฟังเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นเราไม่สามารถสันนิฐานเอาเองว่า น่าจะเป็นคนนั้นหรือคนนี้ที่เป็นนบีและรอซูลของอัลลอฮ์ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

وَلَقَدْ أرْسَلْنَا رُسُلاً مِنْ قَبْلِكَ مِنْهُمْ مَنْ قَصَصْنَا عَلَيْكَ وَمِنْهُمْ مَنْ لَمْ يَقْصُصْ عَلَيْكَ


และแน่นอน เราได้ส่งบรรดารอซูลมาก่อนหน้าเจ้า ส่วนหนึ่งในหมูพวกเขานั้นเราได้เล่าให้แก่เจ้า และอีกส่วนหนึ่งในหมู่พวกเขา เรามิได้เล่าให้แก่เจ้า” ซูเราะห์ ฆอฟิร อายะห์ที่ 78

อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “เราได้ให้บรรดารอซูลติดตามมาอย่างต่อเนื่องบนแนวทางและบทบัญญัติเดียวกัน เนื่องจากบรรดาผู้ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงแต่งตั้งให้เป็นนบีต่อจากนบีมูซา จนถึงยุคของนบีอีซานั้น อันที่จริงแล้วก็เพื่อกำชับใช้บนีอิสรออีลให้ยึดถืออัตเตารอต และปฏิบัติตามสิ่งที่มีอยู่ในอัตเตารอต ด้วยเหตุนี้ จึงมีบางท่านกล่าวว่า (และเราได้ให้บรรดารอซูลติดตามมาหลังจากเขา) คือ บนแนวทางและบทบัญญัติที่มูซามาเรียกร้องและการปฏิบัติตามสิ่งที่มูซาได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 403

อิบนุ กะษีร กล่าวว่า (และเราได้ให้บรรดารอซูลติดตามมาหลังจากเขา) “อัสซุดดีย์ กล่าวว่า จาก อบีมาลิก กล่าวว่า คือ เราได้ให้ติดตามมา และคนอื่นกล่าวว่า คือ เราได้ให้ตามหลังเขามา ซึ่งทั้งหมดนี้มีความหมายใกล้เคียงกัน ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ ได้ทรงกล่าวว่า

ثُمَّ أرْسَلْنَا رُسُلَنَا تَتْراً

“แล้วเราได้ส่งบรรดารอซูลมาอย่างต่อเนื่อง” ซูเราะห์ อัลมุอ์มีนูน อายะห์ที่ 44


จนกระทั่งถึงนบีท่านสุดท้ายของบนีอิสรออีล คือ อีซา บุตรของ มัรยัม โดยนำบทบัญญัติบางประการที่แตกต่างจากอัตเตารอตมา” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 175

ถ้อยคำที่ว่า (และเราได้ให้หลักฐานต่างๆอันชัดเจนแก่อีซา บุตรของ มัรยัม) คือ ทรงประทานมัวอ์ญีซาตให้แก่นบีอีซา หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่มนุษย์โดยทั่วไปไม่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้เพื่อยืนยันในการเป็นนบี

อิบนุ ญะรีร ได้อ้างคำรายงานว่า “อิบนุ ฮุมัยด์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ซะละมะห์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า มูฮัมหมัด บิน อิสฮาก เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า มูฮัมหมัด บิน อบี มูฮัมหมัด เล่าให้เราฟังจาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ หรือจาก อิกริมะห์ จาก อิบนิ อับบาส ในถ้อยคำที่ว่า (และเราได้ให้หลักฐานต่างๆอันชัดเจนแก่อีซา บุตรของ มัรยัม) คือสัญญาณต่างๆที่ให้เกิดขึ้นแก่นบีอีซา เช่น การทำให้คนตายฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง, การเอาดินมาปั้นเป็นรูปนกโดยเป่าที่มัน แล้วมันก็บินได้ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ หรือ รักษาผู้เจ็บป่วยให้หายจากการอาการป่วยไข้ และเรื่องที่เร้นลับอีกมากมายที่เกิดขึ้นในแก่พวกเขา” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 403

ถ้อยคำที่ว่า (และเราได้สนับสนุนเขาด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์) นอกจากพระองค์อัลลอฮ์จะทรงประทานมัวอ์ญีซาตให้แก่นบีอีซาแล้ว พระองค์ยังให้การสนับสนุนแก่ท่านด้วยการให้ญิบรีลคอยให้ความช่วยเหลือ

คำว่า “วิญญาณอันบริสุทธิ์” ในที่นี้ อิบนุ ญะรีร ได้อ้างสายรายงานที่สืบถึง ก่อตาดะห์, อัสซุดดีย์, อัตเฏาะฮ์ฮาก และ อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส ว่า คือ ญิบรีล
อิบนุ ฮุมัยด์ กล่าวว่า ซะละมะห์ บิน อิสฮาก เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อับดุลลอฮ์ บิน อับดิรเราะห์มาน บิน อบีลฮะซัน อัลมักกีย์ เล่าให้ฉันฟังจาก ซะฮร์ บิน เฮาซับ อัลอัชอารีย์ ว่า มีชาวยะฮูดกลุ่มหนึ่งได้ถามท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม โดยกล่าวว่า โปรดบอกกับเราถึงเรื่องราวของวิญญาณ ท่านตอบว่า ฉันขอสาบานกับพวกท่านด้วยอัลลอฮ์ ในช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่บนีอิสรออีลนั้น พวกท่านรู้ไหมว่า เขาคือ ญิบรีล และเขาก็มาหาฉัน พวกเขาตอบว่า ใช่
ขณะเดียวกัน ก็มีบางท่านอธิบายว่า “ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์” ในที่นี้คือ คัมภีร์อินญีล ดังที่ ยูนุส เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อิบนุวะฮ์บิน ได้บอกกับเราโดยกล่าวว่า อิบนุซัยด์ กล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงสนับสนุนอีซาด้วย อินญีล ซึ่งดวงวิญญาณดังเช่นที่พระองค์ทรงทำให้อัลกุรอานเป็นดวงวิญญาณ และทั้งสองนี้ก็คือ ดวงวิญญาณแห่งอัลลอฮ์ ดังที่พระองค์ได้ทรงกล่าวว่า

وَكَذَلِكَ أوْحَبْنَا إلَيْكَ رُوْحاً مِنْ أمْرِنَا

“และเช่นเดียวกัน เราได้วะฮีย์ “รูฮัน” (คืออัลกุรอาน) ให้แก่เจ้าตามบัญชาของเรา” ซูเราะห์ อัชชูรอ อายะห์ที่ 52


แต่ก็ยังมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์” ในที่นี้คือ ชื่อของผู้ตายที่นบีอีซาทำให้เขาฟื้นขึ้นมา
แต่คำอธิบายที่ถูกต้องและชัดเชนที่สุดคือ ผู้ที่กล่าวว่า ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์” ในที่นี้คือ ญิบรีล เนื่องจากพระองค์อัลลอฮ์ทรงแจ้งว่า ให้เขาคอยช่วยเหลืออีซา ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงบอกว่า

إذْ قَالَ اللهُ يَا عِيْسَى ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتِي عِلِيْكَ وَعَلَى وَالِدَيِكَ إذْ أَيَّدْتُكَ بِرُوْحِ الْقُدُسِ تُكَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَكَهْلاً وَإذْ عَلَمْتُكَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَالتَّوْرَاةَ وَالإنْجِيْلَ

“และจงทบทวน ขณะที่อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า โอ้อีซา บุตรของ มัรยัม เอ๋ย จงรำลึกถึงความเมตตาของข้าที่มีต่อเจ้าและมารดาของเจ้า ขณะที่ข้าได้สนับสนุนเจ้าด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์ โดยเจ้าพูดกับบรรดาผู้คนตั้งแต่อยู่ในเปล และตอนเป็นผู้ใหญ่ และขณะที่ข้าได้สอนคัมภีร์และความเข้าใจในคัมภีร์ให้แก่เจ้า อันได้แก่อัตเตารอตและอัลอินญีล” ซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 110

อิบนุ ญะรีร กล่าวต่อไปว่า ถ้าดวงวิญญาณที่อัลลอฮ์ส่งมาให้การสนับสนุนแก่อีซาจะหมายถึง อินญีล ละก็ ถ้าเช่นนั้นก็จะเป็นการกล่าวย้ำข้อความโดยไม่มีผลใดๆ เลย คือถ้อยคำที่อยู่ในอายะห์เดียวกันนี้ว่า สนับสนุนเจ้าด้วยอินญีล และคำว่า สอนอินญีลให้แก่เจ้า ซึ่งการย้ำข้อความเช่นนี้มิได้มีผลทำให้ความหมายเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และอัลลอฮ์ก็จะไม่กล่าวสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บ่าวของพระองค์” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 405

ถ้อยคำที่ว่า (แล้วเมื่อใดก็ตามที่รอซูลคนใดนำสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ของพวกเจ้ามายังพวกเจ้า พวกเจ้าก็แสดงความหยิ่งยโสกระนั้นหรือ) ซึ่งก่อนหน้านี้พระองค์อัลลอฮ์ทรงแฉพฤติกรรมของเหล่ายะฮูดที่พวกเขาศรัทธาต่อคัมภีร์บางส่วนและก็ปฏิเสธอีกบางส่วน ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาได้ยึดเอาอารมณ์ของพวกเขาเป็นที่ตั้ง และในอายะห์นี้ก็เช่นเดียวกัน พระองค์อัลลอฮ์ทรงย้ำให้เห็นถึงพฤติกรรมของบนีอิสรออีล และทรงประณามพวกเขาว่า เมื่อใดก็ตามที่รอซูลของอัลลอฮ์ นำเอาสัจธรรมมาบอกกล่าวแก่พวกเขา ถ้าหากไม่สบอารมณ์หรือไม่เป็นไปอย่างที่พวกเขาต้องการ พวกเขาก็จะแสดงความหยิ่งยโส คือไม่ใส่ใจที่จะรับฟัง, แสดงการอาการกระด้างกระเดื่อง และปฏิเสธ

ถ้อยคำที่ว่า (แล้วพวกเจ้าก็ปฏิเสธกลุ่มหนึ่ง แล้วอีกกลุ่มหนึ่งพวกเจ้าก็จะสังหาร) หมายถึง พวกเขาปฏิเสธกลุ่มหนึ่งของบรรดารอซูลที่อัลลอฮ์ทรงส่งมา คือยอมรับรอซูลบางท่านและปฏิเสธบางท่าน ดังเช่นพฤติกรรมของยะฮูดที่ยอมรับนบีมูซาแต่ไม่ยอมรับนบีอีซา และนบีมูฮัมหมัด ขณะเดียวกัน พวกนะศอรอ ยอมรับนบีอีซา แต่ไม่ยอมรับนบีมูซา และนบีมูฮัมหมัด เป็นต้น

ส่วนคำว่า “แล้วอีกกลุ่มหนึ่งพวกเจ้าก็จะสังหาร” ซึ่งข้อความนี้อาจจะมีบางท่านเข้าใจว่า บนีอิสรออีลได้สังหารรอซูลของอัลลอฮ์ไปแล้วบางท่าน เช่น นบีซะกะรียา เป็นต้น แต่ อิบนุ กะษีร กล่าวว่า
“พระองค์อัลลอฮ์มิได้ทรงกล่าวว่า وَفَرِيْقاً قَتَلْتُمْ (ซึ่งมีความหมายว่า “และกลุ่มหนึ่งพวกเจ้าไปสังหารไปแล้ว” แต่พระองค์ทรงใช้คำว่า وَفَرِيْقاً تَقْتُلُوْنَ ซึ่งมีความหมายว่า “และอีกกลุ่มหนึ่งพวกเจ้าก็จะสังหาร”) เนื่องจากพระองค์อัลลอฮ์ต้องการที่จะแจ้งพฤติกรรมของพวกเขาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากพวกเขามีความพยายามที่จะสังหารท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ด้วยการวางยาพิษและคาถาอาคม ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวไว้ในตอนที่ท่านเจ็บใกล้เสียชีวิตว่า

مَازَالَت أكْلَةُ خَيْبَر تَعَاوَدَنِي فَهَذاَ أَوَانُ انْقِطَاعِ أبْهَرِي

“อาหารที่ฉันกินในวันคอยบัรมันสำแดงแก่ฉันแล้ว ตอนนี้ฉันรู้สึกเหมือนกับเส้นเลือดใหญ่กำลังถูกตัดขาด” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 176


ฮะดีษข้างต้นนี้ รายงานโดยท่านหญิง อาอิชะห์ (รอดิยัลลอฮ์อันฮา) บันทึกใน ศอเฮียะห์ บุคอรี, สุนัน อบีดาวู๊ด, มุสนัด อิหม่ามอะห์หมัด และบันทึกอื่นๆ วัลลอฮุอะอ์ลัม